‘สิงคโปร์’ แดนสวรรค์อภิมหาเศรษฐีจีน

‘สิงคโปร์’ แดนสวรรค์อภิมหาเศรษฐีจีน

ครอบครัวชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่รวยล้นฟ้าระดับ mega rich กำลังหาทางปกป้องความมั่งคั่งของตนจากพรรคคอมมิวนิสต์ที่่มองพวกเขาอย่างไม่ไว้ใจมากขึ้น วิธีหนึ่งคือพากันย้ายไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งสิงคโปร์กำลังรู้สึกได้ถึงชาวจีนผู้มั่งคั่งที่ทะลักกันเข้ามา

การที่รัฐบาลปักกิ่งปราบปรามอภิมหาเศรษฐีเทคโนโลยี คนดังเลี่ยงภาษี และสามปีของนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ทำให้เศรษฐีจีนหลายคนมองหาที่พักเงิน คนวงในเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ด้วยความวิตกกังวลเป็นห่วงทรัพย์สิน อภิมหาเศรษฐีหลายคนพากันจองตั๋วไปสิงคโปร์ ศูนย์กลางการเงินเอเชียแห่งนี้มีคุณสมบัติครบถ้วนทุกอย่างให้เหล่านักธุรกิจย้ายถิ่นฐาน ​ไม่ว่าจะเป็นการปกครองด้วยพรรคการเมืองเดียวมาตลอดหกทศวรรษ ห้ามแรงงานประท้วง ห้ามเดินขบวน ภาษีค่อนข้างต่ำ และประชากรส่วนใหญ่เชื้อสายจีน

การเข้ามาของชาวจีนเมื่อเร็วๆ นี้เห็นได้ชัดเจนในสิงคโปร์ บางคนย้ายมาอยู่บ้านหรูริมน้ำบนเกาะเซ็นโตซา ที่ตั้งของสวนสนุก กาสิโน และสนามกอล์ฟหรู

‘สิงคโปร์’ แดนสวรรค์อภิมหาเศรษฐีจีน

“คุณไม่มีทางจินตนาการวิธีการใช้เงินของพวกเขาได้เลย บ้าคลั่งมาก” เพียร์ซ เจิ้ง ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) AIMS บริษัทให้บริการด้านการเข้าเมืองและย้ายถิ่นกล่าว เขาเคยไปงานปาร์ตี้ของลูกค้างานหนึ่ง มีการเสิร์ฟ “ยามาซากิ55” วิสกี้หายากของญี่ปุ่นขวดละราว 800,000 ดอลลาร์

ไม่เพียงแค่ช่วยเรื่องการเข้าเมืองบริษัทของเจิ้งยังช่วยหาคอนโดมิเนียมหรู จ้างคนขับรถ พาเด็กๆ เข้าเรียนในโรงเรียนเอกชน และเคยซื้อซิการ์มูลค่า 61,000 ดอลลาร์ให้ลูกค้า 

‘สิงคโปร์’ แดนสวรรค์อภิมหาเศรษฐีจีน

คนจีนที่เพิ่งเข้ามาขับโรลส์รอยซ์และเบนท์ลีย์ เข้าสนามกอล์ฟชั้นนำของประเทศบ่อยครั้ง เช่น เซนโตซากอล์ฟคลับที่เปิดรับเฉพาะสมาชิก ชาวต่างชาติต้องจ่ายปีละ 670,000 ดอลลาร์

“หลายคนเป็นคนจีนหนุ่มสาว สวมเสื้อผ้าล้ำสมัยของดีไซเนอร์ มักคบหากันเอง กินข้าวในหมู่พวกเดียวกัน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ” เบนนี เตียว กรรมการผู้จัดการเบลซอน บริษัทที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านกอล์ฟกล่าวเสริม

เงินผมยังเป็นของผม

การย้ายมาอยู่สิงคโปร์ทำให้ความมั่งคั่งของบรรดาผู้ร่ำรวยที่สุดของจีนพ้นเงื้อมมือรัฐบาลปักกิ่ง ผลพวงจากการปราบปรามผู้มีชื่อเสียงเขย่าขวัญอภิมหาเศรษฐี อย่างกรณี แจ็ค หม่า หนึ่งในนักธุรกิจดังแห่งเอเชีย ความมั่งคั่งหายไปราว 2.5 หมื่นล้านเมื่อคณะกรรมการกำกับดูแลจีนระงับการทำไอพีโอหุ้นแอนท์กรุ๊ปในปี 2563

