‘ที่ตั้งสำนักงานนาโต้’ ประเด็นที่ยังเห็นต่าง

‘ที่ตั้งสำนักงานนาโต้’ ประเด็นที่ยังเห็นต่าง

องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) เตรียมเลื่อนการตัดสินใจตั้งสำนักงานประสานงานในกรุงโตเกียวออกไป จนกว่าจะถึงฤดูใบไม้ร่วง หรือหลังจากนั้น

สำนักข่าวนิกเกอิเอเชีย รายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า นาโต้ วางแผนการขั้นต้นไว้ว่าจะบรรจุเรื่องการจัดตั้งสำนักงานประสานงานในกรุงโตเกียวลงในเอกสาร เพื่อให้มีการรับรองภายในการประชุมสุดยอดนาโต้ที่ลิทัวเนีย ซึ่งจะเริ่มต้นในวันอังคารนี้ (11 ก.ค.) แต่ฝรั่งเศสคัดค้านแผนการนี้ เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับจีน และไม่น่าจะเป็นไปได้ที่สมาชิกทั้ง 31 ประเทศจะออกเสียงเห็นด้วยอย่างเป็นเอกฉันท์ในแผนการดังกล่าว โดยนาโต้จะดำเนินการเพื่อสรุปการตัดสินใจขั้นสุดท้ายภายในสิ้นปีนี้

รายงานข่าวระบุว่า “เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก” เลขาธิการนาโต้ เป็นหัวหอกในการเสนอแผนการจัดตั้งสำนักงานในกรุงโตเกียว โดยนาโต้มีความประสงค์ที่จะมีสำนักงานประสานในในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธมิตรของนาโต้ และกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงกับเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

แหล่งข่าววงในทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสกล่าวเมื่อวันศุกร์ (7 ก.ค.) ว่า การที่นาโต้จะเปิดสำนักงานในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอาจเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากองค์การนาโต้จัดตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันด้านความมั่นคงในยุโรปและอเมริกาเหนือ

แต่ถึงอย่างนั้น ผู้นำประเทศสมาชิกนาโต้บางคน รวมถึงสโตลเทนเบิร์ก และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ เล็งเห็นว่าการตอบโต้กับจีนเป็นเรื่องสำคัญต่อความมั่นคงของนาโต้ เนื่องจากจีนถูกมองว่ากำลังยกระดับความแข็งแกร่งทางทหารด้วยการกระชับความพันธ์กับรัสเซียให้ลึกซึ้งมากขึ้น

ข้อกังวลนี้อาจจะผลักดันให้นาโต้ยกระดับความร่วมมือกับบรรดาประเทศพันธมิตรของสหรัฐ ซึ่งก็คือญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดย “ฟูมิโอะ คิชิดะ” นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และ“ยุน ซอกยอล” ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดนาโต้ในสัปดาห์นี้

ประเด็นเลื่อนตัดสินใจเกี่ยวกับที่ตั้งสำนักงานประสานงานของนาโต้ในกรุงโตเกียวออกไป มีขึ้นวันเดียวกับที่ประธานาธิบดีไบเดนให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็น ระหว่างเดินทางไปลิทัวเนียเพื่อร่วมประชุมกับนาโต้ว่า 'ผมไม่คิดว่ายูเครนพร้อมสำหรับการเป็นสมาชิกนาโต้ และผมไม่คิดว่าจะมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ในนาโต้เกี่ยวกับกรณีที่ว่าจะรับยูเครนเข้าสู่ครอบครัวนาโต้หรือไม่ในช่วงที่การทำสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียกำลังดำเนินอยู่”

คำพูดของผู้นำสหรัฐสวนทางกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ที่เสร็จสิ้นภารกิจเยือนตุรกีเมื่อวันเสาร์ที่ 8 ก.ค. และได้รับการสนับสนุนจาก ประธานาธิบดีเรเซป เทย์ยิป เออร์ดวน ของตุรกี ซึ่งกล่าวว่ายูเครนควรได้เป็นสมาชิกนาโต้

คำกล่าวที่สวนทางกันของผู้นำสหรัฐและตุรกี เกิดขึ้นในช่วงที่ไบเดนประกาศว่าจะส่งมอบกระสุนพวงหรือคลัสเตอร์บอมบ์ให้ยูเครน โดยกระสุนประเภทนี้เป็นอาวุธต้องห้ามภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง หรือ คลัสเตอร์ บอมบ์ ซึ่งมีรัฐภาคีมากถึง 112 ประเทศ และให้สัตยาบันแล้ว 83 ประเทศ แต่ไม่รวมถึงรัสเซียหรือยูเครน

นอกจากนี้ เซเลนสกี ยังพาคณะผู้บัญชาการกองพันอาซอฟแห่งเมืองมาริอูโปลกลับมายังยูเครน ซึ่งเรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้กับทางการรัสเซีย ที่ระบุว่ากองพันอาซอฟเป็นกองพันนีโอนาซีที่ก่อเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวรัสเซียในแคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์ ทั้งยังเป็นต้นตอที่ทำให้รัสเซียต้องเปิดฉากปฏิบัติการพิเศษในยูเครนตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.ปี 2565

เห็นได้ชัดว่า เรื่องของนาโต้ ทั้งประเด็นสถานที่ตั้งสำนักงานประสานงานและการเพิ่มจำนวนสมาชิก ยังมีข้อถกเถียงกันอีกมาก ต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่าจะตกผลึก เพราะเป็นประเด็นที่ถูกชี้นำโดยการเมืองและผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่างประเทศล้วนๆ