ชะตากรรม ‘ดอยซ์ แบงก์’ ‘แค่หุ้นร่วง’ หรือ ‘รอล้ม’?

ชะตากรรม ‘ดอยซ์ แบงก์’ ‘แค่หุ้นร่วง’ หรือ ‘รอล้ม’?

เกาะติดสถานการณ์ราคาหุ้นดอยซ์ แบงก์ แม้เปิดตลาดเช้าวันจันทร์ยุโรปจะขยับขึ้นเล็กน้อย หลังร่วงลงต่อเนื่องมาตลอดสัปดาห์ ท่ามกลางความหวาดหวั่นนักลงทุนว่า ธนาคารแห่งนี้จะล้มไม่เป็นท่าเป็นรายต่อไป เหมือนซิลิคอนวัลเลย์แบงก์ และเครดิตสวิสเจอปัญหาขาดทุนมากมายหรือไม่

เมื่อบรรดานักลงทุนพากันเทขายหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังดอยซ์แบงก์ (Deutsche Bank) ตกเป็นเป้าของนักลงทุนทั่วโลก ราคาหุ้นธนาคารดิ่งลงทั้งในตลาดยุโรปและสหรัฐ หลังจาก Credit Default Swap (CDS) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของดอยช์แบงก์พุ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2562 เหนือระดับ 2% จากระดับ 1.73%

สิ่งที่คุณควรรู้ในวันนี้คือ 

ราคาหุ้นดอยซ์แบงก์ลดลงถึง 30%ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แค่เฉพาะวันศุกร์ (24 มี.ค.) ทรุดลงถึง 8.22%  ท่ามกลางกระแสข่าวค่าใช้จ่ายในการประกันการผิดนัดชำระที่เพิ่มขึ้น 

จนทำให้นายกรัฐมนตรีโอลัฟ ช็อลทซ์ของเยอรมนี ต้องออกมาสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุน 

ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า ไม่น่าเป็นไปได้ที่ธนาคารเยอรมันแห่งนี้ ซึ่งมีกำไร 10 ไตรมาสติดต่อกันนั้น จะมีสถานะความสามารถในการชำระหนี้และสภาพคล่องที่แข็งแกร่งจะลดลงเหมือนกับเครดิตสวิส (Credit Suisse)

ท่ามกลางวิกฤติการเงินโลก ลูกค้าในสหรัฐถอนเงินรวม 9.84 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 0.6% ของเงินฝากทั้งหมดจากธนาคารในสหรัฐ ตามข้อมูลของธนาคารกลางสหรัฐ โดยแหล่งข่าวบอกเว็บไซต์ CNBC ว่า ธนาคารขนาดเล็กมีเงินไหลออก 120,000 ล้านดอลลาร์

ขณะที่สถาบันขนาดใหญ่มีเงินฝากเพิ่มขึ้น 67,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเห็นว่า การเคลื่อนไหวจากธนาคารขนาดเล็กไปสู่ธนาคารขนาดใหญ่จะชะลอตัวลงในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

สถานการณ์ทั้งหมดนี้เป็นผลจากความเชื่อมั่นหลังธนาคาร SCV ล้มไม่เป็นท่าก่อนสหรัฐจะออกมาตรการต่างๆ ยื่นเข้าช่วยเหลือ

 

คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)  ชี้ว่าการที่ธนาคารบางแห่งล้มสะลายเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนอาจกระตุ้นเศรษฐกิจโลกได้ ซึ่ง GDP จีนที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ 1% จะมีส่วนช่วยให้เพิ่ม GDP ประเทศอื่นๆ ในเอเชียได้ถึง 0.3% ตามการประมาณการของ IMF