สืบรากวินด์เซอร์ เปิดสาแหรก‘ราชวงศ์อังกฤษ-เยอรมนี’

สืบรากวินด์เซอร์ เปิดสาแหรก‘ราชวงศ์อังกฤษ-เยอรมนี’

ประวัติศาสตร์ราชวงศ์อังกฤษแยกกันไม่ออกกับประเทศเยอรมนี มรดกตกทอดแห่งความภาคภูมิใจในวาระสมเด็จพระเจ้าชาร์ลสที่ 3 เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันนี้ (29 มี.ค.) ที่เยอรมนี

 สำนักข่าวเอเอฟพีรวบรวมความเป็นมาของราชวงศ์วินด์เซอร์แห่งอังกฤษที่มีต้นกำเนิดมาจากเยอรมนี

ราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา

ถ้าไม่ใช่เพราะสงครามโลกครั้งที่ 1 ราชวงศ์อังกฤษอาจยังใช้นามสกุลภาษาเยอรมันต่อไป สืบเนื่องจากเชื้อสายราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา ที่เกิดขึ้นจากการอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียกับเจ้าชายอัลเบิร์ต ในปี 1840 เจ้าชายเป็นทายาทราชวงศ์เล็กๆ จากบาวาเรียตะวันออกเฉียงเหนือ สืบรากวินด์เซอร์ เปิดสาแหรก‘ราชวงศ์อังกฤษ-เยอรมนี’ (สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย)

เกือบแปดทศวรรษถัดมา กษัตริย์จอร์จที่ 5 พระราชนัดดาของพระองค์เลิกใช้นามสกุลอันยุ่งยากฝ่ายพระบิดาช่วงที่อังกฤษกำลังต่อสู้กับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อสาธารณชนไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ กษัตริย์อังกฤษตัดสินพระทัยตัดสัมพันธ์กับเยอรมนี แล้วเลือกใช้นามสกุลตามชื่อพระราชวังอันโด่งดังใกล้กรุงลอนดอน ราชวงศ์วินด์เซอร์ถือกำเนิดขึ้น ณ บัดนั้น

ความขัดแย้งทางศาสนาและต้นคริสต์มาส

ชาวเยอรมันคนแรกที่ได้สวมมงกุฎเป็นกษัตริย์แห่งเกรตบริเทนคือกษัตริย์จอร์จที่ 1 ในปี 1714 พระองค์เป็นสมาชิกราชวงศ์ฮันโนเฟอร์ทางตอนเหนือของเยอรมนี พระองค์ตรัสภาษาอังกฤษไม่ได้  เหตุผลประการเดียวที่ได้ขึ้นครองราชย์คือศาสนา ผู้ที่เป็นคาทอลิกไม่มีสิทธิได้ครองบัลลังก์อังกฤษ จอร์จที่ 1 เป็นพระญาติใกล้ชิดที่สุดที่เป็นโปรเตสแตนท์ของควีนแอนน์ผู้ล่วงลับ

ควีนวิกตอเรียเป็นหนึ่งในเชื้อสายของพระเจ้าจอร์จที่ 1 และหลังอภิเษกสมรสกับเจ้าชายอัลเบิร์ต ราชวงศ์เปลี่ยนชื่อจากฮันโนเฟอร์เป็นราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา

โดยปกติควีนวิกตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ตมีพระราชหัตถเลขาถึงกันด้วยภาษาเยอรมัน  เจ้าชายได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ทำให้ประเพณีต้นคริสต์มาสได้รับความนิยม แต่เหนือสิ่งอื่นใดพระองค์กลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์แห่งศตวรรษที่ 19 ด้วยการช่วยจัดงาน Great Exhibition ในปี 1851 ครั้งแรกของงานเวิลด์แฟร์ทั้งหลาย

สมเด็จย่าแห่งยุโรป

ในฐานะพระมารดาของโอรส-ธิดา 9 พระองค์ ทายาทควีนวิกตอเรียอภิเษกสมรสกับเชื้อพระวงศ์อื่นๆ ทั่วยุโรป มีลูกมีหลานมากมายสร้างสายสัมพันธ์ครอบครัวเหนียวแน่น

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป พระสวามี พระราชมารดาและพระราชบิดาของกษัตริย์ชาร์ลสทรงเป็นพระญาติห่างๆ กัน เนื่องจากต่างสืบเชื้อสายของ “สมเด็จย่าแห่งยุโรป” ด้วยกันทั้งคู่

