โมเดล "รถไฟจีน" แก้ปัญหามลพิษ | กันต์ เอี่ยมอินทรา

โมเดล "รถไฟจีน" แก้ปัญหามลพิษ | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ระบบรางที่ดีมีประสิทธิภาพและครอบคลุมกว้างไกล เชื่อมต่อระหว่างเมืองใหญ่สู่เมืองเล็กและในเมืองใหญ่นั้น คือหนึ่งในวิธีการที่จีนใช้แก้ไขปัญหามลพิษ

ระบบรางที่ดีนั้น นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้นตอของปัญหาได้แล้ว ยังช่วยประหยัดต้นทุนสินค้าและเพิ่มพูนความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เมื่อต้นทุนสินค้าตั้งต้นถูกลง ประกอบกับค่าขนส่งสินค้าผ่านระบบรางอันแสนถูก จึงทำให้สินค้าปลายทางราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับประเทศที่ยังคงพึ่งพาระบบการขนส่งทางถนน เช่น ไทย จึงเพิ่มแต้มต่อในการแข่งขันของสินค้าจีนในต่างประเทศ

ระบบรางของจีนนั้นเรียกได้ว่า พัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่มีสะดุด จากระบบรางที่ไม่มีใครพูดถึงหรือยกเป็นกรณีศึกษาเลยเมื่อหลายสิบปีก่อน จนกลายมาเป็นประเทศที่มีระบบรางยาวที่สุดอันดับ 2 ของโลกที่ ประมาณ 155,000 กม. รองจากอันดับ 1 ตลอดกาลอย่างสหรัฐที่ยาวเกือบ 300,000 กม.

ขณะที่ระบบรางของไทยนั้นได้ชื่อว่าเป็นระบบรางที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย การพัฒนาระบบรางของไทยนั้นใช้โมเดลของอังกฤษ เช่นเดียวกับถนนหนทางที่เขาขับรถทางซ้าย เช่นเดียวกับอีกประเทศหนึ่งในเอเชียอย่างญี่ปุ่นซึ่งก็มีระบบรางพร้อม ๆ กับเราที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

แต่สิ่งที่แตกต่างจากไทยก็คือญี่ปุ่นมีการพัฒนาระบบรางอย่างต่อเนื่องจนทำให้ประเทศที่มีพื้นที่ไม่มากนั้นมีระบบรางที่มีความยาวถึง 27,331 กม. ถือเป็นอันดับ 2 ของเอเชียและอันดับที่ 11 ของโลก ขณะที่ไทยเรานั้นพอเพียงแทบจะพูดได้ว่ามีการพัฒนาน้อยมากจนถึงแทบจะไม่มีการพัฒนาเพิ่มเติมเลยเมื่อเทียบกับการเติบโตของขนาดเศรษฐกิจของเรา

ระบบรางของไทยนั้น มีความยาวโดยรวมของทางรถไฟ ไม่จะว่าเป็นรถไฟฟ้าบนดิน รถไฟใต้ดิน หรือรถไฟปกติที่ 4,127 กม. คิดเป็นอันดับที่ 47 ของโลก เป็นรองแม้กระทั่งประเทศเมียนมาและซูดาน

โดยปกติ ระบบรางจะเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศที่มีขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐ รัสเซีย แคนาดา อินเดีย จึงทำให้ประเทศเหล่านี้ติดอันดับประเทศที่มีระบบรางยาวที่สุดของโลก แต่ประเทศที่มีขนาดไม่ใหญ่มากแต่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมมาก่อน อาทิ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และอังกฤษ ก็มีระบบรางที่ครอบคลุมกว้างไกลเช่นเดียวกัน และประเทศเหล่านี้ที่ไทยสมควรจะทำกรณีศึกษา

การพัฒนาระบบรางนั้นมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนสูงมาก ซึ่งการลงทุนเหล่านี้จะไม่มีทางคุ้มทุนใน 10-20 ปีได้เลย หากมองในทางบัญชี แต่หากมองด้วยแว่นตาทางเศรษฐศาสตร์แล้วจะพบว่า การลงทุนเหล่านี้นั้นมีประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะในปัจจุบันที่โลกอยู่ท่ามกลางการแข่งขันทางต้นทุน

การพัฒนาระบบรางให้กว้างขวางกว้างไกลออกไปให้เร็วที่สุด จึงมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย เป็นการใช้งบประมาณแบบผูกพันที่คนทั้งประเทศจะได้ประโยชน์ มากกว่าการซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหาร การพัฒนาระบบรางจะช่วยกระจายความเจริญ กระจายเม็ดเงินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เคยรวมศูนย์ในเมืองใหญ่สู่ชานเมือง

ราคาต้นทุนสินค้าจะถูกลง ราคาของส่งสินค้าจะถูกลง ขณะที่ราคาที่ดินจะเพิ่มขึ้น จะลดการพึ่งพาการใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น ซึ่งก็จะช่วยปัญหามลพิษ นี่คือเหตุผลว่า ทำไมจีนถึงมีการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องทุกปี ขณะที่แก้ไขปัญหามลพิษได้อย่างดีไปพร้อมกันด้วย

ถ้าลงรายละเอียดให้ชัดจะพบว่า จีนมีการพัฒนาสร้างรางรถไฟอย่างต่อเนื่องมากตลอดทุกปี โดยเพิ่มรางรถไฟหลายพันกิโลเมตรต่อปี คิดเป็นการเติบโตที่ 3-8% ตลอดทุกปีตั้งแต่ปี 2554 เส้นทางก็ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ความเร็วในการเดินทางก็พัฒนาขึ้นจนกลายเป็นประเทศอันดับ 1 ที่มีรถไฟความเร็วสูงถึง 42,000 กม.

หากเรามีการพัฒนาระบบรางที่ดีอย่างต่อเนื่อง ก็มีโอกาสสูงมากที่คนไทยเราจะมีชีวิตที่ดีขึ้น และก็น่าจะดีกว่าในปัจจุบัน