เปิดสมรภูมิเดือดเอไอ 'อินวิเดีย' รับอานิสงส์ดีมานด์พุ่ง

เปิดสมรภูมิเดือดเอไอ 'อินวิเดีย' รับอานิสงส์ดีมานด์พุ่ง

เปิดสมรภูมิเดือดเอไอ "อินวิเดีย" (Nvidia) รับอานิสงส์ดีมานด์พุ่ง โดยความสนใจในปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) บานเป็นดอกเห็ดนับตั้งแต่โอเพนเอไอเปิดตัวแชตบอต “แชตจีพีที” เมื่อเดือน พ.ย.ปีก่อน สร้างความตกตะลึงให้ผู้คนกับความสามารถในการตอบคำถามสลับซับซ้อนเหมือนที่มนุษย์ทำ

แชตจีพีที (ChatGPT) พัฒนาโดยบริษัทสหรัฐ “โอเพนเอไอ” เป็นเอไอแชตบอตที่สามารถตอบคำถามป้อนโดยผู้ใช้ กลายเป็นความนิยมอย่างมากจุดประกายให้เกิดความสนใจในเอไอรู้สร้าง (เจเนอเรทีฟเอไอ) เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังแชตจีพีที

แต่จะว่าไปแล้วเอไอไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับยักษ์เทคโนโลยี ดิอีโคโนมิสต์รายงานว่า เมื่อปี 2557 เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งอเมซอนสอบถามทีมงานถึงวิธีฝังเอไอลงในผลิตภัณฑ์อเมซอน 2 ปีต่อมาซันดาร์ พิชัย บิ๊กบอสอัลฟาเบตเริ่มเรียกบริษัทของตนว่า “บริษัทเอไอแห่งแรก”

เทคโนโลยีนี้ช่วยให้ข้อมูลการขายและส่งสินค้าแก่อเมซอน ช่วยกูเกิลค้นสิ่งต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต แอ๊ปเปิ้ลนำไปใช้ใน Siri ไมโครซอฟท์ช่วยลูกค้าจัดการข้อมูลและแนะนำการโฆษณาที่ผู้คนมหาศาลพบเห็น

ยักษ์เทคโนโลยีมีทุกสิ่งทุกอย่างให้เติบโตและผนึกความโดดเด่นในยุคเอไอได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล พลังคอมพิวติง และผู้ใช้หลายพันล้านคน แต่พวกเขายังจำได้ถึงชะตากรรมของเจ้าใหญ่อย่างโกดักและแบล็กเบอร์รี ที่พลาดการเปลี่ยนแปลงแพลตฟอร์มดิจิทัลรอบก่อนจนต้องล้มละลายหรือไม่ใช่บริษัทเทคอีกต่อไป ดังนั้นไม่ว่าเอไอจะรุ่งหรือร่วง บิ๊กเทคล้วนไม่อยากพลาดต่างทุ่มเม็ดเงินลงทุนกับเทคโนโลยีนี้

ในปี 2565 ห้าบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ที่เรียกกันว่า บิ๊กไฟว์ ทุ่มเม็ดเงินวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) 2.23 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 1.09 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2562 ท่ามกลางวิกฤติตลาดหุ้นนำโดยภาคเทคโนโลยีนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายฝ่ายทุน 1.61 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 2 เท่าใน 3 ปี เท่ากับว่าทั้งหมดนี้คิดเป็น 26% ของรายได้ห้าบริษัทรวมกันในปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 16% ในปี 2558

