จับตาความพยายาม‘ปารีสคลับ’ กู้วิกฤตหนี้โลกครั้งใหม่

จับตาความพยายาม‘ปารีสคลับ’ กู้วิกฤตหนี้โลกครั้งใหม่

จับตาความพยายามของกลุ่ม‘ปารีสคลับ’ กอบกู้วิกฤตหนี้โลกครั้งใหม่ โดยประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมด 52 ประเทศ ที่เป็นที่อยู่ของประชากรที่มีฐานะยากจนอย่างหนักครึ่งหนึ่งของโลก กำลังเผชิญกับปัญหาหนี้สินรุนแรงและมีต้นทุนการกู้ที่ยืมสูงมาก

การประชุมสุดยอดเพื่อคลายวิกฤติหนี้สาธารณะของทั่วโลก ที่กรุงปารีส จัดโดยประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. เป็นความพยายามล่าสุดของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำที่ต้องการบรรเทาภาระหนี้ที่กำลังส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศกำลังพัฒนา

ในที่ประชุมดังกล่าว ประเทศให้กู้รายใหญ่ที่สุด ทั้งจีนและชาติตะวันตก ต่างเห็นด้วยที่จะปรับโครงสร้างหนี้สินของประเทศแซมเบีย มูลค่า 6,300 ล้านดอลลาร์ ตามแนวคิดริเริ่มของกลุ่ม G20 และประเทศที่พยายามหาทางปรับโครงสร้างหนี้สินแบบแซมเบีย เริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ

หนี้สาธารณะทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 92% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในช่วงสิ้นปี 2565 แม้ลดลงจากระดับสูงสุดที่ 100% ของจีดีพี ช่วงสิ้นปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ฉุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกให้ซบเซาลง รัฐบาลหลายประเทศขาดแคลนรายได้ ทั้งยังเพิ่มค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการป้องกันเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัว และไม่ให้ธุรกิจปลดพนักงาน ด้วยเหตุนี้ หนี้สาธารณะทั่วโลกจึงทะยานสู่ระดับสูงสุดภายใน 1 ปี จากเดิม 84% ของจีดีพีเมื่อสิ้นปี 2562 เป็น 100% ของจีดีพีในปีถัดมา
 

ประเทศยากจนที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติด้านสาธารณสุข ต้องพึ่งพาเงินกู้จากต่างชาติเพื่อพยุงประเทศให้อยู่รอด

ปัจจุบัน ประเทศกำลังพัฒนา ที่มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ มีหนี้สินต่างประเทศ หรืออาจปลดหนี้เกือบหมดแล้ว ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 2 แห่งของโลกอย่างสหรัฐและจีน คาดว่า มีหนี้สาธารณะพุ่งสูงขึ้นกว่าระดับหนี้สินในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 

ส่วนกานาและศรีลังกา ผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศเมื่อปี 2565 หลังจากแซมเบียผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ 2 ปีก่อนหน้า ส่วนปากีสถานและอียิปต์ เกือบผิดนักชำระหนี้ด้วยเหมือนกัน

นอกจากนี้ หลายประเทศยังมีหนี้สินเพิ่ม เพราะเกิดสงครามรัสเซียในเดือน ก.พ. ปี2565 ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและอาหารพุ่งสูงขึ้น

โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมด 52 ประเทศ ที่เป็นบ้านของประชากรที่มีฐานะยากจนอย่างหนักครึ่งหนึ่งของโลก กำลังเผชิญกับปัญหาหนี้สินรุนแรงและมีต้นทุนกู้ยืมสูง

ช่วงที่เกิดวิกฤติดังกล่าว ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าตลอดปี 2565 เมื่อเทียบค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากนักลงทุนต้องการถือครองเงินดอลลาร์ เพราะเห็นว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย จึงทำให้ต้นทุนกู้ยืมของประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางสูงขึ้น เนื่องจากสินเชื่อต่างประเทศส่วนใหญ่คิดเป็นสกุลเงินดอลลาร์
 

