เปิดศึกชิงมงกุฎ JKN ‘เจ้าหนี้ & ลูกหนี้’ หาผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ

เปิดศึกชิงมงกุฎ JKN ‘เจ้าหนี้ & ลูกหนี้’ หาผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ

หรือนี่อาจจะเป็นการเปิดศึกหาผู้ชนะ ในการชิงทำแผนฟื้นฟูของ JKN ระหว่าง “เจ้าหนี้” & “ลูกหนี้” เมื่อกลุ่มเจ้าหนี้หุ้นกู้แตกออกเป็นสองฝั่ง ! ล่าสุด “เจเคเอ็น” เรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 17 พ.ค. นี้ หวังกล่อมโหวตเลือกตัวเองเป็น “ผู้ทำแผน” ภายใต้การบริหารของ “แอน-จักรพงษ์”

ทุกคนอาจจะคิดว่า ! เมื่อรับทราบ “คำพิพากษาของศาลล้มละลายกลาง” ให้บริษัทเข้าสู่กระบวนการ “ฟื้นฟูกิจการ” แล้ว ทุกอย่างคงจะไม่มีปัญหาและเดินตามแผนได้ แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่...

เพราะนี่อาจเป็นเพียงแค่ "จุดเริ่ม" เท่านั้น ด้วยเพราะบริษัทที่เดินเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการมีฝั่งที่เป็น “เจ้าหนี้” และ “ลูกหนี้” (เจ้าของธุรกิจที่ยื่นฟื้นฟูฯ)

ล่าสุดเมื่อ 23 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN ของ “แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” เดินเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

จากคำพิพากษาที่ออกมา ยังคง “เปิดทางให้ลูกหนี้” (JKN) สามารถเข้าไปทำแผน และใช้ผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ ที่มาจากตัวแทนลูกหนี้ได้ 

ดังนั้น ก่อนที่ “เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์” (กรมบังคับคดี) จะเรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด เพื่อพิจารณาเลือก “ผู้ทำแผน” ซึ่งระหว่างนี้ทำให้ทั้งสองฝั่ง (เจ้าหนี้ & ลูกหนี้) ต้อง “ช่วงชิง” เสียงโหวตจากสมาชิกเพื่อให้ฝั่งตัวเองเป็น “ผู้ชนะ” และนี่จะเป็นการเริ่มต้นการเปิดศึกครั้งใหม่ เพื่อ “ทำแผนฟื้นฟูกิจการ JKN” 

เมื่อสถานการณ์ทั้งสองฝ่ายต้องการเป็น “ผู้กุมบังเหียน” ในการกำหนดทิศทางแผนฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากมีเป้าหมายต่างกัน โดยฝั่งเจ้าหนี้ก็ต้องการ “เงินคืน” ส่วนฝั่งลูกหนี้ก็ต้องการมี “อำนาจเบ็ดเสร็จ” เพื่อที่จะได้เป็นผู้กำหนดทิศทางธุรกิจ เพื่อหวังให้ธุรกิจกลับมาฟื้นตัว ! และกลับมาสร้างรายได้ 

ก่อนหน้านี้การเสนอแผนฟื้นฟู JKN ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ โดยขอให้ JKN และ บริษัท เพลินจิต แอดไวเซอรี่ แอนด์ แพลนเนอร์ และ บริษัทฟินิกซ์ แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด (PAS) ร่วมกันเป็นผู้ทำแผน

แต่ดูเหมือนว่าจะถูก “คัดค้าน” จากตัวแทนกลุ่มเจ้าหนี้หลายกลุ่ม เนื่องจากต่างไม่ “เชื่อมั่น” ในลูกหนี้ ด้วยเพราะกลุ่มเจ้าหนี้ระบุว่ามีความสงสัยในหลายๆ ประเด็น !!

ในฝั่งของตัวแทนเจ้าหนี้ บริษัท มอร์แกน แสตนลีย์ Morgan Stanley ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ และผู้ถือหุ้น มีการเสนอ บริษัท เอินส์ท แอนด์ ยัง (Ernst & Young) หรือ EY ให้เข้ามาเป็นผู้ทำแผนและบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ 

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนฝั่งลูกหนี้ (JKN) ยืนยันมีความตั้งใจที่จะฟื้นฟูกิจการให้ดำเนินการต่อไป เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน โดยการปรับโครงสร้างของลูกหนี้

ประกอบกับลักษณะธุรกิจของ JKN มีโครงสร้างรายได้สำคัญจากการขายลิขสิทธิ์รายการ และจากการบริหารจัดการงานจ้าง และงานบันเทิงของนางงามผู้ครองตำแหน่งสำคัญ ขององค์กรนางงามจักรวาล Miss Universe Organization (MUO) ตลอดจนรายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชม และรายได้อื่นๆ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีประสบการณ์และความสามารถมารับผิดชอบในการทำแผน

แหล่งข่าว ระบุว่า คาดว่าอีกไม่นานจะมีการจัดประชุม "เจ้าหนี้" เพื่อเลือกผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการโดยเร็วที่สุด ดังนั้น ทำให้บรรดาเจ้าหนี้และลูกหนี้ต้อง “เร่งรวบรวมเสียง” เนื่องจากจะต้องรวบรวมได้เสียงโหวตจากเจ้าหนี้ให้ได้ถึง 2 ใน 3 เพื่อให้ได้ผู้ที่จะเข้ามาทำแผนฟื้นฟูกิจการ

 

ทั้งนี้ ในการรวบรวมเสียงเจ้าหนี้ กลุ่มที่ดูจะมีปัญหามากที่สุด คือ กลุ่มเจ้าหนี้หุ้นกู้ ที่มีมูลหนี้รวมกันราว 3,200 ล้านบาท ที่ ณ ปัจจุบัน ยังไม่ได้รวมตัวกันเป็นเอกภาพ ดังนั้น เจ้าหนี้หุ้นกู้ จึงแตกออกเป็น 2 ฝั่ง ทั้งฝ่ายหนุนเจ้าหนี้ และลูกหนี้ (JKN) เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ 

ดังนั้น อาจเป็นที่มาที่ “นายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ JKN ในฐานะ “ผู้บริหารชั่วคราว” แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา ว่า

บริษัทจะจัดให้มีการประชุมเจ้าหนี้หุ้นกู้ในวันศุกร์ที่ 17 พ.ค. 2567 โดยมีระเบียบวาระการประชุมดังต่อไปนี้ 

  • วาระที่ 1 ชี้แจงแนวทางฟื้นฟูกิจการของบริษัท
  • วาระที่ 2 พิจารณาสนับสนุนการลงมติเลือก บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ทำแผน
  • วาระที่ 3 พิจารณาวาระอื่นๆ (ถ้ามี)

 

ท้ายสุด ในการหาผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของ JKN ต้องจับตามองว่าเสียงโหวตจากบรรดาเจ้าหนี้ จะเลือกตัวแทนผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ จากฝั่งไหน ระหว่างฝั่งเจ้าหนี้ กับ ฝั่งลูกหนี้คือ JKN...