‘เครดิต สวิส’ ฟันธงปี 66 ‘ตราสารทุน’ ชนะทุกสินทรัพย์ 

‘เครดิต สวิส’ ฟันธงปี 66 ‘ตราสารทุน’ ชนะทุกสินทรัพย์ 

'เครดิต สวิส' เปิดเผยแนวโน้มด้านการลงทุนสำหรับปี 2023 วันนี้ (23 ก.พ.) ผ่านบทวิเคราะห์ ‘Credit Suisse Global Investment Returns Yearbook 2023’ ฉบับที่ 15 ประกอบด้วย 3 ประเด็นหลักคือ มุมมองด้านการลงทุนในระยะยาว เงินเฟ้อ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างเงินเฟ้อและสินค้าโภคภัณฑ์

Key Points 

  • ตราสารทุนทำผลงานได้ดีที่สุด ช่วง 123 ปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนจริง 5% ต่อปี ด้านพันธบัตรและตั๋วเงินได้เพียง 1.7% และ 0.4% ตามลำดับ
  • มูลค่าตลาดหุ้นสหรัฐมีขนาดใหญ่ที่สุดคิดเป็น 58% ของตลาดหุ้นทั่วโลก
  • คาดอัตราเงินเฟ้ออาจแตะจุดสูงสุดแล้วเมื่อปี 2022 ทว่าอาจใช้เวลาอีกหลายปีกลับสู่ระดับเป้าหมาย
  • ในอนาคตมีโอกาสเกิด stagflation ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนจริงของ ‘ตราสารทุน’ และ ‘พันธบัตร’ ลบเฉลี่ย 4.7% และ 9.0% ตามลำดับ
  • หากซื้อทองในราคา 1 ดอลล์ในปี 1900 พอถึงปี 2022 มูลค่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ดอลลาร์ ในขณะที่พันธบัตรและตราสารทุนอยู่ที่ 7.8 ดอลล์ และ 2,024 ดอลล์ ตามลำดับ 

ธนาคารเครดิต สวิส ปล่อยบทวิเคราะห์ ‘Credit Suisse Global Investment Returns Yearbook 2023’ ฉบับที่ 15 ซึ่งเปิดเผยแนวโน้มและข้อมูลด้านการลงทุนสำหรับปี 2566 โดยรวบรวมจากข้อมูลและสถิติตลอด 123 ปีที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วย 3 ประเด็นหลักคือ

1. มุมมองด้านการลงทุนในระยะยาว

  • ตราสารทุน (อิควิตี้) ทําผลงานได้ดีที่สุดในระยะยาว โดยในช่วง 123 ปีที่ผ่านมาตราสารทุนทั่วโลกให้ผลตอบแทนจริงอยู่ที่ 5.0% ต่อปี ในขณะที่พันธบัตร (บอนด์) และตั๋วเงิน (บิลล์) ให้ผลตอบแทนจริงอยู่ที่ 1.7% และ 0.4% ตามลำดับ
  • ตราสารทุนทำผลงานได้ดีกว่า (outperform) พันธบัตร ตั๋วเงิน และอัตราเงินเฟ้อในตลาดทั้ง 35 แห่ง ตั้งแต่ปี 1900 ตราสารทุนทั่วโลกเพอร์ฟอร์มเหนือกว่าตั๋วเงิน 4.6% ต่อปี และเหนือกว่าพันธบัตร อยู่ 3.3% ต่อปี
  • เบี้ยประกันความเสี่ยงด้านตราสารทุน (the equity risk premium) คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.5% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขในอดีตเล็กน้อยที่ 4.6% 
  • ในช่วง 20 ปีนี้ ด้วยเบี้ยประกันภัย (premium) 3.5% นักลงทุนในตราสารทุนอาจลงทุนเพิ่มเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับเม็ดเงินลงทุนในตั๋วเงินรัฐบาลแบบระยะสั้น 
  • ออสเตรเลียเป็นตลาดหุ้นที่แสดงศักยภาพได้ดีที่สุด (เฉพาะสกุลเงินดอลลาร์)ซึ่งมีผลตอบแทนจริงที่ 6.43% ต่อปี ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกาที่ 6.38% ต่อปี
  • มูลค่าตลาดหุ้นสหรัฐคิดเป็น 58% ของมูลค่าตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งคิดตามอัตรา free-float และความเป็นไปได้ในการลงทุน (investible basis) โดยตลาดหุ้นอเมริกามีขนาดใหญ่กว่าญี่ปุ่นถึง 9 เท่า อีกทั้งสหรัฐยังเป็นตลาดพันธบัตรที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย 
  • การกระจายความเสี่ยงในหุ้น ในรายประเทศ และรายสินทรัพย์ ตั้งแต่ในอดีตส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยง (the return-risktradeoff) ปรับตัวอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม โดยการกระจายความเสี่ยงยังเป็นเครื่องมือการลงทุนที่มีประโยชน์อย่างมาก

