ปัญหาหนี้สาธารณะที่มีต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของเอเชีย

ปัญหาหนี้สาธารณะที่มีต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของเอเชีย

จากผลการสำรวจทางเศรษฐกิจและสังคมในกลุ่มประเทศเอเชียและแปซิฟิก ของ UN-ESCAP ปี 2023 พบว่า กว่า 2 ใน 3 ของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้มีภาระหนี้สาธารณะสูงและมีความเสี่ยงต่อการชำระหนี้ไม่ตรงกำหนด

ความเสี่ยงของประเทศใดประเทศหนี่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ด้วย 

ถึงแม้ว่าจะมีวิธีทำให้ชำระหนี้ได้โดยการปรับปรุงหนี้  แต่ภาระหนี้จะยังคงมีผลต่อการใช้จ่ายเงินเพื่อการลงทุนระยะยาว  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงการที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาว

โดยเฉพาะโครงการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals – SDGs)

UN-ESCAP ประเมินว่าจะต้องใช้เงินลงทุนปีละกว่า 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ระหว่างปี 2019 ถึงปี 2030  ดังนั้น ด้วยภาระหนี้สาธารณะที่สูง  โอกาสที่โครงการเหล่านี้จะไม่ได้รับเงินสนับสนุนจึงมีสูง  และทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้

การยกประเด็นนี้ขึ้นมาถกแถลงในช่วงนี้เป็นจังหวะที่ดีที่จะแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมานาน คำถามคือการใช้งบประมาณของประเทศทุกวันนี้  เหมาะสมกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะยาวหรือไม่   

รายงานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นประเด็นปัญหาสำคัญหลายประการที่ควรพิจารณาร่วมกับข้อเสนออื่น ๆ  โดยเฉพาะเรื่องวินัยการคลัง  เช่น ความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพของนโยบาย รวมถึงระบบการบริหารการคลังของแต่ละประเทศ  

ซึ่งอาจดูได้จากระดับความน่าเชื่อถือของหนี้ต่างประเทศ ที่ประเมินโดยหน่วยงานจัดระดับความน่าเชื่อถือของตราสารเงินกู้สาธารณะของประเทศต่าง ๆ  โดยสถาบันอิสสระระหว่างประเทศทั้ง Moody’s S&P และ FITCH

ปัญหาหนี้สาธารณะที่มีต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของเอเชีย

จากตารางนี้จะเห็นได้ว่าตราสารหนี้ของหลายประเทศในอาเซียนถูกจัดเป็น Non-Investment Grade คือไม่เหมาะแก่การลงทุน  โดยประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มที่เป็นเกรดลงทุนระดับ B ซึ่งต่ำกว่ามาเลเซีย ทั้งเวียดนาม กัมพูชาและลาว คะแนนลดลงจากปีที่แล้ว

รายงานนี้ไห้ข้อเสนอหลายประการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว  ในระยะสั้น ต้องเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งกับลูกหนี้และเจ้าหนี้  ในการปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งการพักชำระหนี้หรือยกหนี้

ขณะเดียวกันต้องหาวิธีการหรือมาตรการใหม่ ๆ เพื่อหาเงินมาสนับสนุนโครงการพัฒนาระยะยาว เช่น การขยายระยะเวลาเงินกู้ของโครงการที่เกี่ยวกับ SDGs  การพัฒนาระบบการคลังให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 

ปัญหาหนี้สาธารณะที่มีต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของเอเชีย

การให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการโครงการระยะยาว  เช่นเดียวกับวิธีการที่ประเทศมองโกเลียกำลังดำเนินการอยู่  โดยให้ภาคเอกชนเข้ามาเป็นเจ้าหนี้และร่วมบริหารหนี้สาธารณะ

เนื่องจากประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาและมีขนาดกลางหรือเล็ก  จึงควรมีข้อพิจารณาเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 2 ประการ คือ