“ตอนที่อังกฤษ สเปน หรือฝรั่งเศส มีกษัตริย์พระองค์เดียว เยอรมนีมีผู้ปกครองแว่นแคว้นอย่างน้อย 30 พระองค์ เมื่อพวกเขาต้องแต่งงานกันเองเท่านั้น ตัวเลือกจึงมักมาตกที่เชื้อพระวงศ์เยอรมัน ส่งผลให้ทุกราชวงศ์ในยุโรปเกี่ยวข้องกับชาวเยอรมัน” ไมเคิล ฮาร์ตแมนน์ นักสังคมวิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องชนชั้นสูงจากมหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งดาร์มสตัดท์ให้ข้อมูลกับเอเอฟพี

วันทยหัตถ์ฮิตเลอร์

ปี 2015 ภาพถ่ายหายากใบหนึ่งสร้างความตกตะลึงให้กับสังคมอังกฤษ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ พระองค์น้อยในวัย 6-7 พรรษา วันทยหัตถ์พระกรตรงแบบฮิตเลอร์กับพระมารดาและพระกนิษฐา เห็นได้ชัดว่าทรงทำตามคำยุของพระปิตุลาเอ็ดเวิร์ดที่ 8 สืบรากวินด์เซอร์ เปิดสาแหรก‘ราชวงศ์อังกฤษ-เยอรมนี’ (ภาพจากบีบีซี)

หนังสือพิมพ์หัวสี “เดอะซัน” ตีพิมพ์ภาพพร้อมพาดหัว “ราชวงศ์วันทา” ภาพดังกล่าวนำมาจากภาพยนตร์ความยาว 20 วินาทีที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน ถ่ายทำกันเล่นๆ ในครอบครัวราวปี 1933 หรือ 1934 ณ พระตำหนักบัลมอรัลในสกอตแลนด์

เดอะซันรายงานว่า ฟุตเทจดังกล่าว “ให้ข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจเกี่ยวกับอคติของกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 8” ที่สังคมอังกฤษยังคงโต้เถียงกันเรื่องความเกี่ยวข้องกับนาซีของพระองค์

เอ็ดเวิร์ดพบกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ที่เยอรมนีเมื่อปี 1937 หนึ่งปีหลังสละราชสมบัติเพื่อแต่งงานกับวอลลิซ ซิมป์สัน หญิงหม้ายชาวอเมริกัน

ภาพถ่ายหนึ่งใบเผยให้เห็นเอ็ดเวิร์ดและภรรยายิ้มสดใสจับมือกับท่านผู้นำ

สมานฉันท์เยอรมนี-อังกฤษ

นายกรัฐมนตรีโอชาฟ โชลซ์ของเยอรมนี กล่าวเมื่อปีก่อนหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ว่า พระองค์ได้รับความเคารพอย่างยิ่งในเยอรมนี จากความมุ่งมั่นสมานฉันท์ “เยอรมนี-อังกฤษ” หลังความสยดสยองของสงครามโลกครั้งที่ 2

สืบรากวินด์เซอร์ เปิดสาแหรก‘ราชวงศ์อังกฤษ-เยอรมนี’ ควีนเอลิซาเบธเสด็จเยือนเบอร์ลินครั้งแรกตอนถูกกำแพงปิดล้อมในปี 1965

ส่วนเจ้าชายฟิลิป พระสวามี ในฐานะสมาชิกราชวงศ์ชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-เซอเนอร์ปอร์-กลึคส์บวร์คแห่งเยอรมนีและเดนมาร์ก พระองค์ทรงผูกพันใกล้ชิดกับเยอรมนีทรงรับการศึกษาในประเทศนี้

กษัตริย์ชาร์ลสที่ 3 ผู้ทรงตรัสภาษาเยอรมันได้เป็นอย่างดี ดูเหมือนทรงรักใคร่ประเทศนี้เช่นกัน พระองค์เสด็จเยอรมนีบ่อยครั้งทั้งทางการและส่วนพระองค์ สืบรากวินด์เซอร์ เปิดสาแหรก‘ราชวงศ์อังกฤษ-เยอรมนี’ “ชาร์ลสไม่เคยปฏิเสธว่ามีบรรพบุรุษเยอรมัน แม้ชาวอังกฤษหลายคนจะไม่ปลาบปลื้มเอามากๆ ก็ตาม”เจ้าชายเอดูอาร์ด ฟอน อันฮัลต์ พระญาติห่างๆ กับกษัตริย์ชาร์ลส ตรัสทิ้งท้าย