เพื่อค้นหาว่าบิ๊กไฟว์ทุ่มเทกับเอไออย่างไรและมากน้อยแค่ไหน ดิอีโคโนมิสต์วิเคราะห์ข้อมูลการลงทุน การซื้อกิจการ การรับสมัครงาน จดลิขสิทธิ์ รายงานการวิจัย และโปรไฟล์พนักงานในลิงค์อิน ผลการทดสอบพบว่ามีการทุ่มเททรัพยากรลงไปกับเทคโนโลยีอย่างจริงจัง ข้อมูลจากบริษัทวิจัยพิตช์บุคระบุ การเข้าซื้อและลงทุนตั้งแต่ปี 2562 เกือบ 1 ใน 5 เป็นการลงทุนในบริษัทเอไอ กลุ่มที่พุ่งเป้าคริปโทเคอร์เรนซี, บล็อกเชน และเว็บ3 ที่ไม่มีตัวกลางอื่นๆ คิดเป็นสัดส่วน 2% หรือมากกว่านั้น ลงทุนในวีอาร์เมตาเวิร์ส 6% ซึ่งสองเทคโนโลยีนี้แผ่วลงในช่วงหลัง

ขณะที่ข้อมูลจากพรีดิคท์ลีดส์ บริษัทวิจัยอีกหนึ่งรายชี้ว่า หนึ่งในสิบของงานในบริษัทบิ๊กเทคต้องการทักษะด้านเอไอ พอๆ กับโปรไฟล์พนักงานบิ๊กเทคในลิงค์อินที่บอกว่า พวกเขาทำงานในด้านนี้

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวไม่สะท้อนความแตกต่างระหว่างบิ๊กไฟว์ แต่จากมาตรวัดของดิอีโคโนมิสต์ ดูเหมือนว่าไมโครซอฟท์และอัลฟาเบตเป็นผู้นำในการแข่งขัน เมตามีแววเอาชนะได้ในเร็วๆ นี้ ที่น่าสนใจคือทั้งห้าบริษัทกำลังตัดสินใจทุ่มเทความพยายาม พิจารณาจากการลงทุนในหุ้นไม่ใช่การซื้อกิจการทั้งหมด ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา บิ๊กเทคซื้อหุ้นในบริษัทเอไอกว่า 200 แห่ง นับวันก็ยิ่งลงทุนมากขึ้น ตั้งแต่ต้นปี 2565 บิ๊กไฟว์ลงทุนในผู้เชี่ยวชาญเอไอเดือนละคน 3 เท่าของอัตราในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

กรณีไมโครซอฟท์ ดีลหนึ่งในสามทำกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเอไอ ตัวเลขนี้คิดเป็นสองเท่าของอัลฟาเบทและอเมซอน (แกรเดียนท์เวนเจอร์ บริษัทเวนเจอร์แคปิตอลแห่งหนึ่งของอัลฟาเบทลงทุนเฉพาะในบริษัทเอไอ และสนับสนุนสตาร์ทอัพเกือบ 200 แห่งตั้งแต่ปี 2562) การลงทุนของไมโครซอฟท์มากกว่าเมตากว่าหกเท่า ไม่ต้องเทียบกับแอ๊ปเปิ้ลที่ไม่ลงทุนแบบนี้เลย

ไมโครซอฟท์ทุ่มเทกับโอเพนเอไอมากที่สุด ฟีเจอร์ใหม่ของไมโครซอฟท์ใช้เทคโนโลยีของโอเพนเอไอรวมถึงเสิร์ชเอนจิน “บิง” การลงทุน 1.1 หมืื่นล้านดอลลาร์ของไมโครซอฟท์ทำให้บริษัทถือหุ้น 38% ในโอเพนเอไอ ว่ากันว่าสตาร์ทอัพรายนี้มีมูลค่าถึง 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์

การลงทุนในหุ้นอื่นๆ ที่โดดเด่นของไมโครซอฟท์ เช่น D-Matrix บริษัททำเทคโนโลยีเอไอเพื่อศูนย์ข้อมูล และโนเบิลเอไอ ที่ใช้อัลกอริธึมปรับปรุงการทำงานในห้องปฏิบัติการและโครงการวิจัยและพัฒนาอื่นๆ

