กต. เปิด 5 ความท้าทาย-ติดอาวุธแก้เกมโลกแบ่งขั้วอำนาจ

กต. เปิด 5 ความท้าทาย-ติดอาวุธแก้เกมโลกแบ่งขั้วอำนาจ

"ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ" เผยแนวทางการรับมือความท้าทาย ท่ามกลางโลกแบ่งขั้วอำนาจแล้วบริษัท และผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว ติดอาวุธทางธุรกิจอย่างไร

นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “โลกแบ่งขั้วกับธุรกิจไทยปี 2566” บนเวทีงานสัมมนา “Geopolitics : The Big Challenge for Business” จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ วันนี้ (23 ม.ค.) โดยตอนหนึ่งได้พูดถึงความท้าทายที่เกิดขึ้นหลังโลกเปลี่ยนขั้วทางภูมิรัฐศาสตร์ว่า การทำธุรกิจในยุคนี้ มีทั้งความเสี่ยง และความท้าทายถือเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ  ท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งโลกกำลังเผชิญความท้าทายที่สำคัญ 5 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ 

1.ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ยังไม่มีทีท่าจะยุติลงในเร็วนี้ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่คนทั่วโลก อัตราเงินเฟ้อ และวิกฤติอาหารขาดแคลน ขณะที่รัสเซียยังขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ หากตะวันตกสนับสนุนยุทโธปกรณ์เพิ่มแก่ยูเครน

 

2.การแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจทำให้เกิดความเสี่ยง แล้วไทยจะเพิ่มโอกาสด้านการค้า การลงทุน และจะรักษาสมดุล และความเป็นกลางอย่างไร 

3.แม้การฟื้นฟูจากโควิด-19 ที่เห็นหนทางบ้างแล้ว แต่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกด้วย

4.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะอยู่กับเราไปยาวนาน หากไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลง แต่จะเห็นว่า มีสัญญาณที่ดีที่เรื่องนี้ได้กลายมาเป็นดีเอ็นเอ (DNA) ของการทำธุรกิจในโลกทุกวันนี้ รวมทั้งในไทย

"หากตกขบวนก็จะทำให้การทำธุรกิจประสบความยากลำบากมากขึ้น เพราะต้องเจอกับกฎหมาย และกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นของนานาชาติ อาทิ การจัดเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกจากสินค้าก่อนเดินทางข้ามพรมแดน (carbon borders adjustment) หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (อียู) ที่กำลังส่งผลต่อการค้าน้ำมันปาล์มของมาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น" ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ กล่าว  

5.ดิจิทัลดิสรัปชั่น ได้เปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ระบาดโควิด-19 เราซื้อสินค้าทางอี-คอมเมิร์ซมากขึ้น และมีการนำบิ๊กดาต้า (Big Data) มาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจมากขึ้น ประเทศไหนตามไม่ทันก็จะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สุด และจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด

"ไทยและผู้ประกอบการจะปรับตัว และใช้ประโยชน์กับความท้าทายนี้ เราต้องมุ่งรักษาสมดุลกับประเทศมหาอำนาจ และมุ่งขยายความสัมพันธ์กับมิตรประเทศต่างๆ ผ่านการทูตเชิงรุก และมีร่วมมือให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ ส่งเสริมบทบาทไทย และการรักษาดุลยภาพเหมือนที่เราเคยดำเนินการมาถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร เช่น การเข้าร่วมกรอบความร่วมมือต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อไทย ทั้งความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF)" นายวิชาวัฒน์ กล่าว

เราต้องใช้ประโยชน์จากการที่ประเทศไทยอยู่ท่ามกลางพื้นที่ที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็นประเทศอาเซียน จีน หรือ อินเดีย และจากการที่เรามีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ไม่ไกลจากตะวันออกกลางเท่าใดนัก บริเวณนี้ถือว่าเป็น growth triangle นอกจากตะวันออกกลาง อาจมุ่งขยายไปไกลถึงแอฟริกาด้วยซ้ำ ควบคู่สร้างโอกาสสำหรับการค้าเสรี เพิ่มพูนช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าให้กับภาคธุรกิจ ซึ่งธุรกิจขนาดใหญ่ควรที่จะต้องช่วยนำทางในการสร้างโอกาสในตลาดใหม่เหล่านี้ เพื่อกรุยทางให้ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็กได้เดินตาม หรือร่วมอยู่ในซัพพลายเชน 

นายวิชาวัฒน์ กล่าวย้ำว่า "นวัตกรรม" มีความสำคัญมากในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างภูมิคุ้มกัน และจะช่วยปลดล็อกศักยภาพอันมหาศาลของเศรษฐกิจไทย กระทรวงการต่างประเทศจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน มุ่งผลักดันการทูตวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพของไทย ในการเป็นแหล่งลงทุนและถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์