เมินประชุม G20 กลยุทธ์‘สี จิ้นผิง’ จากรัฐบุรุษสู่‘จักรพรรดิจีน’

เมินประชุม G20 กลยุทธ์‘สี จิ้นผิง’  จากรัฐบุรุษสู่‘จักรพรรดิจีน’

ข่าวใหญ่ของโลกเมื่อวันจันทร์ (4 ก.ย.) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจะไม่เข้าร่วมประชุมผู้นำ G20 ที่กรุงนิวเดลีของอินเดียในสัปดาห์นี้ ทั้งๆ ที่ตอนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 3 เขาเคยสร้างภาพตนเองให้เป็นรัฐบุรุษของโลก จึงชวนให้ติดตามว่าอะไรเป็นเหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจนี้

Key Points:

  • ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ไม่ร่วมประชุมผู้นำG20 สุดสัปดาห์นี้ที่นิวเดลี อินเดีย
  • สี เคยเป็นร่วมประชุมผู้นำ G20 ทุกครั้งนับตั้งแต่ขึ้นสู่อำนาจในปี 2555
  • นักวิเคราะห์มอง สี กำลังเปลี่ยนแนวทางจากการเป็นรัฐบุรุษของโลก มาใช้มายด์เซ็ตแบบ “จักรพรรดิจีน” ปลาบปลื้มกับการให้แขกผู้มีเกียรติมาเยือนในกรุงปักกิ่ง มากกว่าเดินทางไปต่างประเทศ

 

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน อาจเป็นไปได้ว่าเพราะความขัดแย้งทางการทูตทำให้สีจิ้นผิงไม่ไปประชุม หรือเพราะอยากเสริมความโดดเด่นให้กับเวทีบริกส์ที่เพิ่งขยายสมาชิก หรือบางทีสีอาจอยากอยู่ในประเทศเพื่อจัดการปัญหาเศรษฐกิจจีนก็ได้ เมื่อบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่สุดแห่งหนึ่งของจีนเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้เต็มที

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ การไม่มาร่วมประชุม G20 แสดงให้เห็นว่าสีกำลังเปลี่ยนแนวทางครั้งใหญ่ เขาเคยร่วมประชุมผู้นำ G20 ทุกปีนับตั้งแต่ขึ้นสู่อำนาจในปี 2555  พร้อมกันนั้นสีพยายามสร้างภาพลักษณ์ตนเองเป็นผู้สร้างสันติภาพในการประชุม G20 ที่บาหลี อินโดนีเซียปีก่อน หลังจีนโดดเดี่ยวตนเองนานสามปีเพราะโควิด-19 ระบาด ตอนนั้นสีย้ำถึงความสำคัญของการเจรจา บอกกับประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐว่า “เป็นความรับผิดชอบของรัฐบุรุษที่ต้องเข้ากับประเทศอื่นให้ได้”

ตอนนี้ดูเหมือนสีกำลังใช้วิธีการที่แตกต่าง เลี่ยงไปงานที่เขาอาจเจอคำถามยากเกี่ยวกับอนาคตเศรษฐกิจจีน ความก้าวร้าวทางทหารของรัฐบาลปักกิ่งต่อไต้หวัน และการที่สีสนับสนุนรัสเซียหลังรุกรานยูเครน

ความเคลื่อนไหวนี้ยิ่งเพิ่มความกังวลให้กับนักลงทุนว่า จีนกำลังคาดการณ์ไม่ได้มากขึ้นทุกที จินา ไรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เผยเมื่อสัปดาห์ก่อน ธุรกิจจีนโอดครวญว่าการเปลี่ยนนโยบายกลับไปกลับมาทำให้จีนแทบ “ไม่สามารถลงทุนได้”

การไม่ร่วม G20 ของผู้นำจีนเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับการไปร่วมประชุมผู้นำบริกส์ที่แอฟริกาใต้เมื่อเร็วๆ นี้ ที่อินเดียเป็นสมาชิกด้วย การหักหน้านายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ในช่วงเวลาสำคัญย่อมจำกัดสมรรถนะของ G20 ว่าเป็นปากเสียงที่มีเอกภาพ หรือทำหน้าที่เป็นกลุ่มทางเลือกที่น่าเชื่อถือแทนที่กลุ่มที่มีสหรัฐเป็นแกนนำ

งานใหญ่บนเวทีโลกงานต่อไปของสีคือการประชุมสายแถบและเส้นทาง (the Belt and Road Forum) ที่กรุงปักกิ่งในเดือน ต.ค. ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียที่ไม่ร่วมประชุม G20 เหมือนกัน ยืนยันแล้วว่าจะมาประชุมที่จีน

อัลเฟรด อู๋ นักวิชาการจากวิทยาลัยนโยบายสาธารณะลี กวนยู มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ มองว่า ตอนนี้สีอยู่ใน “วิธีคิดแบบจักรพรรดิ” คาดหวังให้แขกผู้มีเกียรติมาหา ซึ่งตั้งแต่จีนยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด ผู้นำเยอรมนี ฝรั่งเศส และเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากรัฐบาลไบเดนสี่รายต่างมาเยือนกรุงปักกิ่ง

“สีเบิกบานกับสถานะอันสูงส่งยิ่งเมื่อได้รับแขกต่างประเทศที่บ้าน เขายังได้รับการปฏิบัติสุดพิเศษที่การประชุมผู้นำบริกส์ด้วย แต่เขาไม่น่าจะได้แบบนั้นที่G20” อู๋ให้ความเห็น

