"หมอธีระ" เผยเสียงเตือนต่อเนื่องจาก WHO การระบาด โควิด-19 -ไข้หวัดใหญ่ - RSV

"หมอธีระ" เผยเสียงเตือนต่อเนื่องจาก WHO การระบาด โควิด-19 -ไข้หวัดใหญ่ - RSV

"หมอธีระ" เผยองค์การอนามัยโลก ยังส่งสัญญาณเตือนอย่างต่อเนื่องให้ตระหนักถึงสถานการณ์ระบาดของ "โควิด-19" ไข้หวัดใหญ่ และ RSV

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 352,185 คน ตายเพิ่ม 644 คน รวมแล้วติดไป 653,314,516 คน เสียชีวิตรวม 6,657,840 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อโควิด-19สูงสุด คือ

  1. ญี่ปุ่น
  2. เกาหลีใต้
  3. ฝรั่งเศส
  4. บราซิล
  5. ฮ่องกง

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 89.59 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 71.58

เสียงเตือนต่อเนื่องจาก WHO

Dr.Maria Van Kerkhove, COVID-19 technical lead ขององค์การอนามัยโลก ยังส่งสัญญาณเตือนอย่างต่อเนื่องให้ตระหนักถึงสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ไข้หวัดใหญ่ และ RSV

ปัจจุบันอัตราการติดเชื้อแพร่เชื้ออยู่ในระดับสูงมาก จำเป็นต้องป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเพื่อตัวคุณเองและคนที่คุณรัก ไปรับวัคซีนให้ครบ เว้นระยะห่างจากคนอื่น ระวังเรื่องการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่นนอกบ้าน ไม่แชร์ของกินของใช้กัน

ระวังสถานที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี หากประกอบกิจการใดๆ ก็ควรหาทางปรับปรุงเรื่องการระบายอากาศในสถานที่ของตนเองให้ดี ล้างมือทุกครั้งหลังจับต้องสิ่งของสาธารณะ พกเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ไว้ติดตัวจะได้ใช้ได้สะดวก

ที่สำคัญมากคือ ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอเวลาออกไปตะลอนนอกบ้าน ทำงาน เรียน หรือเดินทางท่องเที่ยว หากไม่สบาย ควรแยกตัวจากผู้อื่น ตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ข้อคิดจาก Anthony Fauci

New York Times วันที่ 10 ธันวาคม 2565 เผยแพร่บทความที่ดีมากเรื่องหนึ่ง เป็นข้อคิดจาก Dr.Anthony Fauci

สะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นทั่วโลก บทเรียนที่ทุกคนควรรับรู้ และหาทางช่วยกันจัดการและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

ท่อนหนึ่งของบทความ ชี้ให้เห็นว่า วิกฤติโควิด-19 ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียมากมายนั้นเป็นผลกระทบจากนโยบายที่ไม่ถูกทิศถูกทาง อันเป็นผลจากการเมือง ข้อมูลข่าวสาร และวิชาการที่ไม่ถูกต้อง

สิ่งที่เราเรียนรู้จากวิกฤติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรอบสองปีที่ผ่านมานั้น มีมากมาย ทั้งเรื่องการควบคุมป้องกันโรค วัคซีน ยา ความกระจอกหรือไม่กระจอกของไวรัส ความเพียงพอของทรัพยากรว่าเพียงพอจริงหรือไม่ ทั้งบริการตรวจโรค เตียง บุคลากร ตลอดจนตัวเลขต่างๆ ในระบบรายงานว่าสะท้อนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ และอื่นๆ

ทุกคนควรมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ผลักดัน ให้เกิดนโยบายที่มาจากความรู้ที่ถูกต้องทางวิชาการ พิสูจน์ได้ ไม่บิดเบือน ไม่ใช้ความเชื่องมงาย หรือชงมาจากประโยชน์ทับซ้อนหรือแอบแฝง

การมีส่วนร่วมนั้นทำได้หลากหลายทาง ทั้งในหมู่นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ บุคลากรทางการแพทย์ต่างๆ สามารถช่วยกันออกมาชี้นำสังคมด้วยข้อมูลวิชาการที่ถูกต้อง ทันสมัย มีแหล่งที่มา และเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานทางการแพทย์

ตลอดจนสื่อมวลชนทั้งแบบสื่อสิ่งพิมพ์ และเครือข่ายสังคมออนไลน์ ก็สามารถมีส่วนร่วมได้ โดยการนำเสนอข้อมูลวิชาการที่ถูกต้อง ตรวจสอบได้ พิสูจน์ได้ เพื่อสื่อสารให้แก่สาธารณะในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย

หากทุกสังคม มีกลไกทางสังคมข้างต้น ก็จะเป็น check and balance system ที่ดี ที่จะช่วยถ่วงดุล ยามที่เกิดปัญหาด้านนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของทุกคนในสังคมท่ามกลางวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

นั่นจะนำไปสู่การทำให้คนในสังคมมีความรู้เท่าทันสถานการณ์ (Health literate society) สามารถรับมือกับภาวะคุกคามต่างๆ ได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ และสามารถปรับตัวให้อยู่รอดปลอดภัยได้อย่างยั่งยืน (Resilience)

 

มองไปยาวๆ

พฤติกรรมสุขภาพ และความใส่ใจเรื่องสุขภาพของแต่ละคน จะเป็นตัวกำหนดความเสี่ยงที่แต่ละคนจะเผชิญ

และความเสี่ยงนั้นไม่ได้ส่งผลต่อตนเองเท่านั้น แต่จะไปสู่คนใกล้ชิดทั้งในครอบครัว และในเครือข่ายสังคมที่คนคนนั้นพบปะ

โควิด-19 ติด ไม่ใช่แค่คุณ ไม่ได้แค่ชิลๆ แล้วหายป่วย หรือตาย แต่ยังมีความเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ด้วย

ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ ย่อมดีที่สุด... การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง...สำคัญมาก

"หมอธีระ" เผยเสียงเตือนต่อเนื่องจาก WHO การระบาด โควิด-19 -ไข้หวัดใหญ่ - RSV