อย่ามองข้าม! ขุมพลังทางเศรษฐกิจของบริกส์ จีดีพีปี2566 แซงกลุ่มจี-7

อย่ามองข้าม! ขุมพลังทางเศรษฐกิจของบริกส์ จีดีพีปี2566 แซงกลุ่มจี-7

กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว หรือ บริกส์ รับสมาชิกใหม่ 6 ชาติ คือซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ อิหร่าน อียิปต์ เอธิโอเปีย และอาร์เจนตินา โดยสมาชิกภาพของทั้ง6ประเทศจะมีผลโดยสมบูรณ์ในวันที่ 1 ม.ค.ปี2567

key Point

*การรวมกลุ่มและเชิญประเทศต่างๆ เข้าร่วมเป็นสมาชิก สะท้อนเจตนารมณ์อยากหลุดจากวงโคจรของสหรัฐ

*ปี 2566 จีดีพีโดยรวมของกลุ่มจี-7 ขยายตัว 29.9% ส่วนกลุ่มบริกส์ ขยายตัวที่ 32.1%

*มูลค่าทางเศรษฐกิจของกลุ่มบริกส์รวมสมาชิกปัจจุบันและสมาชิกใหม่ 30.76 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 30% ของเศรษฐกิจโลก

*จับตาอินเดีย! มีแนวโน้มสร้างความแตกแยกในกลุ่ม

*นักวิเคราะห์มั่นใจกลุ่มบริกส์ไม่คุกคามเงินสกุล“ดอลลาร์”ช่วง10ปีข้างหน้า

ถือเป็นความสำเร็จของสมาชิก 5 ประเทศของบริกส์ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ที่หารือเรื่องการขยายสมาชิกมานานกว่าหนึ่งปี ซึ่งการขยายสมาชิกเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้างอิทธิพลของกลุ่ม และจัดระเบียบโลกใหม่สู่ระบบหลายขั้วอำนาจ ซึ่งจะทำให้เสียงของกลุ่มโลกใต้ ก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางวาระของโลก

บรรดานักวิเคราะห์ มองว่า การขยายสมาชิกของกลุ่มบริกส์เป็นผลพวงจากการถูกผลักดันอย่างหนักจากรัสเซียและจีน ที่เจอแรงกดดันอย่างหนักจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ก็กล่าวในที่ประชุมว่า การขยายสมาชิกครั้งนี้เป็นประวัติศาสตร์ เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของความร่วมมือของบริกส์ และเพิ่มพลังใหม่แก่กลไกความร่วมมือและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสันติภาพและการพัฒนาของโลก

ในตอนที่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2552  บริกส์มีสมาชิกแค่ 4 ประเทศ และเพิ่มเป็น 5 ประเทศเมื่อรับแอฟริกาใต้เข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่ม      

ตอนนี้บริกส์มีประชากรรวมกันเกือบ 40% ของทั้งโลก และในปี 2558 บริกส์ได้ตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ขึ้นมา
 

 อยาก“หลุดจากวงโคจรสหรัฐ”คือเหตุผลหลัก

การรวมกลุ่มและเชิญประเทศต่างๆ เข้าร่วม สะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกกลุ่มบริกส์ที่ต้องการดึงชาติพันธมิตรของตนเองเข้ามาร่วมกลุ่มด้วยอย่าง ประธานาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวาของบราซิล ที่พยายามเชิญชวนอาร์เจนตินา ประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศที่เป็นมหาอำนาจด้านน้ำมัน ก็พูดชัดเจนหลายครั้งว่า พยายามผลักดันตัวเองออกจากวงโคจรของสหรัฐ และต้องการก้าวขึ้นมามาเป็นยักษ์ใหญ่ของโลก ด้วยตัวเองไม่พึ่งบารมีพี่เบิ้มอย่างสหรัฐ

ขณะที่รัสเซียและอิหร่าน มีเหตุผลในการรวมกลุ่มคือรับมือกับมาตรการคว่ำบาตรและการถูกโดดเดี่ยวทางการทูตที่นำโดยสหรัฐในเวทีโลก ซึ่งประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่เข้าร่วมประชุมสุดยอดกลุ่มบริกส์ที่แอฟริกาใต้แบบทางไกล กล่าวว่า “บริกส์ไม่ได้แข่งขันกับใครแต่ก็เห็นได้ชัดว่า การเคลื่อนไหวของบริกส์และการจัดระเบียบโลกใหม่ในความพยายามของบริกส์ ยังคงถูกต่อต้านอย่างหนัก”

อย่ามองข้าม! ขุมพลังทางเศรษฐกิจของบริกส์ จีดีพีปี2566 แซงกลุ่มจี-7
 

ขุมพลังมหาศาลทางเศรษฐกิจ

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ การก่อตัวขึ้นเป็นกลุ่มบริกส์เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะในมิติศักยภาพทางเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้จากข้อมูลเชิงสถิติเปรียบเทียบการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ของกลุ่มจี-7 และกลุ่มบริกส์ ตั้งแต่ปี 2538 ถึงปี2566 จัดทำโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) โดยปี 2538 จีดีพีกลุ่มจี-7 ขยายตัว 44.9% กลุ่มบริกส์ขยายตัว 16.9% พอปี 2553 จี-7 จีดีพีขยายตัว 34.3% กลุ่มบริกส์ตามมาไม่ห่างที่ 26.6% แต่พอปี 2566 จีดีพีกลุ่มจี-7 ขยายตัว 29.9% ส่วนกลุ่มบริกส์ ขยายตัวที่ 32.1%   