1.การร่วมมือกันเจรจากับเจ้าหนี้และกู้ร่วม

เนื่องจากประเทศในเอเชียที่มีขนาดเล็กและหลายประเทศมีพื้นที่ติดต่อกัน  โดยมีโครงการกู้เงินที่เกี่ยวข้องกัน  เช่น โครงการก่อสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่ง  เป็นต้น  อีกทั้งยังอาจมีเจ้าหนี้รายเดียวกันด้วย   

ในกรณีเช่นนี้กลุ่มประเทศลูกหนี้ควรจะร่วมกันในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้  เพราะจะทำให้มีอำนาจต่อรองมากกว่าการแยกกันเจรจา  ฝ่ายเจ้าหนี้เองก็สามารถประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการแยกเจรจากับแต่ละประเทศด้วย  จึงเป็นประโยชน์ทั้งต่อลูกหนี้และเจ้าหนี้

แต่การประสานงานระหว่างประเทศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน  เพราะแต่ละประเทศอาจมีข้อจำกัดทั้งด้านกฎหมายของแต่ละประเทศ ตลอดจนปัญหาอื่น ๆ   จึงอาจต้องมี คนกลาง มาช่วยอำนวยความสะดวกและสร้างข้อเสนอที่แต่ละฝ่ายยอมรับร่วมกันได้

ในการปรับปรุงหนี้  ควรจะพิจารณาเรื่องการกู้ร่วมกันเป็นกลุ่มด้วยเพราะปัญหาหนี้มักเกิดจากความอ่อนแอของระบบการติดตามประเมินผลความก้าวหน้าของโครงการที่ไปกู้เงินมาลงทุน 

เนื่องจากเป็นโครงการขนาดเล็ก (จากมุมมองของผู้ให้กู้) ค่าใช้จ่ายในการติดตามกำกับดูแลจะสูง (เมื่อเทียบกับเม็ดเงิน)  การ “กู้ร่วม” จะทำให้ผู้กู้ช่วยดูแลกันเองอันทำให้ค่าใช้จ่ายการติดตามกำกับดูแลของเจ้าหนี้ลดลง  และประสิทธิภาพของการบริหารเงินกู้จะเพิ่มสูงขึ้น

ปัญหาหนี้สาธารณะที่มีต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของเอเชีย

ตัวอย่างการปล่อยสินเชื่อในชนบทก็ประสบปัญหาแบบเดียวกันนี้  เพราะมีผู้กู้รายเล็กจำนวนมาก  การกำกับดูแลติดตามหนี้ต่อรายจึงมีค่าใช้จ่ายสูง  ปัจจุบันสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชนมักจะหันมาใช้วิธี “กู้ร่วม” ในการปล่อยสินเชื่อ

ศาสตราจารย์ Yunus ซึ่งได้รางวัล Noble Prize ในเรื่องการพัฒนาสังคมชนบทชี้ให้เห็นว่า  การ “กู้ร่วม” นอกจากจะสอนและสร้างวินัยทางการเงินให้กับสมาชิกในกลุ่มแล้ว  ผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นคือความร่วมมือของชุมชนในด้านอื่น ๆ จะตามมา 

เช่น  การวางแผนการลงทุนของชุมชมร่วมกัน โดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเมื่อเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น การลงทุนกิจกรรมด้านสังคมก็จะตามมา เป็นรากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสมาชิกทั้งในระดับชุมชนและประเทศ

2.การพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนจะทำให้ศักยภาพของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นและทำหน้าที่ต่าง ๆ ที่ภาครัฐเคยทำได้มากขึ้น

ปัจจุบัน ตลาดเงินและตลาดทุนในโลกมีการพัฒนาไปมากช่วงระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบการสื่อสารที่ดีขึ้น  ทำให้จำนวนประชาชนที่เข้าถึงตลาดเงินและตลาดทุนมีมากขึ้น ระบบการตรวจสอบติดตามประเมินผลถูกลงและดีขึ้น 

ในขณะเดียวกัน สิ่งแวดล้อมด้านการคลังเปลี่ยนไปมาก กิจกรรมที่รัฐเคยทำหลัก ๆ  4 ด้านคือ ด้านการป้องกันประเทศ การศึกษา สาธารณสุข และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน  ซึ่งกินงบประมาณเกือบหมด ควรจะพิจารณาว่าบทบาทของภาครัฐในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร 

