เอาจริง! จีนศึกษาเจาะลึกสงครามยูเครน หาทางรับมือหากต้องรบสหรัฐ

เอาจริง! จีนศึกษาเจาะลึกสงครามยูเครน หาทางรับมือหากต้องรบสหรัฐ

นักวิจัยกองทัพจีนขณะนี้กำลังศึกษาความยากลำบากของรัสเซียในยูเครน เพื่อวางแผนรับมือหากเกิดความขัดแย้งกับกองกำลังนำโดยสหรัฐในเอเชีย ได้ข้อสรุปว่า จีนจำเป็นต้องมีขีดความสามารถยิงดาวเทียมวงโคจรต่ำ “สตาร์ลิงค์” และปกป้องรถถังและเฮลิคอปเตอร์จากขีปนาวุธประทับบ่า“เจฟลิน”

Key points:

  • สำนักข่าวรอยเตอร์ตรวจสอบบทความเกือบ 100 ชิ้นในวารสารทางการทหารกว่า 20 ฉบับผลงานของนักวิจัยหลายร้อยคน ในเครือข่ายมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับกองทัพปลดแอกประชาชนจีน
  • อุตสาหกรรมกลาโหมจีนกำลังจับตาผลของอาวุธและเทคโนโลยีที่สหรัฐอาจนำมาใช้กับกองทัพจีนในการทำสงครามกรณีไต้หวัน
  • แม้สถานการณ์แตกต่างกันมากกับไต้หวัน แต่สงครามยูเครนให้ข้อมูลเชิงลึกแก่จีน
  • นักวิเคราะห์ของพีแอลเอกังวลมานานแล้วเรื่องพละกำลังทางทหารที่เหนือกว่าของสหรัฐ

สำนักข่าวรอยเตอร์ตรวจสอบบทความเกือบ 100 ชิ้นในวารสารทางการทหารกว่า 20 ฉบับ ผลงานของนักวิจัยหลายร้อยคน ในเครือข่ายมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (พีแอลเอ) รัฐวิสาหกิจผลิตอาวุธ และกลุ่มคลังสมองข่าวกรองทหารพบว่า อุตสาหกรรมกลาโหมจีนกำลังจับตาผลของอาวุธและเทคโนโลยีที่สหรัฐอาจนำมาใช้กับกองทัพจีนในการทำสงครามกรณีไต้หวัน รวมทั้งตรวจสอบปฏิบัติการก่อวินาศกรรมของชาวยูเครนด้วย 

แม้ทางการจีนเลี่ยงที่จะแสดงความเห็นอย่างเปิดเผยต่อการกระทำของรัสเซียหรือผลการสู้รบในสมรภูมิ ควบคู่ไปกับการร้องหาสันติภาพและการเจรจา บทความในวารสารเหล่านี้กลับประเมินจุดอ่อนของรัสเซียได้อย่างตรงไปตรงมามากกว่า

กระทรวงกลาโหมจีนไม่ให้ความเห็นถึงข้อค้นพบของนักวิจัย รอยเตอร์เองไม่สามารถบอกได้ว่าข้อสรุปเหล่านี้สะท้อนความคิดของผู้นำกองทัพจีนได้มากน้อยแค่ไหน แต่ทูตทหารสองนายและนักการทูตอีกหนึ่งรายที่รู้เรื่องดีกล่าวว่า คณะกรรมาธิการทหารกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน นำโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นผู้กำหนดและกำกับความต้องการวิจัยในท้ายที่สุด ซึ่งดูจากปริมาณของบทความชัดเจนว่ายูเครนเป็นโอกาสที่ผู้นำทหารต้องการคว้าเอาไว้

สอดคล้องกับเจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐรายหนึ่งกล่าวกับรอยเตอร์ว่า แม้สถานการณ์แตกต่างกันมากกับไต้หวัน แต่สงครามยูเครนให้ข้อมูลเชิงลึกแก่จีน

“บทเรียนสำคัญที่โลกควรเรียนรู้จากการที่นานาชาติตอบโต้อย่างรวดเร็วเมื่อรัสเซียรุกรานยูเครนคือ

