ควันหลงสารทจีน 2566 ทำไม 'วัยรุ่นจีนยุคใหม่' ให้ความสำคัญ 'วันไหว้บรรพบุรุษ' เป็นพิเศษ

ควันหลงสารทจีน 2566 ทำไม 'วัยรุ่นจีนยุคใหม่' ให้ความสำคัญ 'วันไหว้บรรพบุรุษ' เป็นพิเศษ

ควันหลง "สารทจีน 2566" ทำไม "วัยรุ่นจีนยุคใหม่" ให้ความสำคัญกับ "วันไหว้บรรพบุรุษ" เป็นพิเศษ อ้ายจงจะมาวิเคราะห์ให้ได้ทราบกัน

ทุกปีเมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ถือเป็น วันสารทจีน ซึ่งปีนี้ วันสารทจีน 2566 ตรงกับวันพุธที่ 30 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของคนจีนทั้งในประเทศจีนและคนจีนโพ้นทะเล รวมถึงประเทศไทยเรามาตั้งแต่สมัยโบราณจวบจนปัจจุบัน โดยทั้งคนจีนและคนไทยเชื้อสายจีนต่างยึดถือการไหว้บรรพบุรุษ รำลึกถึงผู้วายชนม์ เป็นหนึ่งในพิธีปฏิบัติประจำวันนี้ ร่วมด้วยการเผากระดาษเงินกระดาษทอง

แต่อีกนัยหนึ่งที่เป็นตำนานบ่งชี้ถึงความสำคัญของวันสารทจีน หรือในภาษาจีนเรียกว่า เทศกาลจงหยวนเจี๋ย (中元节) ตามคติความเชื่อลัทธิเต๋า เชื่อว่าเป็นวันถือกำเนิดของ "เทพเจ้าแห่งปฐพี" โดยถือเป็นเทพเจ้าองค์กลาง ในบรรดาสามพี่น้องเทพเจ้าลัทธิเต๋า อันประกอบไปด้วย

  • เทพเจ้าองค์โต - เทพเจ้าแห่งฟ้า ถือกำเนิดวันที่ 15 ค่ำ เดือน 1 วันซ่างหยวนเจี๋ย (上元节) หรือที่เราอาจเคยได้ยินในชื่อ หยวนเซียวเจี๋ย (元宵节) เทศกาลโคมไฟของจีน สัญลักษณ์ของการสิ้นสุดเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน หรือปีใหม่ของจีน
  • เทพเจ้าองค์กลาง - เทพเจ้าแห่งปฐพี วันสารทจีน 
  • เทพเจ้าองค์เล็ก - เทพเจ้าแห่งสายน้ำ ถือกำเนิดในวัน 15 ค่ำ เดือน 12 เรียกว่าเทศกาลเซี่ยหยวนเจี๋ย (下元节) ตรงกับวันลอยกระทงของไทยเรานั่นเอง โดยมีความสำคัญคือ การขอขมาเทพเจ้าแห่งสายน้ำ หรือถ้าเป็นฝั่งไทยเป็นการขอขมาพระแม่คงคา

ย้อนกลับมาที่ วันสารทจีน 2566 เราได้รับทราบถึงตำนานความเชื่อของการถือกำเนิดวันนี้แล้ว แต่หลายคนคงยังสงสัยว่า แล้วทำไมถึงต้อง ไหว้บรรพบุรุษ ทำไมไม่ไหว้ขอพรเทพเจ้าปฐพีอย่างเดียว?

สาเหตุที่ไหว้บรรพบุรุษใน วันสารทจีน เป็นเพราะว่า ยังคงมีอีกหนึ่งความเชื่อ นั่นคือ วันสารทจีนเป็นวันที่ประตูเปิดให้เหล่าวิญญาณได้รับบุญรับกุศล กล่าวคือเทพเจ้าแห่งปฐพีจะอภัยโทษและอนุญาตให้วิญญาณสามารถกลับสู่โลกมนุษย์เพื่อรับบุญกุศลเป็นเวลา 1 วัน คนจีนจึงเรียกวันสารทจีนอีกแบบหนึ่งว่า เทศกาลผี หรือ 鬼节 (กุ่ยเจี๋ย) ทำให้มีคำเรียกวันนี้อีกคำว่า 鬼节 (กุ่ยเจี๋ย) เทศกาลผี 