นอกจากนี้ไมโครซอฟท์ยังสนใจในสตาร์ทอัพเอไอเต็มรูปแบบ คิดเป็นราวหนึี่งในสี่ของการเข้าซื้อเช่น Nuance ซึ่งพัฒนาการรับรู้เสียงเพื่อการดูแลสุขภาพ สัดส่วนของไมโครซอฟท์คล้ายกับเมตาที่สนใจซื้อกิจการมากกว่าลงทุนทีละน้อย

การจ้างคนก็เหมือนกับการลงทุน บิ๊กเทคจ้างผู้เชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น ช่วงสามปีที่ผ่านมากูเกิล, เมตา และไมโครซอฟท์ต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอเป็นจำนวนมาก

ข้อมูลจากพรีดิคท์ลีดส์ชี้ว่า ตั้งแต่ปี 2562 ตำแหน่งงานที่อัลฟาเบทต้องการเกือบหนึ่งในสี่เป็นงานด้านเอไอ เมตาตามมาเป็นที่ 2 สัดส่วน 8%

ข้อมูลจากลิงค์อิน พนักงานอัลฟาเบทหนึ่งในหกอ้างในโปรไฟล์ว่ามีทักษะด้านเอไอ ตามหลังเมตาเล็กน้อยแต่ก็เหนือกว่าไมโครซอฟท์ (แอ๊ปเปิ้ลและอเมซอนตกหลังสุด)

ผู้เชี่ยวชาญสังเกตว่า ความต้องการคนเก่งเอไอยังคงร้อนแรง แม้เมื่อเร็วๆ นี้บิ๊กเทคจะปลดคนก็ตาม

บิ๊กเทคจีนเอาด้วย 

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. อาลีบาบา ยักษ์เทคโนโลยีจากจีนเปิดตัวเทคโนโลยีสไตล์แชตจีพีที หวังเป็นผู้นำการแข่งขันด้านเอไอในแดนมังกร

หลังจากเดือนก่อน อาลีบาบาเปิดตัวทงอี้เชี่ยนเหวิน โมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่สามารถเทรนข้อมูลมหาศาลให้ยอมรับและสร้างคอนเทนท์ได้

แผนกคลาวด์คอมพิวติงของอาลีบาบา  ซึ่งรับผิดชอบงานด้านเอไอกล่าวเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ว่า ทงอี้เชี่ยนเหวินจะถูกรวมเข้ากับระบบผู้ช่วยดิจิทัลทงอี้ทิงอู๋

ช่วยให้ทิงอู๋เข้าใจและวิเคราะห์มัลติมีเดียคอนเทนต์ได้ด้วยความแม่นยำสูง และมีประสิทธิภาพสูง เช่น การสรุปคอนเทนต์จากไฟล์วิดีโอและไฟล์เสียงให้เป็นข้อความ การจับประเด็นสำคัญของผู้พูดแต่ละราย และการสร้างไทม์ไลน์ของไฟล์มัลติมีเดียด้วยการสรุปแต่ละส่วน

ขณะนี้ทงอี้ทิงอู๋ทดสอบสาธารณะแล้ว ทั้งยังผสานเข้ากับติงทอล์ค (Ding Talk) บริการส่งข้อความเน้นธุรกิจโดยอาลีบาบา

“เราอยู่ในช่วงเวลาที่การบริโภคคอนเทนท์วีดิโอและคลิปเสียงในทุกรูปแบบกำลังเพิ่มขึ้นทุกขณะ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทงอี้ทิงอู๋ตั้งเป้าใช้โมเดลภาษาขนาดใหญ่เอื้อให้เกิดการเข้าใจได้ดีขึ้น เร็วขึ้น และแชร์คอนเทนท์มัลติมีเดียได้ง่ายขึ้น” เจ้าจิงเหริน ประธานเจ้าหน้าที่เทคนิค (ซีทีโอ) อาลีบาบาคลาวด์อินเทลลิเจนซ์ระบุในแถลงการณ์

อาลีบาบากล่าวด้วยว่า จะเผยรายละเอียดฟีเจอร์ของทงอี้ทิงอู๋เพิ่มเติมหลังจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแปลภาษาอังกฤษ-จีนแบบเรียลไทม์สำหรับคอนเทนท์มัลติมีเดีย ซึ่งบริการนี้จะใช้กับกูเกิลโครห์ม