2. เงินเฟ้อ

  • ภายในสิ้นปี 2022 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม ‘Yearbook’ จะอยู่ที่ 8.0% ซึ่งสูงกว่า ณ สิ้นปี 2020 ถึง 19 เท่า
  • มีสัญญาณว่าอัตราเงินเฟ้อได้แตะจุดสูงสุดไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2022 แล้วอย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์มองว่า จากสถิติในอดีต หากอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงกว่า8% ไปแล้ว อาจจำเป็นต้องใช้เวลาหลายปีในการกลับไปสู่อัตราเป้าหมาย
  • ในช่วง 123 ปีที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อส่งผลกระทบทางลบต่อทั้งพันธบัตรและตราสารทุน ซึ่งตราสารทุนไม่มีเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยง (เฮดจ์) จากเงินเฟ้อ
  • ความสัมพันธ์ระหว่างหุ้นกับพันธบัตรส่วนใหญ่ติดลบมานานกว่าสองทศวรรษจนถึงสิ้นปี 2021 ทําให้หุ้นและพันธบัตรถือเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์มองว่าสถานการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องปกติในระยะยาว
  • ในปี 2022 การเฮดจ์ล้มเหลวเนื่องจากราคาหุ้นและพันธบัตรปรับตัวลดลงจากอัตราเงินเฟ้อและจากการที่อัตราดอกเบี้ยแท้จริง (real interest) ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
  • ในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมาพันธบัตรให้ผลตอบแทนเทียบเท่าตราสารทุน ทว่าปีที่แล้วกฎของความเสี่ยงและผลตอบแทน (the law of risk and return) เปลี่ยนไปจากเดิม โดยพันธบัตรให้ผลตอบแทนแย่ที่สุด ทั้งในสหรัฐ อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งในตลาดของประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ
  • ในอดีตบทวิเคราะห์ฉบับดังกล่าวให้ข้อมูลไว้ว่าผลตอบแทนของหุ้นและพันธบัตรจะอยู่ในระดับต่ำมากช่วง ‘hiking cycles’ และให้ผลตอบแทนสูงในช่วง‘easing cycles’ ทว่าสำหรับสหรัฐและอังกฤษช่วงที่ผ่านมา เบี้ยประกันความเสี่ยงด้านตราสารทุน (equity risk premium) ส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นในช่วง ‘easing cycles’
  • นักลงทุนกังวลกับสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่เงินเฟ้อกลับพุ่ง หรือ stagflation ซึ่งบทวิเคราะห์ฉบับนี้มองว่าความกังวลดังกล่าวมีเค้าลาง โดยในช่วง Stagflation ผลตอบแทนของตราสารทุนและพันธบัตรจริงอาจลบเฉลี่ย 4.7% และ9.0% ตามลำดับ ในทางตรงกันข้ามหากเศรษฐกิจทั่วโลกสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง ผลตอบแทนที่แท้จริงของตราสารทุนและ พันธบัตรอาจเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15.1% และ 8.8% ตามลำดับ