ความก้าวร้าวจะต้องเจอกับการกระทำอันเป็นเอกภาพมากขึ้นเรื่อยๆ” แหล่งข่าวกล่าวโดยไม่ได้ระบุถึงความกังวลที่จีนวิจัยขีดความสามารถของสหรัฐโดยเฉพาะ

จับตาสตาร์ลิงค์

เอาจริง! จีนศึกษาเจาะลึกสงครามยูเครน หาทางรับมือหากต้องรบสหรัฐ

รายงานครึ่งโหลของนักวิจัยพีแอลเอเน้นย้ำความกังวลของจีนต่อสตาร์ลิงค์ เครือข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ พัฒนาโดยบริษัทสเปซเอ็กซ์ของอีลอน มัสก์ ที่ช่วยให้กองทัพยูเครนสื่อสารกันได้ในช่วงที่ขีปนาวุธรัสเซียถล่มเครือข่ายไฟฟ้ายูเครน

“ผลงานยอดเยี่ยมของดาวเทียมสตาร์ลิงค์ในความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนจะกระตุ้นให้สหรัฐและชาติตะวันตกใช้สตาร์ลิงค์อย่างกว้างขวาง ถ้าเกิดการกระทำอันเป็นปรปักษ์ขึ้นในเอเชีย” บทความชิ้นหนึ่งของนักวิจัยร่วมจากมหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์กองทัพแห่งพีแอลเอระบุไว้เมื่อเดือน ก.ย. พร้อมย้ำว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับจีนที่มีเป้าหมายพัฒนาเครือข่ายดาวเทียมคล้ายๆ กัน ต้องหาทางยิงหรือทำลายสตาร์ลิงค์ไม่ให้ใช้การได้ ในประเด็นนี้สเปซเอ็กซ์ไม่ได้ให้ความเห็นกับรอยเตอร์

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังก่อให้เกิดฉันทามติในหมู่นักวิจัยชาวจีนว่า สงครามโดรนควรค่าแก่การลงทุนมากกว่า ซึ่งจีนเคยทดสอบโดรนในน่านฟ้ารอบไต้หวันมาแล้วหลายครั้ง

“อากาศยานไร้มนุษย์เหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นแนวหน้าของสงครามในอนาคต” บทความชิ้นหนึ่งระบุไว้ในวารสารเผยแพร่โดยรัฐวิสาหกิจผลิตอาวุธ NORINCO ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ของพีแอลเอ อธิบายว่า โดรนทำลายขีดความสามารถในการป้องกันของศัตรูได้

วารสารบางฉบับดำเนินการโดยสถาบันวิจัยของมณฑล บ้างเผยแพร่โดยหน่วยงานรัฐบาลกลาง เช่น องค์กรบริหารวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันชาติ ซึ่งดูแลการผลิตอาวุธและปรับปรุงกองทัพ

บทความชิ้นหนึ่งในวารสารรัฐบาลเมื่อเดือน ต.ค. รายงานว่า เมื่อดูความเสียหายร้ายแรงของรถถัง รถหุ้มเกราะ และเรือรบรัสเซียที่โดนขีปนาวุธสติงเกอร์และเจฟลินฝีมือนักรบยูเครนแล้ว จีนควรพัฒนาขีดความสามารถในการปกป้องยุทโธปกรณ์ของตนเอง

คอลลิน โก๊ะ นักวิจัยความมั่นคงจากวิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษา เอส ราชารัตนัมของสิงคโปร์ กล่าวว่า ความขัดแย้งในยูเครนเป็นแรงกระตุ้นสำคัญต่อความพยายามที่นักวิทยาศาสตร์การทหารของจีนมีมายาวนานในการพัฒนาโมเดลสงครามไซเบอร์ และหาทางปกป้องรถหุ้มเกราะของตนเองจากอาวุธตะวันตกให้ได้ดียิ่งขึ้น

