นิทรรศการตัวการ์ตูนเกาหลีใต้-ไทย ประตูสู่การพัฒนาอุตฯแอนิเมชัน

นิทรรศการตัวการ์ตูนเกาหลีใต้-ไทย ประตูสู่การพัฒนาอุตฯแอนิเมชัน

นิทรรศการตัวการ์ตูนเกาหลีใต้-ไทย ประตูสู่การพัฒนาอุตฯแอนิเมชัน โดยนิทรรศการนี้ ไม่เพียงแค่แนะนำตัวการ์ตูนเกาหลีในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการแนะนำทรัพย์สินทางปัญญาด้านตัวการ์ตูน ผ่านคอนเทนต์ที่หลากหลาย

หากพูดถึงอุตสาหกรรมคอนเทนต์เกาหลีใต้ หลายคนอาจนึกถึงซีรีส์และภาพยนตร์ แต่ความจริงแล้วคอนเทนต์ของเกาหลีใต้ ไม่ได้มีแค่คนแสดงเท่านั้น แอนิเมชันและตัวการ์ตูน ก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ของเกาหลีใต้ที่โด่งดังไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในไทย

หลายคนที่ใช้แอปพลิเคชันไลน์ (LINE) มักคุ้นเคยและต้องเคยใช้สติ๊กเกอร์ตัวการ์ตูน BT21 ซึ่งเป็นตัวการ์ตูน ที่สร้างมาจากความร่วมมือระหว่างไลน์ และวง BTS บอยแบนด์ชื่อดังของเกาหลี โดย BTS เป็นผู้ออกแบบการ์ตูนทั้ง 8 ตัว ตามคาแรกเตอร์สมาชิกในวง ถือเป็นหนึ่งในตัวการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จในการแลกเปลี่ยนคาแรกเตอร์ข้ามพรมแดนของเกาหลีมาก

นอกจากนี้ ชาวไทยยังชื่นชอบการ์ตูนจากเว็บตูน และกาเกาเว็บตูนของเกาหลีใต้อยู่ไม่น้อย เห็นได้ว่า อุตสาหกรรมตัวการ์ตูนของเกาหลี อยู่ไม่ไกลจากคนไทย ทั้งยังเป็นสิ่งที่คนไทยใช้งานทุกวัน

ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี ประจำประเทศไทย ได้จัดงานนิทรรศการแลกเปลี่ยนอุตสาหกรรมคาแรกเตอร์เกาหลี-ไทย เพื่อประชาสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนการสร้างตัวการ์ตูนให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมการ์ตูนของทั้งสองประเทศ

บริษัทเกาหลี อาทิ Studio Gale, Tori Arts, และ XOPLAY  และบริษัทแอนิเมชันไทย ทั้ง Holen, Liffolab และ Sweet Summer ร่วมจัดแสดงผลงานตัวการ์ตูน ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 25 ส.ค. ณ ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี

นิทรรศการตัวการ์ตูนเกาหลีใต้-ไทย ประตูสู่การพัฒนาอุตฯแอนิเมชัน

“จอน โจยอง” อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี กล่าวว่า นิทรรศการนี้ ไม่เพียงแค่แนะนำตัวการ์ตูนเกาหลีในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการแนะนำทรัพย์สินทางปัญญาด้านตัวการ์ตูน ผ่านคอนเทนต์ที่หลากหลาย เช่น ของเล่น หนังสือ เว็บตูน ไลน์ และแอนิเมชัน และนิทรรศการนี้ แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ

“ผมเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์ของทุกคน สามารถทำให้เกิดตัวการ์ตูนแบบ BT21 ได้ และหวังว่าตัวการ์ตูนเกาหลี-ไทย ที่เข้าร่วมนิทรรศการนี้ จะได้รับความรักจากทั้งสองประเทศ” จอน กล่าวในพิธีเปิด

ด้าน “ชิน ชางฮวาน” ประธานสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นประเทศเกาหลี (KAPA) กล่าวว่า ปัจจุบันสมาคมมีบริษัทแอนิเมชันที่เกี่ยวข้องราว 110 บริษัท แสดงให้เห็นถึง ความหลากหลายของตัวการ์ตูนแอนิเมชัน และสมาคมพยายามเต็มที่ เพื่อให้อุตสาหกรรมคาแรกเตอร์เกาหลีเติบโตอย่างต่อเนื่อง และหวังว่านิทรรศการนี้ จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมแอนิเมชันของทั้งสองประเทศเติบโตไปอีกขั้น

ทั้งนี้ นิทรรศการ มีตัวการ์ตูนจากหลายบริษัทมาร่วมจัดแสดงมากมาย ได้แก่ชินบี อพาร์ทเมนต์หลอน,โทริ ยาง,มอนสเตอร์ คลับ,โรบินสัน,โทมน คาร์, และวิลเบลเกอร์ส ซึ่งเป็นการ์ตูนจากเกาหลี ส่วนโฮเลน,ชูชีพ, และแคท คอมปะนี เป็นการ์ตูนของไทย
 

ภายในงานมีบอร์ดอธิบายถึงเรื่องราวของตัวการ์ตูนที่ถูกสร้างขึ้น ช่วยให้ผู้เยี่ยมชมเพลิดเพลินไปกับการทำความรู้จักตัวการ์ตูนที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของเกาหลีใต้และของไทย และมีจุดแสดงผลิตภัณฑ์ของตัวการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จ เชื่อว่าหลายคนต้องเคยเห็นสินค้าเหล่านี้ผ่านตามาบ้าง โดยเฉพาะการ์ตูนแคท คอมปะนี สายชอปเครื่องเขียนต้องมีไอเท็มจากการ์ตูนเรื่องนี้อย่างน้อยหนึ่งชิ้นแน่นอน

ส่วนพระเอกนางเอกของนิทรรศการ ยกให้ตัวการ์ตูนชูชีพ (Shew Sheep) จากไทย และโทริยาง จากเกาหลีใต้ ซึ่งหลายคนน่าจะเคยเห็นและคุ้นตากันอยู่แล้ว 

นิทรรศการตัวการ์ตูนเกาหลีใต้-ไทย ประตูสู่การพัฒนาอุตฯแอนิเมชัน

โทริยาง ตัวการ์ตูนเด็กน้อยผมหยิกฟูสีแดง  สร้างโดยยุน โทรี ประธานบริษัท Tory Arts โทริ เป็นตัวละครที่เกิดจากความหวังและมุมมองของพ่อแม่ ที่อยากให้ลูกมีความสุขและใช้ชีวิตให้สนุกสนาน 

ยุน ได้แรงบันดาลใจมาจากช่วงที่ลูกสาวอายุ 9 ขวบ และยุน กังวลว่าลูกจะโดนเพื่อน ๆ บูลลี่ จึงสร้างการ์ตูนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เพื่อให้เด็ก ๆ ตระหนักว่า ทุกคนมีความสามารถในแบบของตนเอง ควรให้เกียรติกันและกัน เพราะทุกคนล้วนมีคุณค่าในตนเอง โดยยุนเลือกใช้สีแดง เพราะเป็นสีที่แสดงถึงความกระตือรือร้น

เจ้าชูชีพ แกะสีเหลืองจอมตะกละหลายคนอาจรู้จักในชื่อแกะเหลืองจากเพจเฟซบุ๊ก Eat all day ชูชีพ เป็นแกะที่รักการกินเป็นชีวิตจิตใจ ไม่ว่าเรื่องราวในชีวิตจะเป็นอย่างไร มันจะสามารถหาเหตุผลดี ๆ เพื่อหาอะไรกินได้เสมอ ซึ่งชูชีพ เป็นตัวการ์ตูนที่สร้างโดยสุมิตร สีมากุล นายกสมาคมดิจิทัลคอนเทนท์ไทย (DCAT)

สุมิตร  บอกว่า ตนมีความสนใจเกี่ยวกับตัวการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก เพราะสุมิตรเชื่อว่าตัวการ์ตูน คือหนทางที่ช่วยให้สำรวจโลกใหม่ ๆ และตัวการ์ตูนแต่ละประเทศมีบุคลิกแตกต่างกันไปที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์วัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ ได้

“นิทรรศการนี้เป็นโอกาสที่ดีต่อตัวการ์ตูนของพวกเรา ให้ทุกคนได้มารู้จักกัน และหวังว่าเราจะสามารถเรียนรู้สิ่งดีๆ จากกันและกัน สนับสนุนให้เรื่องราวและตัวการ์ตูนของเรา เติบโตอย่างแข็งแกร่งและสนุกไปด้วยกันมากขึ้น” สุมิตร กล่าวทิ้งท้าย

นิทรรศการตัวการ์ตูนเกาหลีใต้-ไทย ประตูสู่การพัฒนาอุตฯแอนิเมชัน