3. สินค้าโภคภัณฑ์และเงินเฟ้อ

  • ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในหมวดพลังงานถือเป็นตัวขับเคลื่อนทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงเป็นคำถามที่น่าสนใจว่าการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์นับเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่มีประสิทธิภาพหรือไม่
  • ตั้งแต่ปี 1900 สินค้าโภคภัณฑ์แบบสปอตให้ผลตอบแทนระยะยาวอยู่ในระดับต่ำโดยมีผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ลบ 0.5% ต่อปี ในขณะที่ โภคภัณฑ์ที่อยู่ในการควบคุมของผู้วิจัยกว่า 72% ไม่สามารถเอาชนะอัตราเงินเฟ้อได้
  • อย่างไรก็ตาม หากจัดพอร์ตการลงทุนแบบถ่วงน้ำหนักของสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในสปอตเดียวกัน จะให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 2.0% ต่อปี แสดงให้เห็นพลังของการกระจายความเสี่ยง (the power of diversification)
  • ทองไม่ใช่เพียงสินค้าโภคภัณฑ์เท่านั้นแต่ยังถือเป็นหนึ่งในการลงทุนด้วย โดยหากคุณซื้อทองในราคา 1 ดอลลาร์ในปี 1900 พอถึงปี 2022 มูลค่าจะเพิ่มขึ้นเป็น2.5 ดอลลาร์ ในขณะที่หากคุณซื้อพันธบัตรและตราสารทุนด้วยจำนวนเท่ากันและช่วงเวลาเดียวกัน ในปี 2022 จะมีมูลค่า 7.8 ดอลลาร์ และ 2,024 ดอลลาร์ ตามลำดับ ทั้งนี้ทองยังมีบทบาทในแง่ของป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อและถือเป็นการลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำ (cautionary investment)
  • หากไม่นับรวมโลหะที่มีมูลค่า โดยปกติแล้วนักลงทุนมักหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์สแบบสปอต (spot commodities) เนื่องจากเหตุผลด้านค่าจัดเก็บและประกันภัย ทั้งนี้ การซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์แบบสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Future) เป็นทางเลือกที่สะดวกและราคาถูกกว่า
  • สัญญาฟิวเจอร์ของสินค้าโภคภัณฑ์ส่วนบุคคล (Individual commodity futures) สร้างผลตอบแทนสูงกว่าสินค้าโภคภัณฑ์แบบสปอตซึ่งมีความผันผวนด้านราคา และในระยะยาวสัญญาซื้อขายดังกล่าวยังให้ผลตอบแทนชนะตั๋วเงินคลัง (Treasury bills) อยู่ที่ 1% ต่อปี
  • พอร์ตการลงทุนที่ถ่วงน้ำหนักแบบเท่าๆ กันระหว่างสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในหมวดเดียวกันสามารถให้ผลตอบแทนส่วนเกิน (Excess Return) มากกว่า 3%ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าผลตอบแทนของตั๋วเงินคลัง
  • ตั้งแต่ปี 1900 พอร์ตการลงทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่สมดุลและได้รับการป้องกันความเสี่ยงอย่างเต็มรูปแบบ (a fully collateralized balanced portfolio of futures) ให้เบี้ยประกันความเสี่ยงสูงกว่าหุ้นในตลาดหลักทั้งหมด ทว่ายังมีความผันผวนคล้ายกับหุ้น
  • อย่างไรก็ตาม สัญญาซื้อขายล่วงหน้าอย่างเช่นหุ้นค่อนข้างอ่อนไหวต่อการขาดทุนสะสมที่ลึกและยาวนาน โดยการขาดทุนสะสมของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เป็นที่จดจำมากที่สุดเกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ทศวรรษ1930 และหลังวิกฤตการณ์ทางการเงินโลก หรือ Global Financial Crisis
  • ในอดีตสินค้าโภคภัณฑ์ไม่มีความสัมพันธ์ใดกับตราสารทุน แต่มีความสัมพันธ์เชิงลบกับพันธบัตร จึงทำให้นักลงทุนมองว่าสินค้าโภคภัณฑ์ถือเป็นเครื่องมือกระจายความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังมีการป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อด้วย  ดังนั้นในแง่ดังกล่าวจึงทำให้สินค้าโภคภัณฑ์มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในขณะที่สินทรัพย์หลักอย่างหุ้น พันธบัตร และอสังหาริมทรัพย์กลับมีความสัมพันธ์เชิงลบกับอัตราเงินเฟ้อ
  • ในขณะที่สัญญาซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มเพอร์ฟอร์มได้ดีในยามที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ทว่าในยามที่เกิดสภาวะเงินฝืดคุณสมบัติการป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อของสินทรัพย์ดังกล่าวก็จะมีประสิทธิภาพที่แย่ลง (อันเดอร์เพอร์ฟอร์ม)ไปด้วย 
  • หากอ้างอิงตามอัตราผลตอบแทนในอดีต อาจเป็นไปได้ว่าพอร์ตการลงทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่สมดุลและได้รับการป้องกันความเสี่ยงอย่างเต็มรูปแบบมีแนวโน้มให้เบี้ยประกันความเสี่ยงระยะยาวประมาณ 3% ต่อปี 
  • อย่างไรก็ดี ยังมีปัญหาสำหรับสินทรัพย์ประเภทนี้อยู่บ้าง คือขนาดตลาดที่ลงทุนได้ (The investable market size) ค่อนข้างเล็ก ดังนั้นแม้นักลงทุนรายย่อยหรือสถาบันยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงในสินทรัพย์ดังกล่าวได้ ทว่าหากเพิ่มขึ้นด้วยจำนวนที่มากจนเกินไปรวมทั้งหากทุกคนพยายามเพิ่มพร้อมๆ กัน ก็อาจเป็นหนึ่งความท้าทายของสินทรัพย์ดังกล่าว
  • ผู้วิจัยไม่นำคริปโตเคอเรนซีมาอยู่ในบทวิเคราะห์นี้ ทว่าจากสถานการณ์ที่ผ่านมา เห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่าสกุลเงินดิจิทัลดังกล่าวไม่สามารถป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อได้