เช่น การใช้จ่ายด้านการศึกษา สาธารณสุข  และการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ภาครัฐควรจะมีบทบาทแค่ใหนจึงจะเป็นประโยชน์มากที่สุดและจะให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นได้อย่างไร 

ถ้าหากภาครัฐยังคงดำเนินการแบบเดิมต่อไป  จะกลายเป็นการแทรกแซงตลาดโดยไม่จำเป็น  แล้วภาครัฐมุ่งทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดทิศทางและกำกับดูแลเพื่อให้ดำเนินไปตามเป้าหมาย

แนวทางเช่นนี้จะทำให้ภาครัฐสามารถมีเงินใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็นกว่า ได้ประโยชน์มากว่า โดยเฉพาะด้านการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวซึ่งภาคเอกชนอาจยังไม่พร้อมเข้ามาเป็นผู้ลงทุน 

การปรับโครงสร้างการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ  จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับแรก  เพราะทำให้ภาครัฐมีรายได้ที่สามารถจะนำมาใช้ในการลงทุนระยะยาว ดังเช่นเรื่อง SDGs ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา  ความไม่แน่นอนของตลาดทำให้นักลงทุนลดความเสี่ยง  โดยลดการลงทุนและหันมาถือเงินสดไว้เป็นจำนวนมาก  โดยเฉพาะในกลุ่มเศรษฐีใหม่ที่เกิดขึ้นช่วงเศรษฐกิจเติบโตเมื่อ 10-15 ปีที่ผ่านมา   โดยเงินสดเหล่านี้กำลังแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในการลงทุน

ทางภาคเอกชนเองก็มิได้อยู่เฉย  มีการตั้งกองทุน Impacts Venture ขึ้น กองทุนเหล่านี้กำลังมองหาโครงการซึ่งไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่วัดผลได้ชัดเจน และให้กำไรโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีกำไรสูงเหมือนการลงทุนทั่วไป 

ทั้งนี้มีการประมาณว่า impact investment จะเพิ่มจาก 420,910 ล้านเหรียญ สรอ.ในปี 2022 เป็น 495,820 ล้านเหรียญในปีนี้ และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 17.8 ต่อปี  โดยจะเพิ่มขึ้นเป็น 955,950 ล้านเหรียญ สรอ. ในปี 2027

ปัญหาหนี้สาธารณะที่มีต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของเอเชีย

จากการสำรวจของ Fidelity Charitable ในสหรัฐ พบว่า  นักลงทุน 1,200 คน ร้อยละ 60 มาจากกลุ่ม millennials (อายุ 27-42 ปี) โดยเงินทุนส่วนใหญ่มาจากนักลงทุนในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น อเมริกา และยุโรป  สำหรับเงินทุนจากประเทศไทยส่วนใหญ่จะไปลงทุนในแถบเอเชียและแปซิฟิก  อาทิ   ออสเตรเลีย  อินโดนีเซีย  จีน  และอินเดีย  เป็นต้น

ดังนั้น การออกแบบการลงทุนในระยะยาวที่เกี่ยวกับเป้าหมาย SDGs เพื่อจูงใจเจ้าของเงินเหล่านี้จึงเป็นโอกาสที่ภาครัฐควรพิจารณา และใช้จังหวะนี้ดึงเงินให้มาลงทุนในกิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมระยะยาว

โดยสรุปแล้วถึงแม้ประเทศไทยไม่จัดอยู่ในประเทศที่จะมีวิกฤติทางการคลัง  แต่ประเทศไทยก็ควรใช้จังหวะนี้ในการทบทวนนโยบายทางการคลัง  และปรับปรุงระบบการบริหารจัดการให้พร้อมสำหรับรับมือกับอนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

โดยเร่งหารือกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีโครงการเกี่ยวข้องกัน เพื่อกู้ร่วมกับร่วมกันเจรจากับผู้สนใจลงทุน  และสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมและสังคมใหม่ที่จะรองรับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคต.

ปัญหาหนี้สาธารณะที่มีต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของเอเชีย