ถอดบทเรียน ‘มหานครนิวยอร์ก’ กำลังจม แผ่นดินแบกตึกระฟ้าหนัก 1 ล้านล้านกิโลกรัม

ถอดบทเรียน ‘มหานครนิวยอร์ก’ กำลังจม แผ่นดินแบกตึกระฟ้าหนัก 1 ล้านล้านกิโลกรัม

กรุงเทพมหานคร ควรดูไว้เป็นบทเรียน จากผลวิจัยใหม่บ่งชี้ว่า ตึกระฟ้าจำนวนมาก และระดับทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้มหานครนิวยอร์ก หนึ่งในเมืองค่าครองชีพแพงที่สุดในโลกจมน้ำ และเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติได้มากขึ้น

Key Points:

  • ที่ดินบางแห่งในนิวยอร์ก อาจจมเร็วกว่าพื้นที่อื่น 2 เท่า ซึ่งมีอัตราจมสูงถึง 4 มิลลิเมตรต่อปี
  • เมื่อมีสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมในอนาคต
  • ปี 2050 นิวยอร์กอาจสูญมูลค่าประเมินภาษีที่ดิน ให้กับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น เกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์

 

สำนักข่าวแชนแนล นิวส์ เอเชีย รายงานว่า ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยโรดไอแลนด์ ได้ทำการประเมินน้ำหนักอาคารมากกว่า 1 ล้านแห่ง ที่สร้างขึ้นในนิวยอร์ก และพบว่า วัสดุต่างๆ ของอาคารในนิวยอร์ก ทั้งคอนกรีต เหล็ก และกระจก มีน้ำหนักเกือบ 1 ล้านล้านกิโลกรัม และด้วยระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเพราะโลกร้อน อาจส่งผลให้นิวยอร์กค่อยๆ จมน้ำอย่างช้าๆ

ข้อมูลจากนาซ่า บอกว่า ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มสูงขึ้น 20-75 เซนติเมตร ภายใน 25 ปีข้างหน้า

ใช้เวลานานเท่าไร กว่าจะจม?

ผลวิจัยบอกว่า อัตราการจมของนิวยอร์กแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่

ตึกวอลล์สตรีทยาว 8 ช่วงตึกใจกลางนิวยอร์ก สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 1-2 เมตร ขณะที่ใจกลางแมนฮัตตัน สร้างบนหินที่มีแรงบีบอัดน้อย เทียบกับบรุกลิน และควีนส์ พื้นที่ ที่เป็นดินร่วนซุย อาจจมน้ำได้เร็วกว่าแมนฮัตตัน

บางพื้นที่ในแมนฮัตตันตอนล่าง ขยายพื้นที่โดยถมดินใกล้แนวชายฝั่ง ทำให้พื้นที่ดังกล่าวแบกรับน้ำหนักอาคารมาก อาจอ่อนไหวต่อแรงโน้มถ่วงมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ที่ดินบางแห่งในนิวยอร์ก อาจจมเร็วกว่าพื้นที่อื่น 2 เท่า ซึ่งมีอัตราจมสูงถึง 4 มิลลิเมตรต่อปี

ยิ่งสร้าง ยิ่งจม

“แอนดรูว์ ครูซกีวิกซ์” นักวิจัยอาวุโส จากสถาบันสภาพอากาศ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เรียกร้องให้ออกนโยบายเพื่อรองรับปัญหาต่างๆ โดยอาศัยข้อมูลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และร่วมหารือเกี่ยวกับผลกระทบจากภัยพิบัติในเมือง

เนื่องจากในปี 2555 เฮอร์ริเคนแซนดีถล่มนิวยอร์ก คร่าชีวิตประชาชน 44 ราย บ้านเรือน และโครงสร้างพื้นฐานพังทลาย คาดว่าเสียหายราว 19,000 ล้านดอลลาร์

นักวิจัยเตือนว่า เมื่อมีสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมในอนาคต แต่การก่อสร้างในปัจจุบันยังไม่มีวี่แววน้อยลง 

ขณะที่พื้นที่ริมน้ำ ด่านหน้าแบกรับแรงพายุเฮอร์ริเคนแซนดี และเพิ่งเกิดน้ำท่วมฉับพลันเมื่อไม่นานมานี้ กลับมีอัตราการพัฒนาที่อยู่อาศัยมากที่สุด

ถอดบทเรียน ‘มหานครนิวยอร์ก’ กำลังจม แผ่นดินแบกตึกระฟ้าหนัก 1 ล้านล้านกิโลกรัม

มหานครเสี่ยงสูญเงิน

นิวยอร์ก เป็นหนึ่งในพื้นที่ ที่แพงที่สุดในสหรัฐ อาจสูญเสียมูลค่าจำนวนมาก เพราะระดับทะเลเพิ่มสูงขึ้น กัดเซาะชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง

“ปีเตอร์ กิราร์ด” รองประธานฝ่ายสื่อสารขององค์กรวิจัย Climate Central คาดว่า ในปี 2050 นิวยอร์กอาจสูญมูลค่าประเมินภาษีที่ดิน ให้กับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น เกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งบริการเทศบาลทั้งหมดพึ่งพาเงินในส่วนนี้

นอกจากนี้ นิวยอร์ก ตกเป็นอันดับที่ 3 เมืองอสังหาริมทรัพย์มูลค่ามากที่สุดในโลก รองจากกว่างโจว และไมอามี เนื่องจากเกิดน้ำท่วมชายฝั่ง และผลวิจัยบ่งชี้ว่า อาคาร 90% ที่เสี่ยงเสียหาย ยังไม่ได้มาตรฐานรองรับน้ำท่วม

นั่นหมายความว่า เจ้าของอสังหาฯ และนักลงทุน อาจขาดทุนก้อนใหญ่ ถ้านิวยอร์กเกิดภัยพิบัติ

ถอดบทเรียน ‘มหานครนิวยอร์ก’ กำลังจม แผ่นดินแบกตึกระฟ้าหนัก 1 ล้านล้านกิโลกรัม

ต้องเพิ่มตัวช่วยรับมือภัยพิบัติ

นิวยอร์กยังดีที่มีตัวช่วยปกป้องโครงสร้างต่างๆ จากน้ำท่วม เช่น เครื่องปั๊มน้ำ

แม้บริษัทพัฒนาอสังหาฯ บางแห่งติดตั้งตัวช่วยนี้แล้ว โดยเฉพาะบริษัทที่พึ่งพาเงินจากรัฐบาล แต่บริษัทอสังหาฯ ส่วนใหญ่ยังไม่ติดตั้ง เนื่องจากมีต้นทุนเพิ่ม

“เจอร์รอด ดีเลน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Legacy Real Estate Development แนะว่า การเปลี่ยนแปลงด้านการติดตั้งตัวช่วยป้องกันน้ำท่วม ควรเริ่มจากระดับรัฐบาล หรือนโยบายประกันหรือนโยบายเกี่ยวกับผู้ให้กู้

แม้นิวยอร์กเป็นผู้นำในด้านโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว เช่น มีมาตรการเกี่ยวกับการปล่อยมลพิษของอาคารต่างๆ แต่นิวยอร์กยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วม

อย่างไรก็ดี ผู้สังเกตการณ์ในอุตสาหกรรมอสังหาฯนิวยอร์ก คาดว่า มาตรการที่เข้มงวดเรื่องน้ำท่วม อาจมีขึ้นเร็วๆ นี้ เนื่องจากนิวยอร์กต้องหาทางปกป้องตึกระฟ้ามูลค่ามหาศาลของเมือง จากระดับน้ำทะเลที่เริ่มสูงขึ้นให้ได้

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์