เมื่อ ChatGPT ถูกถามเป็น ‘มิตร หรือ ศัตรู’ ทางไซเบอร์

เมื่อ ChatGPT ถูกถามเป็น ‘มิตร หรือ ศัตรู’ ทางไซเบอร์

ChatGPT เป็นโปรแกรมแชตบอตเอไอสร้างความว้าว ให้กับคนทั่วโลก รวมถึงคนไทยมากว่า 7 เดือนแล้ว เพราะช่วยเปิดประสบการณ์ใหม่ที่น่าตื่นเต้นเหมือนได้สนทนากับคนจริงๆ ทั้งที่มาจากฐานคลังข้อมูลออนไลน์ขนาดใหญ่ระดับโลก

OpenAI เป็นผู้พัฒนา ChatGPT และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพ.ย.2022 ในการทำหน้าที่ช่วยค้นหาข้อมูลทางออนไลน์ และช่วยจัดการแก้ไขปัญหาที่ยุ่งยากให้เป็นเรื่องง่าย แต่ชุมชนด้านความปลอดภัย (Security community) พากันส่งสัญญาณเตือน ChatGPT อาจจะสร้างมัลแวร์ และแพร่กระจายข้อมูลผิดๆ และบิดเบือนข้อเท็จจริง

เหตุใดต้องกังวลว่า ChatGPT จะส่งผลต่อความปลอดภัยทางไซเบอร์ ก็เพราะครั้งหนึ่งเอไอเคยเป็น "นิทานสอนใจ" ในภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ เมื่อเอไอถูกออกแบบมาให้เป็นผู้ช่วยของมนุษย์ และบางครั้งกลับมีความเฉลียวฉลาดเหนือกว่าคาดไว้ 

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เอไอได้เปลี่ยนฝันร้ายไปสู่การยอมรับในชีวิตประจำวัน นับตั้งแต่เมื่อปี 2002 ที่มีการเปิดตัวไอบอตดูดฝุ่นตัวแรกของโลก ที่รู้จักในชื่อ Roomba ไปจนถึงโปรแกรม Siri ผู้ช่วยเสมือนจริงบนสมาร์ตโฟนในปี 2011 และ ChatGPT ในปี 2022 

จะเห็นว่า เอไอได้เจาะตลาดเทคโนโลยีสำหรับผู้บริโภคอย่างช้าๆ แต่ก้าวอย่างมั่นคง โดยผู้ซื้อไม่อาจล่วงรู้ได้เลยว่า ปัญญาประดิษฐ์กำลังเป็นเทคโนโลยีกระแสหลักในชีวิตประจำวันเข้าเสียแล้ว หนึ่งในนั้นคือ ฟังก์ชันทำงานอยู่เบื้องหลังโทรศัพท์มือถือ ซึ่งขณะนี้กลายเป็นอวัยวะที่ 33 ของร่างกายมนุษย์ 

ยอดผู้ใช้งาน ChatGPT ในช่วงสองเดือนแรกหลังเปิดตัวเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว เป็นตัวเลขที่น่าทึ่งอยู่ที่ 100 ล้านคนทั่วโลก และเว็บไซต์บริษัท OpenAI มีผู้เข้าเยี่ยมชมมากกว่า 1 พันล้านคนต่อเดือนมาจนถึงตอนนี้ 

ในเมื่อ ChatGPT ไม่เหมือนแชตบอตอื่นๆ เพราะปกติแล้วจะตอบกลับผู้ใช้ได้เพียงบางหัวข้อเท่านั้น แต่ ChatGPT สามารถนำเสนอโปรเจกต์ ที่ปรึกษาทางธุรกิจ แต่งเนื้อ และทำนองเพลง ตอบคำถามทดสอบ จำลองห้องสนทนา เขียนโค้ดคอมพิวเตอร์และอื่นๆ อีกมากมาย 

หากแต่การทำงานของ ChatGPT เป็นการดึงข้อมูลที่มีอยู่แล้วในโลกออนไลน์ และมีความสัมพันธ์กับการทำงานของอัลกอริทึม ดังนั้นการสนทนาในหัวข้อที่ซับซ้อนของ ChatGPT อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยทางไซเบอร์

หากมีผู้ตั้งใจปล่อยข้อมูลลวงซ้ำๆ และแพร่หลายกว้างขวางจนอัลกอรึทึมจับข้อมูลเหล่านั้น และจัดอันดับว่ามีคุณค่า อาจทำให้ ChatGPT ไม่อาจล่วงรู้ได้กลายเป็นช่องทางหนึ่งในการปล่อยเฟคนิวส์ 

 

เมื่อ ChatGPT ถูกถามเป็น ‘มิตร หรือ ศัตรู’ ทางไซเบอร์

ขณะเดียวกัน ChatGPT ก็ทำหน้าที่ถามมาตอบไป และบอกไปตามที่อัลกอริทึมจับข้อมูลโดยไม่มีการคัดกรอง เช่น ถามถึงวิธีการสร้างระเบิดมือ ก็ถือเป็นการทำหน้าที่โดยสุจริต แต่อาจเป็นภัยคุกคามมนุษยชาติ  

นักพัฒนาโปรแกรมจากชาติตะวันตกหลายประเทศตั้งคำถามที่คล้ายกันว่า ChatGPT อาจเป็นลางสังหรณ์แห่งความตายหรือไม่ หรือเป็นโปรแกรมทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และผู้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่มีความสามารถระดับยูนิคอร์น 

แต่เหมือนว่าคำตอบจะเป็นสีเทา ซึ่งไม่ขาว และไม่ดำ เพราะต้องอาศัยผู้ใช้โปรแกรมอย่างมีจิตสำนึก 

สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะเป็นเสียงเตือนให้ตั้งรับหาวิธีป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ ด้วยการปรับหลักเกณฑ์การรักษาความปลอดภัยให้กับอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เพื่อการตรวจจับ และตอบสนองต่อภัยคุกคามแบบเรียลไทม์ และจะช่วยให้ธุรกิจต่างๆ เสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีให้สามารถต้านกระแสการโจมตีที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะมองหาโซลูชันการรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในปัจจุบัน

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์