‘เงินเฟ้อพุ่ง-เศรษฐกิจซึม’ โจทย์ใหญ่ปธน.สมัย3 ตุรกี

‘เงินเฟ้อพุ่ง-เศรษฐกิจซึม’ โจทย์ใหญ่ปธน.สมัย3 ตุรกี

‘เงินเฟ้อพุ่ง-เศรษฐกิจซึม’ โจทย์ใหญ่ปธน.สมัย3 ตุรกี โดย‘เออร์ดวน’คว้าชัยศึกเลือกตั้งด้วยคะแนน 52.14% แซงหน้า‘คิลิกดาโรกลู’ คู่แข่งจากพรรคฝ่ายค้านที่ได้คะแนน 47.86%

ผลเลือกตั้งตุรกีที่ประธานาธิบดีคว้าชัยเหนือคู่แข่งมาได้แบบฉิวเฉียด ทำให้พอจะคาดการณ์ได้ไม่ยากว่า ประธานาธิบดีเออร์ดวนที่ได้นั่งบริหารประเทศต่อเป็นสมัยที่ 3 ต้องเจอปัญหาท้าทายอะไรบ้างที่รออยู่ข้างหน้า หลังชื่นชมยินดีกับชัยชนะที่คว้ามาได้

คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กลต.)ของตุรกี แถลงยืนยันว่า  ประธานาธิบดีเรเซป เตย์ยิป เออร์ดวน ของตุรกี คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ส่งผลให้เขาได้นั่งตำแหน่งประธานาธิบดีตุรกีติดต่อกันเป็นสมัยที่ 3

เออร์ดวนคว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วยคะแนน 52.14% แซงหน้า“เคมัล คิลิกดาโรกลู” คู่แข่งจากพรรคฝ่ายค้านที่ได้คะแนน 47.86%

การที่ประธานาธิบดีเออร์ดวนคว้าชัยในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้เขาได้อยู่ในตำแหน่งต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปี หลังจากที่บริหารตุรกีมาแล้วเกือบ 20 ปี ถือเป็นผู้นำที่บริหารประเทศยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ “มุสตาฟา เคมัล อตาเติร์ก” ผู้ก่อตั้งประเทศตุรกีสมัยใหม่หลังการล่มสลายของอาณาจักรออตโตมานเมื่อประมาณหนึ่งร้อยปีก่อน

ประธานาธิบดีเออร์ดวน ซึ่งปัจจุบันอายุ 69 ปี ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ประชาชนที่ชอบแนวคิดชาตินิยมและอนุรักษ์นิยม โดยที่ผ่านมา เขาเน้นหาเสียงโจมตีคู่แข่งในประเด็นเสรีนิยม พร้อมทั้งเรียกขานคิลิชดาโรกลูว่า เป็นผู้สนับสนุนกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ( LGBTQ)

หลังผลการนับคะแนนยืนยันแน่ชัดว่าประธานาธิบดีเออรฺดวนคว้าชัยในศึกเลือกตั้งนี้ บรรดาผู้นำประเทศต่างๆก็ออกมาแสดงความยินดี ทั้ง ผู้นำอิหร่าน, อิสราเอล, ซาอุดิอาระเบีย และผู้นำฝรั่งเศส โดยประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส แสดงความยินดีต่อชัยชนะของปธน.เออร์ดวน พร้อมทั้งบอกว่า ตอนนี้ฝรั่งเศสและตุรกีเผชิญความท้าทายอันใหญ่หลวงร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์ต่างมีความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า ประธานาธิบดีตุรกีซึ่งยอมรับว่า การแก้ปัญหาเงินเฟ้อ เป็นเรื่องเร่งด่วนของประเทศพร้อมจะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อแก้ปัญหานี้หรือไม่ โดยอัตราเงินเฟ้อต่อปีของตุรกีทะยานเกือบ 44% จนส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกภาคส่วน

ราคาอาหาร ค่าเช่า และราคาสินค้าอื่น ๆ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ประธานาธิบดีเออร์ดวน ไม่ยอมขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญเพื่อจำกัดภาวะเงินเฟ้อ

‘เงินเฟ้อพุ่ง-เศรษฐกิจซึม’ โจทย์ใหญ่ปธน.สมัย3 ตุรกี
 

“ถ้ารัฐบาลยังเดินหน้าใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไป ตามที่ประธานาธิบดีส่งสัญญาณ วิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ คือการควบคุมงบประมาณให้เข้มงวดขึ้น” เซลวา เดมิราล์ป ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยค็อก ในนครอิสตันบูล กล่าว

ที่ผ่านมา รัฐบาลตุรกีมีนโยบายผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นและลดปัญหาค่าครองชีพในหมู่ประชาชน โดยเริ่มใช้นโยบายใหม่ๆในปี 2566 แต่ดูเหมือนยังไม่ได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าแม้อัตราเงินเฟ้อในตุรกีจะสูง แต่ธนาคารกลางของประเทศกลับปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1.5% ในเดือนต.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเงินมาหลายไตรมาสติดต่อกัน

นอกจากนี้ ธนาคารกลางตุรกียังลดดอกเบี้ยลง 1% ในเดือนส.ค.และอีกครั้งในเดือนก.ย. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ จนทำให้เกิดคำถามจากบรรดาผู้เชีี่ยวชาญมากมายว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ผลหรือไม่ คำตอบคือได้ผลในระดับหนึ่งแต่ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวมให้ดีขึ้นได้

ทางการตุรกีรายงานอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 อยู่ที่ 7.6% ขณะที่หลาย ประเทศพยายามที่จะสร้างอัตราการเติบโตของจีดีพีที่ 1% ให้ได้ โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของตุรกีได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น 22%

ในส่วนของค่าเงินลีราของตุรกี มีการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ โดยหลังผลเลือกตั้งชี้ชัดว่า ประธานาธิบดีเออร์ดวนได้บริหารประเทศต่อ ค่าเงินลีราก็ปรับตัวร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในวันจันทร์ (29 พ.ค.)

เงินลีราอ่อนค่าแตะระดับ 20.0608 ลีราต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงสั้น ๆ เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น.ของวันจันทร์ตามเวลาตุรกี หลุดระดับต่ำสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

“แบรนดอน แมคเคนนา” นักวิเคราะห์ด้านตลาดเกิดใหม่ของธนาคารเวลส์ฟาร์โกให้สัมภาษณ์ในรายการ Squawk Box Asia ของสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า “เรามีมุมมองเชิงลบเกี่ยวกับแนวโน้มของค่าเงินลีราและเศรษฐกิจของตุรกีภายหลังจากเออร์ดวนคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง”

แมคเคนนา คาดการณ์ว่า ค่าเงินลีราจะดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดระดับใหม่ที่ 23 ลีราต่อดอลลาร์สหรัฐภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ จากนั้นจะร่วงลงแตะ 25 ลีราต่อดอลลาร์สหรัฐในปีหน้าเป็นอย่างเร็ว โดยเงินลีราสูญเสียมูลค่าไปประมาณ 77% ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า การดำเนินนโยบายการเงินของตุรกีเน้นเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการแข่งขันด้านการส่งออก แทนที่จะเป็นการสกัดเงินเฟ้อ โดยเออร์ดวนมองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นมุมมองที่แตกต่างจากปกติที่มองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยสกัดเงินเฟ้อ