นักเศรษฐศาสตร์ชี้ ‘ความกังวลนักลงทุน’ สร้างภัยพิบัติตลาดเงินโลก ปีนี้

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ ‘ความกังวลนักลงทุน’ สร้างภัยพิบัติตลาดเงินโลก ปีนี้

นักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายหลายคนมีความเห็นตรงกัน ยุโรปได้เรียนรู้บทเรียนหลังเกิดวิกฤติการเงินและธนาคาร ชี้ความไม่แน่นอนและความวิตกกังวล จะยังคงสร้างภัยพิบัติต่อตลาดการเงินและธนาคารในปีนี้ โดยกรณี SVB เป็นเพียงซีรีส์แรกของฉากล่มสลายการเงินบางประเทศ

ในการประชุม Ambrosetti Forum ที่อิตาลี ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี (30 มี.ค.) ได้สะท้อนถึงศักยภาพทางการเงินในภูมิภาคต่างๆ ที่มีต่อความไม่มั่นคงในตลาดการเงิน ซึ่งเกิดจากปัญหาในภาคการธนาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะการเงินที่ตึงตัว

การล่มสลายของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ (SVB) ในสหรัฐ และความกังวลของผู้ให้กู้ในภูมิภาคอื่นๆ อีกหลายรายเมื่อต้นเดือนมีนาคม ทำให้เกิดความกลัวว่าภาวะวิกฤตินี้จะส่งทอดไปยังประเทศต่างๆ อย่างเครดิตสวิสที่ตกอยู่ในความระส่ำ แต่โชคดีที่ยูบีเอสคู่แข่งรายใหญ่เข้ามาอุ้ม

ด้านทางการสหรัฐให้คำมั่นว่าจะให้การสนับสนุนเพิ่มเติมหากจำเป็น และเฝ้าดูตลาดการเงินอย่างใกล้ชิดที่คาดจะกลับมาฟื้นตัวในสัปดาห์นี้

“วาเลอลิโอ เดอ มอลลลี” ซีอีโอของ The European House – Ambrosetti กล่าวกับซีเอ็นบีซีนอกรอบการประชุมว่า “ความไม่แน่นอนและความวิตกกังวล” จะยังคงสร้างภัยพิบัติต่อตลาดการเงินและธนาคารในปีนี้

“ปัจจัยที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ ความไม่แน่นอนในอุตสาหกรรมการธนาคารที่ไม่เกี่ยวกับยุโรปมากนัก เพราะ ECB (ธนาคารกลางยุโรป) ทำผลงานได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ เช่นเดียวกับคณะกรรมาธิการยุโรป และยูโรโซนก็มีเสถียรภาพ แข็งแกร่ง และมีกำไรเช่นกัน” เดอ มอลลี บอกกับซีเอ็นบีซี

นอกจากนี้ เขาแนะนำว่า การล่มสลายของ SVB น่าจะเป็น "ซีรีส์แรก" ของฉากความล้มเหลวในภาคธนาคารระดับโลก อย่างไรก็ตาม เดอ มอลลีโต้แย้งว่า อียูได้บทเรียนระดับโลก โดยเฉพาะทำให้ยูโรโซนสามารถพยุง “ความแข็งแกร่งและเสถียรภาพทางการเงิน” ของระบบธนาคารได้ ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่วิกฤติการเงินในปี 2551 จะซ้ำรอยอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม จอร์ช คอนสเตนติน ศาสตราจารย์และคณบดีของ European University Institute และอดีตรัฐมนตรีคลังของกรีกกล่าวว่า อียูได้เรียนรู้ความจำเป็นในการทำงานร่วมกันของนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน ซึ่งคุณต้องนำหน้าตลาดและไม่ตามหลังตลาดทุกๆ 5 วินาทีเสมอ เพราะการตอบสนองรวดเร็วและทุ่มเต็มที่ย่อมได้ผลลัพธ์ที่ดี 

"สิ่งที่เกิดขึ้นกับ SVB และเครดิตสวิสเกิดจาก "ความล้มเหลวในการบริหารความเสี่ยง" และในกรณีของ SVB ก็เป็นผลมาจาก "ความล้มเหลวของนโยบายการเงินและธนาคารในสหรัฐ" คอนสเตนตินกล่าว 

แม้เขาจะยกย่องการรับมือสถานการณ์การเงินการธนาคารในยุโรป แต่คอนสเตนติลย้ำว่ายังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าระบบธนาคารมีจุดอ่อนหรือไม่ และยังบอกว่า ผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานกำกับดูแลไม่ควรชะล่าใจ แต่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง