สิงคโปร์ Green policy : เมื่อเงินที่แจกมีเหตุผลเพื่อสิ่งแวดล้อม | สุมาพร

สิงคโปร์ Green policy : เมื่อเงินที่แจกมีเหตุผลเพื่อสิ่งแวดล้อม | สุมาพร

ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้โอกาสไปสิงคโปร์ จึงศึกษานโยบายและกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจ และเห็นเป็นจริงในเชิงรูปธรรม

สิงคโปร์ได้วางแผนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมไปถึงปี 2030 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ “Singapore Green Plan 2030” เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเป็นเมืองสีเขียวอย่างยั่งยืน

 

ภาพรวมนโยบายและกฎหมาย

รัฐบาลสิงคโปร์มีนโยบายสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลมีนโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แผนพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนและการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เป็นกลยุทธ์ในการแข่งขัน จึงกำหนดนโยบาย กฎหมายและข้อบังคับจำนวนมากที่สอดคล้องกับทฤษฎีด้านสิ่งแวดล้อม 

เช่น หลักการพัฒนามาตรการทางภาษีเพื่อประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmentally Related Taxes) มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Instruments) ทฤษฎีการใช้แรงจูงใจเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (Carrot and Stick Approach) และหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle : PPP) เป็นต้น

กฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับหลัก

สิงคโปร์มีกฎหมาย Environmental Protection and Management Act : EPMA เป็นกฎหมายฉบับหลักที่ใช้ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีเนื้อหาครอบคลุมการจัดการปริมาณมลพิษทั้งทางน้ำ ทางอากาศและทางเสียง

เช่น กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องติดตั้งและจัดให้มีอุปกรณ์ควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศ กำหนดให้โรงงานต้องบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ และกำหนดควบคุมเรื่องเสียงจากการก่อสร้างไปจนถึงเสียงในสถานที่ทำงาน เป็นต้น

ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นับแต่ปี 2562 สิงคโปร์เป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคเอเชียที่มีการจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ด้วยการใช้ภาษีคาร์บอนและมาตรการจูงใจหลากหลายรูปแบบ

ในส่วนของภาษีคาร์บอนก็ได้ตรากฎหมาย Carbon Pricing Act เพื่อจัดเก็บภาษีจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกำหนดราคาซื้อขายคาร์บอนกับผู้ประกอบธุรกิจทุกประเภทที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด

มาตรการอุดหนุนโดยภาครัฐ

ในแต่ละปี สิงคโปร์จะจัดทำนโยบายอุดหนุนภาคเอกชน โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสีเขียวในการประกอบธุรกิจ (Green Technology Program) เช่น มาตรการจูงใจให้บริษัทพาณิชยนาวีในประเทศพัฒนาและนำเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมมาใช้

ซึ่งหากสามารถลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์ ก๊าซไนตริกออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ตามที่กำหนด โครงการจะได้รับเงินร้อยละ 50 สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแต่ไม่เกิน 2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เป็นต้น

ได้เงินคืนหากใช้รถที่ลดมลพิษ

ภายใต้ระบบ Carbon Emissions-Based Vehicle Scheme : CEVS สิงคโปร์ได้สร้างระบบจูงใจสำหรับการใช้ยานพาหนะทุกประเภทที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอัตราที่ต่ำ โดยรัฐจะให้เงินคืนสำหรับการใช้รถที่ประหยัดเชื้อเพลิงและมีอัตราการบริโภคน้ำมันต่ำ

ทั้งนี้ สิงคโปร์ได้กำหนดให้ผู้ขายต้องจัดทำฉลากข้อมูลการปล่อยมลพิษของรถ (Fuel Economy Labelling scheme) เพื่อให้ผู้ซื้อได้ตรวจสอบข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ ทั้งนี้ การให้เงินคืน จะอยู่ในรูปแบบของการลดหย่อนภาษี ค่าระวาง และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรถ

กฎหมายคุ้มครองต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะ

สิงคโปร์ได้ออก Parks and Tree Acts มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการเพิ่มจำนวนต้นไม้และอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวในบริเวณพื้นที่สาธารณะทั่วสิงคโปร์ (สวนสาธารณะ อุทยานและถนน) นอกจากนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าวยังกำหนดทิศทางของผังเมืองที่สอดคล้องกับพื้นที่สีเขียว