นักบัญชีรายหนึ่งผู้คุ้นเคยกับสถานการณ์เล่าว่า เศรษฐีรายอื่นพากันหวั่นเกรงว่าพรรคคอมมิวนิสต์อาจใช้แรงกดดันแบบเดียวกันหรือหรือแม้แต่เข้าซื้อกิจการของพวกเขาในราคาถูก

“การย้ายมาสิงคโปร์ก็เพื่อสร้างความมั่นใจว่า เงินทองของครอบครัวได้รับการรักษาไว้ในที่ปลอดภัยและยืนยาวไปอีกหลายรุ่น” นักบัญชีรายนี้เสริม

แหล่งข่าวอีกรายจากแวดวงเดียวกันเผยว่า ระยะหลังสิงคโปร์ถูกมองมากขึ้นว่าเป็นบ้านมากกว่าแค่เป็นแผนสำรองลูกค้าคนหนึ่งบอกกับเขา “อย่างน้อยๆ เมื่อผมอยู่ที่นี่ ผมรู้ว่าเงินผมเป็นของผม”

เมื่อเร็วๆ นี้หนึ่งในผู้ก่อตั้ง “ไห่ตี้เหลา” เครือร้านฮอตพอตใหญ่สุดของจีน ตั้งสำนักงานครอบครัวขึ้นในสิงคโปร์

องค์กรการเงินสิงคโปร์ประเมินว่า จำนวนสำนักงานครอบครัว หรือบริษัทจัดการสินทรัพย์ที่มุ่งเน้นสินทรัพย์ของกลุ่มหรือบุคคลโดยเฉพาะเพิ่มขึ้นจาก 400 แห่งในปี 2563 เป็น 700 แห่งในปี 2564

โล เกียเหมิง หัวหน้าร่วมสำนักงานบริหารความมั่งส่วนบุคคลและสำนักงานครอบครัว บริษัทกฎหมาย Dentons Rodyk ประเมินว่า ภายในสิ้นปี 2565 มีการตั้งสำนักงานครอบครัว 1,500 แห่ง

“ผมจะไม่แปลกใจเลยหากตัวเลขทั้งหมดภายในสิ้นปี 2565 แสดงให้เห็นว่า 1 ใน 2 ของสำนักงานครอบครัวที่ตั้งขึ้นใหม่มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน”

เขตเป็นกลาง

นักวิเคราะห์กล่าวว่า อภิมหาเศรษฐีจีนยังหลั่งไหลออกนอกประเทศต่อเนื่อง แม้รัฐบาลยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์อันเข้มงวดและมาตรการควบคุมไปแล้วแต่ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัฐบาลปักกิ่งกับวอชิงตันยิ่งกระตุ้นความต้องการของเศรษฐีจีนระดับท็อปให้ย้ายไปต่างประเทศ

ซง เซ่งวุน นักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคจากซีไอเอ็มบีไพรเวตแบงกิง อธิบายว่า สิงคโปร์เป็น“พื้นที่เป็นกลางที่สะดวกมาก” ให้ชาวเมกะริชสามารถทำธุรกิจได้ เฉลียวฉลาดในการจัดการความสัมพันธ์กับวอชิงตันและปักกิ่ง ด้วยการรักษาสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับสหรัฐ พร้อมๆ กับคงสัมพันธ์การค้าที่แข็งแกร่งกับจีน

“สื่อกำลังจับตาการที่มหาเศรษฐีคนดังเข้าไปตั้งสำนักงานครอบครัวในสิงคโปร์ ได้สร้างจุดเด่นและดึงความสนใจมายังเกาะเล็กๆ ของเรา ถ้าคนรวยๆ ของโลกมารวมตัวกันที่สิงคโปร์ แล้วทำไมผมจะไม่มาล่ะ” โลกล่าวทิ้งท้าย