อีกหนึ่งข้อสงสัยที่จะชี้ชัดแจ่มแจ้งในบทความนี้ คือ "ปัจจุบันปี 2566 คนจีนยังคงให้ความสำคัญกับวันสารทจีน หรือไม่?" เนื่องจากเคยรับรู้มาว่า คนจีนจำนวนไม่น้อยเริ่มไหว้บรรพบุรุษเพียงวันเดียว คือในเทศกาลเชงเม้ง (ภาษาจีนเรียก ชิงหมิงเจี๋ย) หรือไม่ก็วันตรุษจีนทีเดียวเลย เพราะครอบครัวมารวมตัวกันพร้อมหน้า

อ้ายจง ขอวิเคราะห์ประเด็นนี้ด้วย Big data analysis จากโลกออนไลน์จีน บนแพลตฟอร์ม Baidu (เครื่องมือการค้นหาออนไลน์ที่คนจีนใช้เป็นหลัก เทียบเคียงกับ Google), Weibo (เทียบเคียงได้กับ Facebook+Twitter), Xiaohongshu (เทียบเคียงได้กับ Instagram) และ Douyin (TikTok เวอร์ชันจีน) สามารถสรุปได้ ดังนี้

1. คนจีนยุคปัจจุบันยังคงรู้จักและสนใจวันสารทจีน หรือจงหยวนเจี๋ย โดยการค้นหาบน Baidu สูงเกิน 1.2 ล้านครั้งในวันเดียว คือวันที่ 30 สิงหาคม 2566 
ควันหลงสารทจีน 2566 ทำไม \'วัยรุ่นจีนยุคใหม่\' ให้ความสำคัญ \'วันไหว้บรรพบุรุษ\' เป็นพิเศษ
และยอดรวมของเว็บไซต์บนออนไลน์ (ไม่นับบนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม)  มียอดอ่านเฉพาะในวันดังกล่าวสูงถึง 40 ล้านครั้ง  

ควันหลงสารทจีน 2566 ทำไม \'วัยรุ่นจีนยุคใหม่\' ให้ความสำคัญ \'วันไหว้บรรพบุรุษ\' เป็นพิเศษ

ซึ่งเริ่มมีการอ่านเกินวันละ 1 ล้านครั้ง ตั้งแต่หนึ่งสัปดาห์ก่อน วันสารทจีน ซึ่งสอดคล้องกับหนึ่งในคำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับคำว่า วันสารทจีน ได้แก่ 中元节前三天后三天 (สามวันก่อนหน้า และสามวันหลังของวันสารทจีน) โดยคำค้นหาดังกล่าว แสดงถึงหนึ่งในความเชื่อของคนจีนบางส่วน เชื่อว่า วันสารทจีน ไม่ใช่แค่วัน 15 ค่ำ เดือน 7 แต่บางความเชื่อยึดถือวัน 14 ค่ำ เดือน 7 แทน และยังเชื่อว่า สามารถ ไหว้บรรพบุรุษ และขอพรช่วงวันสารทจีนได้ตลอดทั้งสัปดาห์ก่อนและหลังวันสารทจีน 

2. นอกเหนือจาก Baidu บนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่น ทั้ง Weibo, Xiaohongshu และ Douyin (TikTok จีน) คำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับวันสารทจีน ต่างขึ้น TOP10 คำค้นหาและแฮชแท็กประจำวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ตลอดทั้งวัน ซึ่งล้วนเป็นคำที่บ่งบอกถึงความสนใจและมุมมองของคนจีนต่อ สารทจีน อย่างเช่นคำว่า 中元节最大禁忌是什么 (ข้อต้องห้ามที่สำคัญที่สุดในวันสารทจีนคืออะไรบ้าง) โดยบน Weibo มียอดอ่านเกิน 20 ล้านครั้ง ซึ่งข้อต้องห้ามที่พูดถึงมากที่สุดคือ ช่วงเวลาที่ห้ามเดินทางออกนอกบ้าน ถึงขั้นมีคำค้นหาบน Douyin และ Xiaohongshu ที่เป็นเนื้อหาเล่าถึง ช่วงเวลาไหนห้ามออกจากบ้านในวันสารทจีนบ้าง? 