โฆษกอาลีบาบารายหนึ่งกล่าวกับซีเอ็นบีซี อาลีบาบาจะทำงานกับลูกค้าคลาวด์ระดับบริษัท โดยทงอี้เชียนเหวินสร้างผลิตภัณฑ์เอไอปรับแต่งตามใจลูกค้า

การเปิดตัวล่าสุดของอาลีบาบาเกิดขึ้นในช่วงที่เหล่ายักษ์ใหญ่เทคโนโลยีจีนกำลังประโคมข่าวความสามารถของเอไอบริษัทตนเพื่อกระตุ้นการเติบโตของภาคธุรกิจที่เคยเจ็บหนัก จากการที่เศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัวและรัฐบาลปักกิ่งควบคุมภาคเทคโนโลยีอย่างเข้มงวด

เมื่อเดือน มี.ค. ยักษ์ใหญ่เสิร์ชเอนจินจีน “ไป่ตู้” เปิดตัวเออร์นีบอต คู่แข่งแชตจีพีที แต่บริษัทกำลังรอการอนุมัติก่อนนำมาใช้ ทั้งยังมีแผนนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้กับทุกผลิตภัณฑ์ของบริษัท

น่าสังเกตว่า ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีจีนระมัดระวังกับการพัฒนาเอไอ เนื่องจากรัฐบาลปักกิ่งคุมเข้มออกกฎระเบียบมากมาย แม้แต่แชตจีพีทีเองก็ถูกบล็อกในจีน

บริษัทเทคโนโลยีจีน อาทิ อาลีบาบา เทนเซ็นต์ และไป่ตู้ต่างต้องการทำตามกฎระเบียบจึงยังไม่เปิดตัวเทคโนโลยีเอไอคู่แข่งแชตจีพีทีเป็นวงกว้าง แต่เลือกที่จะเน้นเทคโนโลยีเอไอของตนกับบางสาขาเป็นการเฉพาะแทน

ถอดบทเรียนอินวิเดีย 

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า หุ้นอินวิเดีย (Nvidia) บริษัทออกแบบชิปพุ่งขึ้นช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน พ.ค. หนุนมูลค่าบริษัทเหนือหมุดหมาย 1 ล้านล้านดอลลาร์ ร่วมขบวนกับบิ๊กเทคสหรัฐอย่างแอ๊ปเปิ้ล, อเมซอน, อัลฟาเบท และไมโครซอฟท์

ราคาหุ้นที่พุ่งขึ้นเป็นผลจากรายงานผลประกอบการรายไตรมาสครั้งล่าสุด ที่อินวิเดียเผยว่าเพิ่มการผลิตชิปเพื่อตอบสนอง “ความต้องการที่พุ่งขึ้นมาก”

การแข่งขันกันด้านเอไอกลายเป็นว่าอินวิเดียได้ประโยชน์ไปเต็มๆ ในฐานะเจ้าตลาดชิปที่ใช้สำหรับระบบเอไอ

ทั้งนี้ เอไอจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่มีฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ทรงพลัง โดยเฉพาะชิปจากอินวิเดียที่มีฐานปฏิบัติการในแคลิฟอร์เนีย เดิมทีบริษัทนี้โด่งดังในฐานะผู้ผลิตการ์ดจอหรือชิปจีพียู (Graphic Processing Unit) ปัจจุบันฮาร์ดแวร์ของอินวิเดียคือส่วนประกอบสำคัญของแอพพลิเคชันเอไอส่วนใหญ่

“อินวิเดียเป็นผู้เล่นชั้นนำในสิ่งใหม่ที่เรียกกันว่าปัญญาประดิษฐ์ สิ่งที่อินวิเดียทำกับเอไอแทบจะคล้ายกันกับที่อินเทลทำกับพีซี” อลัน พรีสต์ลีย์ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของการ์ตเนอร์และแดน ฮัตชิสัน นักวิเคราะห์จากเทคอินไซต์ให้ความเห็นกับบีีบีซี

