‘ทูตสีหศักดิ์’ แนะรัฐบาลใหม่ ฟื้นบทบาทผู้นำไทย กลับคืนจอเรดาร์

‘ทูตสีหศักดิ์’ แนะรัฐบาลใหม่ ฟื้นบทบาทผู้นำไทย กลับคืนจอเรดาร์

ท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์ และประเทศต่างๆ ที่แข่งขันแสดงบทบาทนำในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ได้กลายเป็นความท้าทายที่สำคัญด้านการต่างประเทศของว่าที่รัฐบาลนำโดยพรรคก้าวไกล ชูการต่างประเทศ 3R Revive Rebalance Recalibrate ผลักดันบทบาทผู้นำของไทย คืนสู่ชั้นแนวหน้าระดับภูมิภาค

สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว” อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงปารีส และอดีตประธานคระมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ให้ความเห็นต่อเรื่องเหล่านี้ว่า สิ่งหนึ่งต้องยอมรับระยะหลังนี้ บทบาทประเทศไทยในเวทีโลกลดลงไปมาก เมื่อพูดถึงอาเซียน หรือผู้นำระดับโลกมาเยือนอาเซียน จะสังเกตว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นอันดับแรกๆ ที่เขามาเยือน 

เมื่อพูดถึงภูมิภาคเอเชียที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทนำ ซึ่งมีจีน อินเดีย และอาเซียน แต่คำว่าอาเซียนก็จะหมายถึงอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ส่วนไทยมักไม่ได้รับการกล่าวถึงในฐานะ "บทบาทนำ"

บทบาทนำ ‘ไทย’ หายไป

ก่อนหน้านี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้พูดถึงแนวทาง 3 R ได้แก่ Revive (ฟื้นฟู)  Rebalance (ปรับสมดุล)  และสุดท้ายคือ Recalibrate (ปรับมาตรฐาน) 

ทูตสีหศักดิ์กล่าวว่า เมื่อดูจุดแข็งของการทูตไทยมีหลายด้าน แต่ล่าสุดผมเจอทูตต่างชาติและเพื่อนที่อยู่ในวงการต่างประเทศของอาเซียนหลายคน ล้วนมีความเห็นคล้ายกันว่าการต่างประเทศของไทยมุ่งเน้นในประเทศเป็นหลัก ( domestic oriented )

บ้างก็ว่าบทบาทนำของไทยหายไป (missing links) ในอาเซียนและยังดำเนินการต่ำกว่าความสามารถของประเทศไทย (under perform) ทั้งที่ศักยภาพไทยเป็นเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 23 ของโลกและอันดับ 2 ของอาเซียน อีกทั้งตั้งอยู่ตรงกลางยุทธศาสตร์ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก 

สิ่งสำคัญไทยมีธรรมเนียมประเพณีทางการทูตที่ยาวนาน  ทุกคนยอมรับในความสามารถของนักการทูตไทย  ที่ผ่านมาไทยกำหนดท่าทีที่สมเหตุสมผล และสร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นสะพานเชื่อมประเทศต่างๆได้อย่างดี เช่น ไทยได้รับเลือกเป็นประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี 2553 - 2554 หรือไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) วาระปี 2563 - 2565

‘เมียนมา’ พิสูจน์ศักยภาพการทูตไทย

“ในส่วน Revive (ฟื้นฟู) ไม่ใช่เราไม่มีสิ่งเหล่านี้ แต่ขณะนี้เรายังมีสิ่งเหล่านี้อยู่ และความสามารถของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศทุกคนก็ยังมีอยู่และทำงานได้ดี  แต่ระยะหลังนี้เราดำเนินนโยบายแบบเท่าที่จำเป็นด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม โดยไม่ได้วางยุทธศาสตร์ในระยะยาวในหลายเรื่อง” สีหศักดิ์กล่าวและชี้ว่า เรื่องที่สำคัญที่เป็นประโยชน์ของไทยโดยตรงและเป็นโอกาสที่จะแสดงบทบาทนำของไทยนั้นคือ “เมียนมา” แต่ก็กลับไปเน้นประเด็นเฉพาะหน้าด้านความมั่นคงชายแดนเป็นหลัก

นายสีหศักดิ์ กล่าวเสนอแนะว่า ถึงเวลาไทยต้องสนับสนุนอาเซียนอย่างจริงจังหรือไม่ ส่วนตัวเห็นด้วยกับการเปิดให้พูดคุยกับรัฐบาลทหารเมียนมา แต่การพูดคุยก็ต้องสื่อสารให้เขาทราบสถานการณ์ความเป็นห่วงและความจำเป็นที่ต้องมีการปองดองและหารือกับฝ่ายต่างๆในเมียนมา 

แต่เกรงว่าการที่ไทยไปพูดคุยกับเมียนมาแต่ละครั้งแล้วไม่มีการแถลงออกไปว่าไทยกำลังทำอะไรอยู่  ซึ่งอาจเสี่ยงถูกตีความว่าเป็นนโยบายช่วยปกป้องรัฐบาลเมียนมา และช่วยลดกระแสกดดันเมียนมา

