“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” มีพื้นที่เพียง 2.7% มี “อากาศดีต่อสุขภาพ”

“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” มีพื้นที่เพียง 2.7% มี “อากาศดีต่อสุขภาพ”

พบพื้นที่เพียง 8 เมืองจากทั้งหมด 296 เมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีคุณภาพอากาศได้มาตรฐานสุขภาพขององค์การอนามัยโลก

IQAir บริษัทเทคโนโลยีของสวิตเซอร์แลนด์ที่ให้อำนาจบุคคล องค์กร และรัฐบาลในการปรับปรุงคุณภาพอากาศผ่านข้อมูลและการทำงานร่วมกันเปิดรายงานคุณภาพอากาศ ประจำปี 2565 ว่า มีเพียง 2.7% ของเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ 8 เมืองจากทั้งหมด 296 แห่งที่ได้บันทึกตัวเลข ซึ่งเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติขององค์การอนามัยโลก (WHO) เกี่ยวกับค่าฝุ่น PM 2.5

PM 2.5 เป็นอนุภาคฝุ่นขนาดเล็กที่สามารถก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้ เป็นมลพิษทางอากาศรูปแบบหนึ่งที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร

การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศเป็นเวลานานจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้ภูมิต้านทานต่อโรคระบบทางเดินหายใจอ่อนแอลง และเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอดและโรคหัวใจได้

อินโดนีเซียถูกบันทึกเป็นพื้นที่ที่มีระดับมลพิษสูงสุดในภูมิภาค โดยมีเมือง 6 แห่งใน 15 อันดับแรกที่มีความเข้มข้นของ PM2.5 สูงสุด รวมถึงเมืองปาซาร์เคมิส ในจังหวัดบันเตนของเกาะชวา และเมืองใหญ่อย่างกรุงจาการ์ตาและสุราบายาซึ่งอยู่ในอันดับที่ 4 และ 7 ในลิสต์เมืองที่มีมลพิษมากที่สุด

กรุงฮานอยของเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 2 ขณะที่นครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาวเป็นเมืองที่มีมลพิษมากสุดอันดับที่ 14 เมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มของเมืองที่มีคุณภาพดี พบว่า เมือง 3 แห่งในอินโดนีเซียที่มีคุณภาพอากาศอยู่ในช่วง “ดีต่อสุขภาพ” หรือระดับ 0-5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นการวัดความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศ ได้แก่ เมืองกูปัง จังหวัดนูซาเต็งการาตะวันออก เมืองปังกัลปีนัง จังหวัดหมู่เกาะบังกาเบลิตุง และเมืองมามูจู จังหวัดสุลาเวสีตะวันตก

อย่างไรก็ตาม คุณภาพอากาศที่ดีที่สุดของภูมิภาคนี้อยู่ที่ นามซาค อยู่ในเขตชนบทของพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดงของเวียดนาม จากการสำรวจของ IQAir