เดือน พ.ย.ปีก่อน หลังการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ที่จัดขึ้นทุกๆ ห้าปี ส่งให้สีเป็นผู้นำทรงอำนาจที่สุดของจีนนับตั้งแต่เหมา เจ๋อตง เขาลงมือรณรงค์ตอกย้ำอิทธิพลรัฐบาลปักกิิ่งในเวทีโลก เด่นชัดด้วยการพบกับไบเดนที่เวที G-20 ช่วยลดความตึงเครียดระหว่างกันได้ชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไต้หวัน การควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีก้าวหน้า และประเด็นสิทธิมนุษยชนนานัปการ

 เดือน มี.ค. สีเป็นตัวกลางในข้อตกลงระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน จากนั้นเดินทางไปกรุงมอสโก แสดงจุดยืนเป็นผู้สนับสนุนทรงพลังที่สุดของปูติน ไม่นานหลังจากนั้นสีหารือกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของยูเครนครั้งแรกนับตั้งแต่รัสเซียรุกราน ตอกย้ำสถานะของเขาว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่คนบนผืนพิภพนี้ที่คุยได้ทั้งผู้นำรัสเซียและยูเครน เมินประชุม G20 กลยุทธ์‘สี จิ้นผิง’  จากรัฐบุรุษสู่‘จักรพรรดิจีน’

แต่นับจากนั้นความวุ่นวายเริ่มบังเกิด สีลดการเดินทางไปต่างประเทศลงมาก ปีนี้ออกนอกประเทศเพียงสองครั้ง เทียบกับก่อนโควิดระบาดสีเดินทางเฉลี่ยปีละ 14 ครั้ง

นักการทูตรายหนึ่งในกรุงปักกิ่งที่เคยอยู่ในกรุงนิวเดลีมาก่อน สงสัยว่าสีไม่ค่อยสนใจอยากร่วมงานที่จะไปเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้คู่แข่งที่มีปัญหาข้อพิพาทดินแดนกับจีน

การลังเลไม่ยอมรับช่วงเวลาดีๆ ของอินเดียย่อมปิดโอกาสสีที่จะได้พูดคุยตัวต่อตัวกับผู้นำG20 คนอื่นๆ อาทิ อาร์เจนตินาและซาอุดีอาระเบีย รวมถึงนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่น มหาอำนาจเอเชียอีกรายที่เพิ่งมีเรื่องกันกรณีรัฐบาลโตเกียวปล่อยน้ำบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ

ดรูว์ ทอมป์สัน อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐ และนักวิจัยอาวุโสจากวิทยาลัยนโยบายสาธารณะลี กวนยู ในสิงคโปร์ กล่าวว่า สีเน้นเสริมสร้างอำนาจจีนให้เติบโตยิ่งขึ้นในกลุ่มที่จีนเชื่อถือได้

“จีนพยายามครอบงำกลุ่มที่เล็กกว่า พัฒนาน้อยกว่า เช่น บริกส์ หรือองค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ ที่จีนสามารถชี้นำวาระได้”

 

พฤติกรรมคาดการณ์ไม่ได้

ไม่เพียงเท่านั้น การตัดสินใจไม่ร่วมประชุมG20ของสียังเน้นย้ำว่าจีนขาดความโปร่งใส เดือน ก.ค. เขาปลดฉิน กัง เด็กปั้นของตนเองออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยไม่มีคำอธิบายทั้งๆ ที่เพิ่งทำงานได้เพียงเจ็ดเดือน

เดือนก่อน จู่ๆ สีก็ไม่แสดงสุนทรพจน์ในเวทีประชุมธุรกิจบริกส์ตามที่มีกำหนดการไว้  ผิดกับผู้นำบริกส์คนอื่นๆ ที่ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ทุกคน แต่สำหรับจีนกลับให้ หวัง เหวินเทา รัฐมนตรีพาณิชย์ขึ้นกล่าวแทนประธานาธิบดี ด้านสื่อภาษาจีนของรัฐรายงานว่า สีเป็นผู้แสดงสุนทรพจน์

นีล โทมัส นักวิชาการด้านการเมืองจีน จากศูนย์วิเคราะห์จีน สถาบันนโยบายสังคมเอเชีย การสะดวกใจมอบหมายตัวแทนไปร่วมงานใหญ่ชี้ให้เห็นว่า การนำของสีคล้ายเหมาเข้าไปทุกที เขาเน้นภาพใหญ่มากกว่าการเมืองรายวัน แต่แนวทางนี้ย่อมมีความเสี่ยงด้วย

“ยิ่งสีเดินตามแนวทางนี้มากเท่าใด การตัดสินนโยบายยิ่งถูกตัดตอนจากความท้าทายที่พอกพูนมากขึ้น” นักวิชาการรายนี้ให้ความเห็น 

งานใหญ่ในต่างประเทศงานหน้าของประธานาธิบดีจีนน่าจะเป็นการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ที่ซานฟรานซิสโกในเดือน พ.ย. มีรายงานว่าทำเนียบขาวห้ามผู้นำฮ่องกงเข้าร่วมเพราะถูกสหรัฐคว่ำบาตร ส่วนสีจะร่วมประชุมหรือไม่ยังไม่แน่ใจ

โจเซฟ เกรกอรี มาโฮนีย์ อาจารย์รัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยอีสต์ไชน่านอร์มัลในเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า พฤติกรรมขวางกันของชาติสมาชิกในการประชุมใหญ่ๆ มีให้เห็นเป็นประจำ

“ความสัมพันธ์ทวิภาคีจีน-อินเดีย สำคัญกับที่นี่มากกว่าความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ ทำให้เกิดคำถามว่า G-20 กำลังจะสิ้นสุดวงจรชีวิตหรือไม่” มาโฮนีย์กล่าวทิ้งท้าย