โดยสิ่งปลูกสร้างแต่ละประเภทจะต้องมีข้อกำหนดในการปลูกต้นไม้ขั้นต่ำ ภายใต้เงื่อนไขที่ต่างกัน ตามหลัก “Green Buffer" เช่น หากมีการสร้างถนนจะต้องมีพื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้ และขนาดของต้นไม้สองข้างทางต้องมีความสูงตามที่กฎหมายกำหนด

ตัดต้นไม้ต้องขออนุญาตรัฐก่อน

ข้อกำหนดหนึ่งของกฎหมาย Parks and Tree Acts คือ การห้ามตัดต้นไม้ที่มีเส้นรอบวงยาวเกินกว่าหนึ่งเมตร รวมถึงการห้ามตัดต้นไม้ว่าไม่ขนาดใดๆ ในพื้นที่ Green Buffer เว้นจะได้รับการอนุมัติจากภาครัฐ และการฝ่าฝืนอาจมีโทษหนักถึงจำคุก นอกจากนี้ หากมีความจำเป็นที่ต้องตัดต้นไม้ ภาครัฐจะกำหนดให้ปลูกทดแทนเสมอในอัตราส่วนที่มากกว่าจำนวนต้นที่ตัดไป

ตึกสูงต้องมีต้นไม้ ได้เงินคืน

นอกจากข้อกำหนดตามกฎหมายของสิงคโปร์ ที่การก่อสร้างทุกชนิดจะต้องจัดสรรพื้นที่ปลูกต้นไม้ตามอัตราส่วนที่กฎหมายกำหนดแล้ว มาตรการ Skyrise Greenery Incentive Scheme (SGIS)

เป็นอีกหนึ่งมาตรการจูงใจเพื่อส่งเสริมให้มีการจัดภูมิทัศน์บนตึกสูงด้วยต้นไม้ทั้งที่เป็นอาคารที่พักอาศัยหรืออาคารทั่วไป โดยให้เงินร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายในการจัดภูมิทัศน์หรือประดับตกแต่งหลังคาหรือด้านแนวดิ่งของอาคารดังกล่าว

Singapore Green Plan 2030

มองไปข้างหน้า สิงคโปร์ได้จัดทำแผนด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ซึ่งกำหนดเป้าหมายไว้ 5 ด้าน ได้แก่

(1) การจัดสรรพื้นที่สีเขียวในประเทศให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนทุกครัวเรือนสามารถเข้าถึงสวนสาธารณะได้โดยสะดวก

(2) ส่งเสริมการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน โดยการใช้นวัตกรรมเพื่อให้เกิดการกลับมานำมาใช้ใหม่ของขยะทุกประเภท และบำบัดน้ำเสียอาจจริงทั้งภาคอุตสาหกรรมและเอกชน 

(3) ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานจากแสงอาทิตย์ และสนับสนุนการวิจัยในด้านพลังงานทุกประเภท

(4) สร้างเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อเป็น Centre for Green Finance พร้อมทั้งดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนด้านเทคโนโลยีที่รักษ์สิ่งแวดล้อม

(5) สร้างปราการสำหรับอนาคต เช่น เขื่อนป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่ง การให้สิ่งก่อสร้างใช้โทนสีอ่อนเพื่อลดการดูดซับของความร้อน เป็นต้น

ท้ายที่สุด ทั้งหมดที่ผู้เขียนเล่ามา เป็นเพียงส่วนหนึ่งใน Green policy ของสิงคโปร์ ประเทศที่รัฐเข้าแทรกแซงการดำเนินชีวิตของประชาชนและธุรกิจ โดยใช้เงินงบประมาณผ่านนโยบายทางภาษี การคืนเงิน ตามมาตรการอุดหนุน และสร้างมาตรการลงโทษที่จริงจัง เพื่อจัดการผลกระทบในเชิงลบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างสมเหตุสมผล

 

คอลัมน์  Legal Vision : นิติทัศน์ 4.0 
สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์
สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
กระทรวงการคลัง