ต้นทุนค้ำประกันพันธบัตรเครดิตสวิสพุ่ง หลังปิดเอสวีบี

ต้นทุนค้ำประกันพันธบัตรเครดิตสวิสพุ่ง หลังปิดเอสวีบี

บลูมเบิร์ก รายงานว่า ค่าใช้จ่ายในการค้ำประกันพันธบัตรของเครดิตสวิส กรุ๊ป เอจี ต่อการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ (เอสวีบี) ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการแพร่กระจายในวงกว้างในอุตสาหกรรมการธนาคาร

ข้อมูลจาก CMAQ ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการค้ำประกันพันธบัตรของเครดิตสวิส กรุ๊ป เอจี ต่อการผิดนัดชำระหนี้ระยะ 5 ปี เพิ่มขึ้นมากถึง 0.36% เป็น 4.53% เมื่อวันจันทร์(13มี.ค.) ถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดในดัชนีบลูมเบิร์กที่ติดตามการเคลื่อนไหวของซีดีเอสบริษัทชั้นดีของยุโรป 125 แห่ง

ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารและบริษัทประกันยุโรปปรับตัวร่วงลงอย่างมากในวันจันทร์  ซึ่งรวมถึงราคาหุ้นเครดิตสวิสที่ร่วงลงมากถึง 15% ทำสถิติปิดที่ราคาต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ราคาหุ้นเครดิตสวิสอยู่ในช่วงขาลงตั้งแต่ก่อนเกิดปรากฏการณ์ปิดแบงก์สหรัฐสามแห่งในเวลาไล่เลี่ยกัน เนื่องจากบรรดานักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับความสามารถของเครดิตสวิสในการดำเนินแผนปรับโครงสร้าง โดยไม่มั่นใจว่าแผนนี้จะได้ผล จะช่วยพลิกฟื้นธุรกิจของธนาคารให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้งหรือไม่ ประกอบกับการลดต้นทุนด้านบุคลากรของธนาคารด้วยการโละพนักงาน จำนวนมากถึง 9,000 คน 

เมื่อวันพุธ(8มี.ค.) สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า เครดิตสวิส ธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศเลื่อนการเผยแพร่รายงานประจำปี 2565 หลังได้รับโทรศัพท์จากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (กลต.

เครดิตสวิส ระบุว่า การสนทนาครั้งนี้เกี่ยวข้องกับความคิดเห็นของกลต.ต่อการประเมินทางเทคนิคของการปรับปรุงงบกระแสเงินสดรวมสำหรับปีที่สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2563 และ 2562 รวมถึงการควบคุมที่เกี่ยวข้อง

“ฝ่ายบริหารเชื่อมั่นว่า เป็นการรอบคอบที่จะชะลอการเผยแพร่รายงานของธนาคารออกไปสักระยะเพื่อทำความเข้าใจกับความคิดเห็นที่ได้รับมาให้ละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น แต่เราขอยืนยันว่าผลประกอบการทางการเงินปี 2565 ที่เผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 9 ก.พ. ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ข้างต้น” เครดิตสวิสระบุ

เมื่อวันที่ 9 ก.พ. เครดิตสวิสรายงานผลขาดทุนสุทธิสำหรับตลอดทั้งปี 2565 ที่ 7.3 พันล้านฟรังก์สวิส (7.8 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งส่งผลให้เป็นอีกปีที่เครดิตสวิสขาดทุนอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อเดือนต.ค. ปี2565 เครดิตสวิสประกาศแผนการลดขนาดและเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจสามารถกลับมาทำกำไรได้อย่างมั่นคง หลังธุรกิจวาณิชธนกิจของเครดิตสวิสทรุดตัวลงแบบต่อเนื่อง ตลอดจนเผชิญความเสี่ยงและความล้มเหลวในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