ถอดบทเรียนยูเครน จีนเล็งเสริมขีดความสามารถทำสงครามนอกแบบ

ถอดบทเรียนยูเครน จีนเล็งเสริมขีดความสามารถทำสงครามนอกแบบ

นายพลจีนถอดบทเรียนวิกฤติยูเครน เรียกร้องหลอมรวมขีดความสามารถสมัยใหม่อย่างเอไอ เข้ากับยุทธวิธีสงครามตามแบบก่อนเผชิญหน้าตะวันตก

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน นายพลหวัง ไฮ่เจียง ผู้บัญชาการภาคตะวันตก กองทัพปลดแอกประชาชนจีน (PLA) เขียนบทความพิเศษลงหน้าหนึ่ง หนังสือพิมพ์ทางการ Study Times ฉบับวันจันทร์ (15 พ.ค.) การทำสงครามลูกผสมรูปแบบใหม่เกิดขึ้นในความขัดแย้งยูเครน มีการผสมผสานทั้ง “สงครามการเมือง สงครามการเงิน สงครามเทคโนโลยี สงครามไซเบอร์ และสงครามการรับรู้ 

 ในปัจจุบันและอนาคต ความขัดแย้งในท้องถิ่นและความวุ่นวายจะเกิดขึ้นบ่อย ปัญหาระดับโลกรุนแรง โลกเข้าสู่ความวุ่นวายและการเปลี่ยนแปลงช่วงใหม่ เหตุการณ์แบบหงส์ดำ (เกิดขึ้นได้ยากมาก) และแรดสีเทา (สถานการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูง แต่ผู้เกี่ยวข้องแยกแยะไม่ออก) อาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ โดยเฉพาะด้วยการสกัดกั้น โอบล้อม ตัดขาด กดขี่ และภัยคุกคามจากชาติตะวันตกบางชาติ”

รอยเตอร์ระบุว่า ในนามของความมั่นคงแห่งชาติและเพื่อป้องกันภัยคุกคามที่รับรู้ได้จากตะวันตก ความพยายามเตรียมตัวรับมือความท้าทายด้านความมั่นคงของจีนไม่ได้ลดน้อยลง แม้เศรษฐกิจชะลอตัวและโควิด-19 ระบาด ปีนี้ค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมส่อเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน ซึ่งขนาดและขอบเขตการเตรียมการของกองทัพจีนไม่ได้มีแค่ตะวันตกที่จับตา แต่เพื่อนบ้านรวมถึงไต้หวันที่จีนอ้างว่าเป็นของตนก็จับตาอย่างใกล้ชิดด้วย

แต่แม้ทุ่มเทงบประมาณลงไปหลายแสนล้านดอลลาร์แต่กองทัพจีนไม่ได้ทำสงครามมานานมาก สงครามล่าสุดและสั้นๆ เป็นความขัดแย้งทางทหารกับเวียดนามในปี 1979

หวังย้ำว่า การรักษาความมั่นคงแห่งชาติไว้ให้ได้จำเป็นต้องมีความสามารถในการเอาชนะศึก จีนจะพยายามหาความได้เปรียบทางทหารใหม่ๆ ด้วยการเสริมสร้างขีดความสามารถในหลายๆ ด้าน อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เครือข่ายข้อมูลข่าวสาร การบินและอวกาศ

ทั้งนี้ ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา PLA ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมทำสงครามสมมุติ เพราะจีนขยายแสนยานุภาพทางทหารเหนือไต้หวัน ทำให้ตนเองเสี่ยงขัดแย้งกับสหรัฐ

วอชิงตันมีนโยบาย “คลุมเครือทางยุทธศาสตร์” ว่าจะใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงเพื่อปกป้องไต้หวันหรือไม่ แต่มีกฎหมายอนุญาตให้จัดหาเครื่องมือให้ไต้หวันป้องกันตนเอง

ในเดือน ม.ค. หนังสือพิมพ์พีแอลเอเดลี เขียนบทวิจารณ์ที่ไม่ค่อยมีบ่อยนัก สะท้อนถึงบทเรียนที่ได้จากสงครามยูเครน โดยระบุถึงความบกพร่องทางทหารของรัสเซีย เช่น จำเป็นต้องปรับปรุง “การรับรู้สถานการณ์” ในสนามรบ