“สตาร์ลิงค์เป็นเรื่องใหม่มากให้พวกเขาต้องกังวล การประยุกต์เทคโนโลยีพลเรือนขั้นสูงมาเป็นเครื่องมือทางทหารที่เลียนแบบกันไม่ได้ง่ายๆ” โก๊ะกล่าวและว่า นอกเหนือจากเทคโนโลยี เขาไม่แปลกใจเลยที่จีนศึกษาการปฏิบัติการของกองกำลังพิเศษยูเครนในรัสเซียด้วย ซึ่งจีนก็เหมือนกับรัสเซีย การเคลื่อนพลและอาวุธทางรางทำให้เสี่ยงถูกก่อวินาศกรรม

สำหรับพีแอลเอแม้ปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยอย่างรวดเร็วแต่ช่วงหลังขาดประสบการณ์การสู้รบครั้งใหญ่ ครั้งสุดท้ายก็ตอนที่จีนรุกรานเวียดนามในปี 1979 ความขัดแย้งนี้ดำเนินไปจนกระทั่งปลายทศวรรษ 80

การทบทวนวารสารจีนของรอยเตอร์เกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลของชาติตะวันตกว่า จีนอาจกำลังวางแผนจัดหาความช่วยเหลือร้ายแรงให้รัสเซียโจมตียูเครน ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งปฏิเสธ

ไต้หวันและอื่นๆ

เอาจริง! จีนศึกษาเจาะลึกสงครามยูเครน หาทางรับมือหากต้องรบสหรัฐ บทความจีนบางชิ้นเน้นย้ำถึงความเกี่ยวข้องของยูเครนต่อจีน เนื่องจากจีนเสี่ยงขัดแย้งกับสหรัฐและพันธมิตรเป็นไปได้ว่าเรื่องไต้หวัน เพราะสหรัฐมีนโยบาย “ความกำกวมทางยุทธศาสตร์” ไม่ทราบว่าจะเข้าแทรกแซงทางทหารเพื่อปกป้องไต้หวันรือไม่ แต่มีข้อผูกพันทางกฎหมายจัดหาเครื่องมือให้ไต้หวันป้องกันตนเอง

วิลเลียม เบิร์นส ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐ (ซีไอเอ) กล่าวว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงสั่งกองทัพเตรียมความพร้อมรุกรานไต้หวันภายในปี 2570 พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ผู้นำจีนอาจไม่สบายใจกับสิ่งที่รัสเซียเจอในยูเครน

บทความชิ้นหนึ่งเผยแพร่เดือน ต.ค. โดยสองนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศของพีแอลเอ วิเคราะห์ผลกระทบจากการที่สหรัฐส่งขีปนาวุธหลายลำกล้อง HIMARS ไปให้ยูเครน และกองทัพจีนควรกังวลหรือไม่

บทความชิ้นนี้เน้นย้ำว่าจีนก็มีระบบจรวดที่ก้าวหน้าทำงานโดยมีโดรนสอดแนมเป็นตัวสนับสนุน และว่าการใช้ HIMARS ของยูเครนสำเร็จได้เพราะต้องพึ่งพาการแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองและเป้าหมายของสหรัฐผ่านดาวเทียมสตาร์ลิงค์

นักการทูตสี่คนรวมถึงทูตทหารสองคน บอกว่า นักวิเคราะห์ของพีแอลเอกังวลมานานแล้วเรื่องพละกำลังทางทหารที่เหนือกว่าของสหรัฐ แต่ยูเครนทำให้ต้องมาโฟกัสหนักขึ้นเพราะชี้ให้เห็นชัดเจนถึงความล้มเหลวของมหาอำนาจขนาดใหญ่ในการครอบงำประเทศเล็กที่ได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตก

แม้สถานการณ์นี้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับไต้หวันแต่มีความแตกต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาความเสี่ยงของไต้หวันที่จะถูกจีนปิดล้อม ซึ่งอาจบีบให้กองทัพที่เข้ามาแทรกแซงต้องเผชิญหน้ากัน ตรงข้ามกับกรณียูเครนที่ประเทศตะวันตกซัพพลายอาวุธให้ได้ทางบกผ่านเพื่อนบ้านยุโรป