ความเชื่อเรื่องช่วงเวลาที่มีการพูดถึงมาก คือ "ห้ามออกนอกบ้านในวันนี้ ช่วงเวลา 05.00-07.00 น.,11.00-13.00 น. และ 17.00-19.00 น. โดยบางความเชื่อได้เพิ่มช่วงเวลา 21.00 จนถึงหมดวันสารทจีนอีกด้วย เพราะถือว่ากำลังใกล้ปิดประตูวิญญาณ เหล่าวิญญาณจะยิ่งมากกว่าเวลาปกติ

คนจีนแคร์เรื่องการออกจากบ้านในวันสารทจีนไม่น้อย อย่างคำว่า 中元节过了12点就没事了吗 (เข้าช่วงเวลาเที่ยงคืนของวันใหม่ ก็ถือว่าวันสารทจีนผ่านพ้นไป ก็ไม่มีปัญหาอะไรแล้วใช่ไหม ถ้าออกจากบ้าน) กลายเป็นคำค้นหาเฉพาะเจาะจงที่มีการค้นหาราว 40,000 ครั้ง บน Baidu เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของอ้ายจง คนจีนก็ยังคงออกไปใช้ชีวิตตามปกติ โดยเฉพาะไปตามศาลเจ้าหรือสถานที่ที่เผากระดาษเงินกระดาษทองเพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษ และก็ออกไปทำงานกันตามปกติเช่นกัน เนื่องจากไม่ใช่วันหยุดราชการ เว้นแต่บางคน บางครอบครัว ที่ลาหยุดเป็นพิเศษ เพื่อพาครอบครัวไปไหว้บรรพบุรุษ หรือบางคนก็ใช้โอกาสนี้พาลูกหลานไปเที่ยวหลังจากไหว้บรรพบุรุษแล้ว โดยปีนี้อ้ายจงได้ออกไปสำรวจยังสถานที่ท่องเที่ยวเมืองเหอเฝย มณฑลอันฮุย (ใกล้กับเมืองหนานจิง มณฑลเจียงซู) พบว่า สถานที่อย่างพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ที่เที่ยวได้ทั้งครอบครัว พ่อแม่ได้พาลูกหลานมาเที่ยวจำนวนมาก ทะลุหลักพันคนตั้งแต่ช่วงสองชั่วโมงแรกหลังเปิดทำการ

3. คนจีนไม่ได้มอง วันสารทจีน เป็นแค่วันไหว้บรรพบุรุษ แต่นำมาเทียบเคียงผูกโยงกับความเชื่อสมัยใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก คือ เทศกาลฮาโลวีน ทำให้วันนี้ได้รับความสนใจในหมู่วัยรุ่นมากขึ้น บางคนมีการแต่งรูปแนวผี คล้ายกับวันฮาโลวีน

4. คนจีนจำนวนมากเริ่มต้องการเข้าใจถึงที่มาที่ไปของวันสารทจีนในตัวตำนานความเชื่อจริงๆ ไม่ใช่แค่มองเป็นเทศกาลผี หรือวันไหว้บรรพบุรุษ 

ควันหลงสารทจีน 2566 ทำไม \'วัยรุ่นจีนยุคใหม่\' ให้ความสำคัญ \'วันไหว้บรรพบุรุษ\' เป็นพิเศษ

เห็นได้จากคำค้นหา 中元节不只是鬼节 (วันสารทจีนไม่ใช่แค่เทศกาลผี) ขึ้นเป็นคำค้นหายอดนิยม (热榜) บนแพลตฟอร์ม Douyin คนจีนจำนวนมากสร้างเนื้อหาคลิปวิดีโอเพื่อเล่าที่มาที่ไปสำหรับวันเทศกาลสารทจีน รวมถึงตำนานเทพเจ้าปฐพี

5. โดยสรุป "คนจีนรุ่นใหม่" ยังคงมีความเชื่อในวันสารทจีนจริงๆ และเริ่มผนวกเข้ากับวัฒนธรรมสมัยใหม่ เช่น ผูกโยงกับวันฮาโลวีนของฝั่งตะวันตก แต่ไม่ทิ้งความเชื่อดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่โบราณ โดยกลุ่มช่วงอายุที่พูดถึงวันสารทจีนบนโลกออนไลน์จีนกลุ่มใหญ่ที่สุดคือ 20-29 ปี รองลงมา 30-39 ปี ซึ่งสนับสนุนข้อสรุปที่อ้ายจงได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ควันหลงสารทจีน 2566 ทำไม \'วัยรุ่นจีนยุคใหม่\' ให้ความสำคัญ \'วันไหว้บรรพบุรุษ\' เป็นพิเศษ

ผู้เขียน : ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่