“องค์การอนามัยโลก” เร่งตรวจสอบยาแก้ไอ คร่าชีวิตเด็ก 300 คนใน 3 ประเทศ

“องค์การอนามัยโลก” เร่งตรวจสอบยาแก้ไอ คร่าชีวิตเด็ก 300 คนใน 3 ประเทศ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ตรวจสอบการเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ผลิตยาแก้ไอที่มีสารปนเปื้อนกับการเสียชีวิตของเด็ก 300 คนใน 3 ประเทศ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า องค์การอนามัยโลก กำลังตรวจสอบส่วนประกอบเฉพาะของยาแก้ไอที่ผลิตโดยบริษัทยา 6 รายในอินโดนีเซียและอินเดียว่า มีความเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตของเด็กกลุ่มหนึ่งเมื่อเร็วๆนี้หรือไม่ เพราะสงสัยว่าบริษัทเหล่านี้ซื้อวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์รายเดียวกันหรือไม่ โดยที่ WHO ไม่ได้ระบุชื่อซัพพลายเออร์แต่อย่างใด 

องค์การอนามัยโลกกำลังพิจารณาว่าจะมีคำแนะนำเรื่องการใช้ยาแก้ไอสำหรับเด็กเพิ่มเติมหรือไม่ ขณะที่ยังไม่สามารถอธิบายข้อสงสัยต่อคำถามถึงความปลอดภัยในยาชนิดนี้ เช่น ยาชนิดนี้สามารถใช้กับเด็กหรือไม่ หรือใช้เมื่อใด

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 เกิดเหตุเด็กเสียชีวิตด้วยอาการไตวายเฉียบพลัน ในประเทศแกมเบีย ตามด้วยการเสียชีวิตของเด็กๆ ทั้งในอินโดนีเซียและอุซเบกิสถาน โดยองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า การเสียชีวิตอาจมีความเชื่อมโยงกับยาแก้ไอที่ซื้อได้ตามร้านขายยา เพื่อใช้รักษาอาการเจ็บป่วยทั่วไป แต่อาจมีสารพิษที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ ไดเอทิลีนไกลคอลหรือเอธิลีนไกลคอล