‘เซดี’ สกุลเงินกานา อ่อนค่ามากกว่า 50% ในระหว่างเดือน ม.ค. และ ต.ค. ปี 2565 ทำให้ภาระหนี้สินของกานาเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ล้านดอลลาร์ และกานาผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศส่วนใหญ่ในเดือน ธ.ค. แต่ขณะนี้ ประเทศตั้งเป้าลดการชำระหนี้ดังกล่าวให้ได้ 20,000 ล้านดอลลาร์ หรือครึ่งหนึ่งของหนี้สินต่างประเทศภายในอีก 3 ปีข้างหน้า เพื่อค้ำประกันเงินกู้ไอเอ็มเอฟ 3,000 ล้านดอลลาร์ อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนปรับโครงสร้างหนี้

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ดิ้นรนของกานา, ศรีลังกา, แซมเบีย และประเทศอื่นๆ อีกหลายสิบแห่ง เพื่อให้รอดพ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

“เจโรมิน เซตเทลเมเยอร์” ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองบรูเกลในบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ที่ร่วมเขียนบทความ “Are We Heading for Another Debt Crisis in Low-Income Countries?” ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราห์ว่า สถานการณ์หนี้สินในปัจจุบันและวิกฤติหนี้สินในอดีต มีความคล้ายคลึงและแตกต่างกันหลายอย่าง

“วิกฤติหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลขาดดุลเพิ่มขึ้น เริ่มสร้างหนี้ และบางครั้งเกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงขึ้น ดังนั้น ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นสาเหตุของวิกฤติหนี้สินในปัจจุบัน แต่ความแตกต่างคือ วิกฤติต่าง ๆ ที่ผ่านมา เกิดขึ้นหลังจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลง ประเทศยากจนหลายแห่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมัน, ก๊าซ, และแร่ต่างๆ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคตกต่ำ จึงส่งผลกระทบต่อรายได้ประเทศเหล่านั้น แต่ปัจจุบันราคาสินค้าประเภทดังกล่าวค่อนข้างสูง” เซตเทลเมเยอร์ กล่าว

 ตามปกติแล้ว ประเทศยากจนจะกู้ยิมเงินจากกลุ่มผู้ปล่อยกู้ปารีส คลับ ซึ่งสมาชิกกลุ่มเจ้าหนี้ส่วนใหญ่เป็นประเทศร่ำรวยกว่า เช่น สหรัฐ, อังกฤษ, ออสเตรเลีย และเยอรมนี รวมถึงสถาบันการเงินโลก เช่น ธนาคารโลก, ไอเอ็มเอฟ, หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาแอฟริกา และตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา จีนและผู้ถือหุ้นกู้เอกชน กลายเป็นผู้ให้กู้รายสำคัญของหลายประเทศ

จีน ถือครองหนี้สินต่างประเทศ หรือเป็นเจ้าหนี้ของแซมเบียในสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่ง ขณะที่ศรีลังกามีหนี้สินที่ต้องชำระให้รัฐบาลปักกิ่งมากกว่า 10%

ปัจจุบัน ประเทศกว่าครึ่งหนึ่งจาก 73 ประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการระงับชำระหนี้ของกลุ่ม G20 ซึ่งอนุญาตให้ประเทศลูกหนี้ งดชำระหนี้ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด ตั้งแต่เดือน พ.ค.ปี 2563 จนถึง ธ.ค. ปี 2564 และปัจจุบันจีน เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด

การรวมเจ้าหนี้ เช่น จีนและเจ้าหนี้เอกชน เข้าสู่กระบวนการบรรเทาหนี้ มาจากกรอบการดำเนินงานทั่วไปในปี 2563 ที่กลุ่ม G20 กำหนดว่า เป็นโครงการคอยประสานการเจรจาผ่อนคลายหนี้สิน ระหว่างประเทศรายได้ต่ำ ปารีสคลับ และผู้ให้กู้รายใหญ่ เช่น จีน, อินเดีย, และซาอุดีอาระเบีย

อย่างไรก็ตาม 3 ปีหลังจากนั้น กรอบงานดังกล่าว ยังไม่ได้รับการรับรองว่าช่วยให้การเจรจาหนี้ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากจัดลำดับความสำคัญของเจ้าหนี้ไม่ทัดเทียมกัน ทำให้บางประเทศและสถาบันการเงินบางแห่งที่ปล่อยกู้ มีโอกาสปฏิเสธการผ่อนผันหนี้ได้