นอกจากนี้ เมื่อเทียบจีดีพีประเทศสมาชิกบริกส์ทั้ง5ประเทศในปัจจุบันและ6 ประเทศที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในปี 2567 จะเห็นว่าเป็นการรวมตัวของขุมพลังทางเศรษฐกิจที่ใหญ่โตมาก เริ่มจากบราซิลที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 2.08 ล้านล้านดอลลาร์ ,รัสเซีย 2.06 ล้านล้านดอลลาร์, อินเดีย 3.74 ล้านล้านดอลลาร์,จีน 19.37 ล้านล้านดอลลาร์,แอฟริกาใต้ 399 พันล้านดอลลาร์ 

 ส่วนสมาชิกใหม่คือ อาร์เจนตินา มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่  641 พันล้านดอลลาร์ ,อียิปต์ 387 พันล้านดอลลาร์,เอธิโอเปีย 156 พันล้านดอลลาร์,อิหร่าน 367 พันล้านดอลลาร์,ซาอุดีอาระเบีย 1.06 ล้านล้านดอลลาร์และยูเออี 499 พันล้านดอลลาร์ รวมทั้งสิ้น 30.76 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 30% ของเศรษฐกิจโลก

ลุ้นขจัดอุปสรรคด้านความเห็นต่าง

การประชุมซัมมิตบริกส์ที่แอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 22-24 ส.ค.ที่ผ่านมา อินเดีย แสดงท่าทีชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการรับสมัครสมาชิกใหม่ รวมทั้งการสร้างเงินสกุลร่วม จึงต้องจับตาดูว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียและประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนจะดำเนินการอย่างไร  เนื่องจากอินเดียมีแนวโน้มที่จะเป็นประเทศที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆในกลุ่มนี้ เพราะทุกวันนี้ อินเดียก็เป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกับสหรัฐ ซึ่งอาจจะสร้างความแตกแยกขึ้นในกลุ่ม

บรรดาผู้เชี่ยวชาญบางคนมีความเห็นว่า การก่อตั้งของบริกส์ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ประกอบกับความสนใจด้านการเมืองและสังคมที่แตกต่างกัน ทำให้บรรดาผู้นำชาติสมาชิกบริกส์ไม่ได้เห็นพ้องกันในประเด็นต่าง ๆ ในการประชุมทุกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นอุปสรรคใหญ่ ทำให้ไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลในโลกได้

ส่วนการเพิ่มสมาชิกใหม่อาจทำให้การเห็นพ้องร่วมกันในประเด็นต่างๆมีความซับซ้อนมากขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าสมาชิกใหม่เป็นประเทศใด และการรับประเทศที่ต่อต้านตะวันตกอย่างหัวชนฝา อย่าง อิหร่าน อาจทำให้บริกส์ถูกมองมากขึ้นว่า เป็นกลุ่มต่อต้านตะวันตก

นักวิเคราะห์มั่นใจบริกส์ไม่คุกคาม“ดอลลาร์”ใน10ปีนี้

“ดีแลน เครเมอร์” หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนร่วมจากเซอรทุยตี บริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์เกือบ 4 พันล้านดอลลาร์ทั่วโลก ให้ความเห็นว่า การพัฒนาสกุลเงินบริกส์เป็นเพียงการหารือ เนื่องจากสมาชิกกลุ่มบริกส์ขาดเสถียรภาพทางการเมืองที่จะทำให้นักลงทุนมั่นใจในสกุลเงินที่รวมกัน

 "ผมมีความเห็นว่าจะไม่มีการคุกคามเงินดอลลาร์ในช่วง10 ปีข้างหน้านี้" เครเมอร์ กล่าว

 ขณะที่ “จิม โอนีล” นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของชาแทม เฮาส์ กลุ่มคลังสมองมีฐานอยู่ในอังกฤษ บอกว่า 

ความสัมพันธ์ที่เปราะบางระหว่างจีนและอินเดีย เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้สกุลเงินร่วมของบริกส์เกิดขึ้นไม่ได้  ความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานของจีนและอินเดียเป็นข้อได้เปรียบของเงินสกุลดอลลาร์ แถมยังทิ้งท้ายด้วยว่า กลุ่มประเทศนี้ไม่เคยประสบความสำเร็จในการทำอะไรเลยตั้งแต่เริ่มการประชุมครั้งแรกในปี 2552

อย่ามองข้าม! ขุมพลังทางเศรษฐกิจของบริกส์ จีดีพีปี2566 แซงกลุ่มจี-7

แปลและเรียบเรียงจาก

https://thethaiger.com/in/news/553573/

https://www.ft.com/content/d8347bd0-cc4f-4c3b-9225-0ccd272330a6

https://www.statista.com/chart/30638/brics-and-g7-share-of-global-gdp/