World Hindi Day ' ฮินดี' ภาษาแห่งโอกาส

World Hindi Day  ' ฮินดี' ภาษาแห่งโอกาส

ชั่วโมงนี้ถือว่าอินเดียมาแรงทุกขณะ สหประชาชาติคาดว่าในปี 2022-2023 ประชากรอินเดียจะเพิ่มขึ้นราว 11 ล้านคน เป็น 1.43 พันล้านคน คิดเป็น 17% ของประชากรโลก และแซงหน้าจีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ในเมื่ออินเดียเป็นตลาดใหญ่คนที่รู้ภาษาฮินดีซึ่งเป็นภาษาหลักของอินเดียย่อมได้เปรียบ

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทยโดยเอกอัครราชทูตนาเกซ ซิงห์ จัดงานเฉลิมฉลองสองวาระ  นั่นคือวันประวาสีภารติยะ (Pravasi Bharatiya Divas) รำลึกการเดินทางของมหาตมะ คานธีจากแอฟริกาใต้กลับสู่อินเดีย ณ เมืองบอมเบย์ ในวันที่ 9 ม.ค.1915 หลังจากไปประกอบอาชีพทนายความในแอฟริกาใต้นานถึง 12 ปี วันประวาสีภารติยะจึงเป็นวันระลึกถึงชาวอินเดียพลัดถิ่นในดินแดนต่างๆ ด้วย 

อีกวาระหนึ่งคือทุกวันที่ 10 ม.ค.ของทุกปี เป็นวันภาษาฮินดีโลกเพื่อรำลึกถึงการประชุม World Hindi Conference ครั้งแรกในปี 1975  เพื่อเฉลิมฉลองในฐานะที่ภาษาฮินดีถูกจัดให้เป็นภาษาสากล ปัจจุบันฮินดีเป็นภาษาที่มีคนพูดมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากอังกฤษและจีนกลางจำนวนกว่า 615 ล้านคน 

ในประเทศไทย ภาษาฮินดีเปิดสอนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง อาทิ  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยศิลปากร  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย หลักสูตรออนไลน์ก็มีเช่นกันด้วยความร่วมมือของสภาวัฒนธรรมแห่งอินเดีย (Indian Council for Cultural Relations: ICCR) มหาวิทยาลัยเปิดแห่งชาติอินทิรา คานธี (Indira Gandhi National Open University) และศูนย์ข้อมูลประเทศอินเดีย (Central Hindi Directorate) เปิดสอนภาษาฮินดีออนไลน์หลักสูตร 3 เดือนสำหรับชาวต่างชาติมาตั้งแต่ปี 2565 มีนักเรียนจากไทยเรียนหลักสูตรนี้ 74 คน นอกจากนี้ทุก ๆ ปีรัฐบาลอินเดียยังจัดสรรทุนการศึกษา  2-5 ทุนให้กับนักเรียนไทยไปเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรภาษาฮินดีที่ Central Institute of Hindi ณ เมืองอัครา นับถึงขณะนี้มีนักเรียนไทยได้รับทุนนี้แล้ว 97 คน

เรื่องประโยชน์ของการเรียนภาษาที่คนไทยยังไม่คุ้นเคยต้องคุยกับคนที่ตั้งใจไปเรียนมาจริงๆ กัญญาวีร์​ แหยมไทย นักศึกษาผู้ได้รับทุนจาก ICCR ไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านภาษาฮินดีที่มหาวิทยาลัยสาวิตรีพาอีฟูเลปูเณ (Savitribai Phule Pune University) ปัจจุบันเธอเป็นล่ามภาษาฮินดีและเจ้าหน้าที่การตลาดอินเดีย ณ โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง กัญญาวีร์ขึ้นเวทีเล่าถึงการเรียนภาษาฮินดีในประเทศไทยว่า ตอนเธอเริ่มเรียนใหม่ๆ เมื่อหกปีก่อน หาสื่อการเรียนการสอนได้ยากมากต้องเรียนจากตำราอย่างเดียว  แต่หกปีผ่านไปคนไทยสนใจภาษาฮินดีเพิ่มขึ้นมาก สื่อฮินดีทำโดยคนไทยในโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เทรนด์นี้กำลังมาทั้งในประเทศไทยและระดับโลก 

 ประโยชน์ของภาษาฮินดีเห็นได้จากหน้าที่การงานของกัญญาวีร์ เธอเล่าว่ามีผู้ป่วยชาวอินเดียมากมายที่ภาษาอังกฤษยังไม่แข็งแรงพอในการสื่อสารกับแพทย์ชาวไทย กัญญาวีร์ต้องทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง ยิ่งตอนนี้ชาวอินเดียเข้ามาท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพในประเทศไทยมาก ล่ามภาษาฮินดีจึงเป็นที่ต้องการมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ผู้ที่่สนใจสามารถลงคอร์สที่เปิดสอน ณ อาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารต หรือสถาบันการศึกษาของไทยที่อาจารย์มีวิธีการเรียนการสอนแบบใหม่ๆ นอกเหนือไปจากในตำรา เป็นการเรียนการสอนที่เข้ากับชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง  ยิ่งมีคนเรียนเพิ่มขึ้น ชุมชนคนพูดภาษาฮินดีในประเทศไทยจะยิ่งเข้มแข็งตาม สอดรับกับโอกาสทางเศรษฐกิจจากอินเดีย ประเทศที่ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับห้าของโลก