การศึกษาของรอยเตอร์พบด้วยว่า บทความที่พูดถึงไต้หวันมีไม่กี่ชิ้น แต่นักการทูตและนักวิชาการต่างชาติที่ติดตามงานวิจัยกล่าวว่า นักวิเคราะห์กลาโหมจีนได้รับมอบหมายให้ทำรายงานภายในแยกต่างหากส่งให้ผู้นำอาวุโสทางการเมืองและการทหาร ซึ่งรอยเตอร์ไม่สามารถเข้าถึงรายงานภายในเหล่านั้นได้

ชิว โกเจง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไต้หวัน กล่าวในเดือน ก.พ.กองทัพจีนกำลังเรียนรู้จากการรุกรานยูเครนของรัสเซียว่า การโจมตีไต้หวันต้องรวดเร็วจึงจะสำเร็จ ไต้หวันเองก็กำลังศึกษาความขัดแย้งนี้เพื่อปรับปรุงยุทธศาสตร์การต่อสู้ของตนเช่นกัน

บทความหลายชิ้นวิเคราะห์การต้านทานอันแข็งแกร่งของยูเครน รวมถึงปฏิบัติการพิเศษก่อวินาศกรรมในรัสเซีย การใช้แอพพลิเคชันเทเลแกรมเพื่อใช้ประโยชน์จากข่าวกรองพลเรือน และการป้องกันโรงงานเหล็กอาซอว์สตัลในมาริอูโพล ความสำเร็จของรัสเซียก็มีเขียนไว้ เช่น การโจมตีเชิงยุทธวิธีโดยใช้ขีปนาวุธอิสกันดาร์

วารสารเทคโนโลยีขีปนาวุธเชิงยุทธวิธี เผยแพร่โดยบรรษัทอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์อวกาศจีน วิเคราะห์อิสกันดาร์โดยละเอียด แต่เผยแพร่เฉพาะเวอร์ชันตัดทอนแล้วสู่สาธารณะ

บทความจำนวนมากโฟกัสที่ความผิดพลาดในการรุกรานของกองทัพรัสเซีย ชิ้นหนึ่งในวารสารสงครามรถถังระบุถึงยุทธวิธีล้าสมัย การบัญชาการไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อีกชิ้นเผยแพร่ในวารสารสงครามเวอร์ชันออนไลน์กล่าวว่าการรบกวนการสื่อสารของรัสเซียไม่เพียงพอรับมือกับการจัดหาข่าวกรองให้กับชาวยูเครนได้ นำไปสู่การซุ่มโจมตีเสียหายมหาศาล

งานชิ้นหนึ่งโดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิศวกรรมแห่งกองทัพตำรวจประชาชน เผยแพร่ในปีนี้ ประเมินข้อมูลเชิงลึกที่ีจีนสามารถรวบรวมได้จากเหตุระเบิดสะพานเคิร์ชในไครเมียที่รัสเซียยึดครอง แต่บทวิเคราะห์เต็มไม่เผยแพร่ต่อสาธารณะ

นอกเหนือจากสงครามในสมรภูมิยังมีการศึกษาถึงสงครามข่าวสาร ที่นักวิจัยสรุปว่า ยูเครนและพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะ

บทความชิ้นหนึ่งเมื่อเดือน ก.พ. โดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิศวกรรมข่าวสารพีแอลเอ เรียกร้องให้จีนเตรียมการล่วงหน้าโดนสาธารณชนโลกตอบโต้เหมือนอย่างที่รัสเซียโดนมาแล้ว

บทความเสนอว่า จีนควร “ส่งเสริมสร้างเวทีการเผชิญหน้าทางการรับรู้” และควบคุมโซเชียลมีเดียให้เข้มงวดป้องกันการระดมส่งข้อมูลจากตะวันตกเพื่อสร้างอิทธิพลต่อชาวจีนระหว่างเกิดความขัดแย้ง