ส่วนเส้นทางที่จะทำให้ไทยได้แสดงบทบาทนำเรื่องเมียนมามีอยู่มากมาย เช่น ฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนเกี่ยวกับเมียนมา  ไทยเองก็มีการเจรจา “Track  1.5” เพื่อหารืออย่างไม่เป็นทางการกับเมียนมา ซึ่งที่ผ่านมาได้เชิญประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆมาร่วมด้วย แต่ครั้งหน้าจะขยายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆในเมียนมาเข้าร่วมด้วยจะเยี่ยมมาก 

นายสีหศักดิ์กล่าวว่า การที่จีนมีบทบาทสำคัญและรัฐมนตรีต่างประเทศจีนและผู้แทนพิเศษของเขาก็เพิ่งไปเยือนเมียนมา รวมทั้งญี่ปุ่นก็มีบทบาทในเรื่องนี้  ส่วนตัวมองว่าไม่ควรเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ  แต่สามารถประสานทุกช่องทางให้เป็นประโยชน์เพราะบทบาททุกประเทศมีความสำคัญทั้งนั้น 

สร้างสมดุลย์มหาอำนาจอย่างชาญฉลาด

สำหรับ Rebalance  ไทยต้องการเป็นมิตรกับทุกประเทศ โดยไม่อาจ “เข้าข้างเข้าค่าย” (กลุ่ม) ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรืออยู่ห่าง และก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นกลางอยู่ตลอดเวลา  ซึ่งบางครั้ง “การวางตัวเป็นกลาง” และไม่เข้าข้างใดๆเลยก็อาจจะทำให้สูญเสียผลประโยชน์ของเราเหมือนกัน

ดังนั้นการ “สร้างความสมดุลย์”  ก็ไม่ได้หมายถึงเท่าเทียมกันอยู่ตลอดเวลา  เพราะต้องดูว่าเรื่องนั้นผลประโยชน์เราอยู่ตรงไหน

 ส่วนกรณีที่นายพิธาเคยพูดไว้ว่า จะไม่ดำเนินนโยบายการทูตไผ่ลู่ลม นายสีหศักดิ์กล่าวว่า แน่นอนเราไม่จำเป็นต้องไปเข้าข้างเข้าค่ายใดเลย  โดยเฉพาะการ “ให้ความสำคัญกับมหาอำนาจเท่าเทียมกัน”  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราปฏิบัติให้เท่าเทียมกันในทุกๆกรณีและอยู่ตลอดเวลา ทั้งหมดนี้ต้องพิจารณาตาม “หลักการที่ยึดถือและผลประโยชน์ของไทย” อยู่ตรงไหนก็สามารถสื่อสารไปยังประเทศนั้นๆได้รู้แนวทางของเรา

“หัวใจสำคัญของการ Rebalancing นั่นคือทำให้ประเทศต่างๆเห็นความสำคัญของไทยด้วย  เราถึงจะมีอำนาจต่อรอง  ซึ่งเสียงไทยจะดังพอที่ทำให้ประเทศต่างๆได้ยินก็ต้องย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นในเรื่องการแสดงบทบาทนำ ถ้าเราไม่ทำในเรื่องนี้ การ Rebalancing ก็คงไม่เกิดประโยชน์ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการยืนหยัดในจุดยืนของไทยอย่างหนักแน่น” ปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าว 

เตือนจุดกระแสกระทบต่างชาติบนโซเชียล

นายสีหศักดิ์กล่าวว่า ในส่วนการปรับมาตรฐาน หรือ Recalibrate เราอาจต้องมองไปไกลกว่าประเทศไทย แต่ต้องมองไทยในฐานะเป็นส่วนหนึ่งในสังคมโลก  ซึ่งต้องมีบทบาทผู้รับผิดชอบ แม้ว่าบางปัญหาไม่ได้กระทบกับไทยโดยตรงทันที  แต่เราจะต้องแสดงบทบาทนำต่อเรื่องนั้นๆ เช่น ปัญหาผู้ลี้ภัย หรือเป็นปัญหาที่ร่วมกันของประชาคมโลก  เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การกำหนดกฏเกณฑ์กติกาโลกใหม่ๆ  เช่นระเบียบการค้าระหว่างประเทศ 

อย่างไรก็ตาม นายสีหศักดิ์กล่าวในตอนท้ายที่ต้องระมัดระวังเรื่องการเคลมผลงานที่ประเทศอื่นๆ กลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศหรือภูมิภาคทำมาก่อนหน้า เพราะอาจทำให้รู้สึกผิดแปลกไปจากธรรมเนียมปฏิบัติด้านการต่างประเทศ ตลอดจนการพูดพาดพิงหรือกล่าวหาประเทศใดประเทศหนึ่งจนจุดกระแสในโซเชียลมีเดีย เนื่องจากเกรงอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