ญี่ปุ่นมอบ 5 ล้านดอลล์ซับน้ำตาเหยื่อเขื่อนแตกในยูเครน

ญี่ปุ่นมอบ 5 ล้านดอลล์ซับน้ำตาเหยื่อเขื่อนแตกในยูเครน

รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศมอบเงิน 5 ล้านดอลลาร์ ซับน้ำตาเหยื่อเขื่อนแตกในยูเครน ขณะหน่วยข่าวกรองสหรัฐ ตั้งข้อสงสัยว่า รัสเซียอยู่เบื้องหลังการระเบิดเขื่อน แต่ยังขาดหลักฐานแน่นหนาที่จะบ่งชี้ฝ่ายที่ต้องออกมารับผิดชอบไม่ได้

นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์  เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ในวันศุกร์(9มิ.ย.)พร้อมระบุว่า ญี่ปุ่นจะมอบเงินจำนวน 5 ล้านดอลลาร์แก่ยูเครน เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพังทลายของเขื่อนคาคอฟกา จนทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ทางใต้ของแคว้นเคอร์ซอนของยูเครน

ทั้งนี้ นายคิชิดะได้แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ที่ต้องอพยพออกจากบ้านเรือน หลังจากที่เขื่อนดังกล่าวถูกทำลายจากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ขณะที่ยูเครนและรัสเซียต่างกล่าวหาซึ่งกันและกัน

สำนักงานความมั่นคงยูเครน (SBU) แถลงว่า SBU สามารถบันทึกเสียงสนทนาระหว่างทหารรัสเซีย 2 นาย ซึ่งเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่ารัสเซียเป็นฝ่ายทำลายเขื่อนคาคอฟกา

อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวหาว่ายูเครนเป็นฝ่ายโจมตีเขื่อนดังกล่าวตามการบงการของชาติตะวันตก

ขณะหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ รายงานอ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่สหรัฐรายหนึ่งที่กล่าวว่า ดาวเทียมสอดแนมของสหรัฐสามารถจับภาพเหตุการณ์ขณะเกิดการระเบิดที่เขื่อนคาคอฟกา ก่อนที่เขื่อนดังกล่าวถูกทำลายในเวลาต่อมา

เจ้าหน้าที่รายนี้ กล่าวว่า หน่วยข่าวกรองสหรัฐตั้งข้อสงสัยว่า รัสเซียอยู่เบื้องหลังการระเบิดเขื่อนดังกล่าว แต่ก็ยังขาดหลักฐานแน่นหนาที่จะบ่งชี้ฝ่ายที่ต้องออกมารับผิดชอบ

ทั้งนี้ รัสเซียได้ยึดครองเขื่อนคาคอฟกานับตั้งแต่ปีที่แล้ว

หลังเขื่อนแตก ประชานชาวยูเครนหลายแสนคนไม่มีน้ำดื่ม และอีกอย่างน้อย 16,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย  โดยมวลน้ำไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือน และเสี่ยงเกิดหายนะด้านนิเวศวิทยา ที่ผู้นำยูเครนเปรียบเทียบว่าเป็นระเบิดทำลายล้างทางสิ่งแวดล้อม

ประธานาธิบดีเซเลนสกี โพสต์ในโซเชียลมีเดียว่า การทำลายเขื่อนในเมืองโนวา คาคอฟกา ในภูมิภาคเคอร์ซอน ซึ่งเป็นหนึ่งในอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดของยูเครนเกิดขึ้นโดยเจตนาอย่างสิ้นเชิง ส่งผลให้ประชาชนหลายแสนคนไม่มีน้ำดื่มบริโภค

นอกจากนี้ ยังบอกด้วยว่า การอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ประสบภัยใกล้เขื่อนซึ่งอยู่ในพื้นที่ยึดครองของรัสเซียไม่สามารถทำได้ และเรียกร้องให้องค์กรระหว่างประเทศให้ความช่วยเหลือ โดยบอกว่า สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ อพยพประชาชน และเร่งจัดหาน้ำดื่มโดยด่วน และเตรียมแผนระยะยาวสำหรับชุมชนที่ต้องพึ่งพาน้ำจากอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน  

ด้านกระทรวงเกษตของยูเครน ประเมินว่า การทำลายเขื่อนที่เป็นส่วนหนึ่งของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ อาจส่งผลให้พื้นที่อย่างน้อย 1.2 ล้านเอเคอร์ในภาคใต้ของยูเครนกลายเป็นทะเลทรายภายในปีหน้า  โดยน้ำจากเขื่อนจะไม่สามารถเข้าสู่คลองชลประทาน 31 แห่งในภูมิภาคดนีโปร, เคอร์ซอน และซาปอริซเซียได้