แชตจีพีทีถูกเทรนให้ใช้จีพียูอินวิเดียรวมกันถึง 10,000 ตัวในซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของไมโครซอฟท์

ปัจจุบันอินวิเดียครองตลาดจีพียูสำหรับแมชชีนเลิร์นนิง 95% ขณะที่ชิปเอไอซึ่งขายในระบบที่ออกแบบมาเพื่อศูนย์ข้อมูลอยู่ที่ตัวละราว10,000 ดอลลาร์ แต่เวอร์ชันล่าสุดทรงพลังที่สุดแพงกว่านี้มาก

หากจะสรุปความสำเร็จของอินวิเดียในการเป็นผู้เล่นหลักของการปฏิวัติเอไอ กล่าวได้ว่าอยู่ที่การเดิมพันกับเทคโนโลยีของตนเองอย่างหนักผสมกับช่วงจังหวะเวลาดี

เจนเซน หวง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) อินวิเดีย เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2536 ตอนนั้นเน้นผลิตการ์ดจอคุณภาพสูงสำหรับเกมและแอพพลิเคชันอื่นๆ

ปี 2542 อินวิเดียพัฒนาจีพียูที่ปรับปรุงการแสดงภาพบนคอมพิวเตอร์ได้ดียิ่งขึ้น ประมวลผลงานเล็กๆ หลายๆ งานได้พร้อมๆ กัน (เช่น จัดการภาพหลายล้านพิกเซลบนจอได้) กระบวนการนี้เรียกว่าการประมวลผลแบบขนาน

ปี 2549 คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดพบว่าจีพียูใช้งานอย่างอื่นได้อีก นั่นคือเร่งการคำนวณทางคณิตศาสตร์ในวิถีที่ชิปประมวลผลปกติทำไม่ได้ ณ เวลานั้นหวงจึงตัดสินใจครั้งสำคัญพัฒนาเอไออย่างที่โลกรู้จักในทุกวันนี้

เขาลงทุนนำทรัพยากรของอินวิเดียสร้างเครื่องมือที่ทำให้จีพียูติดตั้งโปรแกรมได้ เพิ่มขีดความสามารถการประมวลผลแบบขนานให้ใช้งานได้มากกว่าด้านกราฟฟิก เครื่องมือดังกล่าวถูกรวมเข้ากับชิปคอมพิวเตอร์ของอินวิเดีย ความสามารถนี้ไม่จำเป็นสำหรับนักเล่นเกมคอมพิวเตอร์ เผลอๆ พวกเขาอาจไม่รู้ว่ามีด้วยซ้ำ แต่สำหรับนักวิจัย นี่คือวิธีใหม่ในการประมวลผลประสิทธิภาพสูงบนฮาร์ดแวร์สำหรับผู้บริโภคเป็นความสามารถที่ช่วยจุดประกายให้เกิดเอไอทันสมัยในยุคแรกๆ

อินวิเดียเดินหน้าต่อด้วยการลงทุนพัฒนาจีพียูใหม่ๆ ที่เหมาะกับเอไอรวมถึงซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้ใช้เทคโนโลยีนี้ได้ง่ายขึ้น

สิบปีต่อมาหลังจากทุ่มเงินไปหลายพันล้านดอลลาร์ แชตจีพีทีบังเกิดขึ้นเป็นบทพิสูจน์ของอินวิเดีย แต่อนาคตของบริษัทยังประมาทไม่ได้ เควิน เครเวลล์ นักวิเคราะห์จากTIRIAS Research กล่าวว่า แม้มั่นใจได้ในความเป็นเจ้าของอินวิเดียในขณะนี้ แต่อนาคตยากจะทำนาย “อินวิเดียเป็นบริษัทหนึ่งที่ใครๆ ก็อยากโค่น” เครเวลล์กล่าว