ห่วง'วิกฤติหนี้'อิตาลี จุดอ่อนยูโรโซน

ห่วง'วิกฤติหนี้'อิตาลี จุดอ่อนยูโรโซน

นักเศรษฐศาสตร์ห่วงอิตาลีเป็นประเทศในยูโรโซนที่อ่อนไหวเกิดวิกฤติหนี้สินมากที่สุดเมื่อธนาคารกลางยุโรปขึ้นอัตราดอกเบี้ยและลดการซื้อพันธบัตรในไม่กี่เดือนข้างหน้า

นักเศรษฐศาสตร์ 9 ใน 10 คน ที่ไฟแนนเชียลไทม์สสำรวจความคิดเห็น กล่าวว่า อิตาลีเป็นประเทศยูโรโซนที่มีความเสี่ยงถูกเทขายพันธบัตรรัฐบาลมากที่สุด

รัฐบาลผสมฝ่ายขวาที่บริหารประเทศในเดือน ต.ค. ภายใต้นายกรัฐมนตรีจิออร์เจีย เมโลนี กำลังพยายามรักษาวินัยทางการคลัง กำหนดงบประมาณขาดดุลลดลงจาก 5.6% ของจีดีพีในปี 2565 มาอยู่ที่ 4.5% ในปี 2566 และ 3% ในปี 2567แต่หนี้สาธารณะอิตาลียังคงสูงสุดในยุโรปคิดเป็น 145% ของจีดีพี

มาร์โก วาลลี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารยูนิเครดิตของอิตาลี กล่าวว่า ความต้องการ “ปรับโครงสร้างหนี้ที่เพิ่มขึ้น” และ “แนวโน้มสถานการณ์การเมืองผันผวน” ทำให้อิตาลีเสี่ยงถูกเทขายในตลาดพันธบัตรมากที่สุด

ดอกเบี้ยอิตาลีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อฤดูร้อนที่แล้ว ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ไต่ขึ้นมายืนเหนือ 4.6% เมื่อสัปดาห์ก่อน เกือบสี่เท่าของระดับในปีก่อน และเหนือกว่าผลตอบแทนพันธบัตรเยอรมนี 2.1%

นายกฯ เมโลนีแสดงความผิดหวังที่อีซีบีตั้งใจขึ้นดอกเบี้ย ทั้งๆ ที่เป็นความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงิน

“อีซีบีน่าจะสื่อสารให้ดี ไม่เช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นการสร้างความตื่นตระหนกและความผันผวนในตลาด ทำลายความพยายามที่หลายๆ รัฐบาลกำลังทำอยู่” เธอกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เวโรนิกา โรฮาโรวา หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจเขตยูโรโซนธนาคารเครดิตสวิส กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ทำหลายเรื่องให้นักลงทุนกังวลในตอนนี้ “แต่ความกังวลอาจเกิดขึ้นได้อีกเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว ดอกเบี้ยขึ้นต่อ และออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้นอีกครั้ง”

คณะกรรมการนโยบายการเงินของอีซีบียืนกรานว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อทีละ 0.50% ช่วงเดือนแรกๆ ของปีนี้ กลาสส์ นอต ผู้ว่าการธนาคารกลางเนเธอร์แลนด์ หนึ่งในคณะกรรมการอีซีบีสายเหยี่ยวเผยกับไฟแนนเชียลไทม์สว่า อีซีบีแค่เริ่มต้นวงจรขึ้นดอกเบี้ยครึ่งหลังเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เหล่านักวิเคราะห์เชื่อว่า อีซีบีประเมินความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงเกินไป และประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยต่ำเกินไป

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวว่า ปีนี้ประเทศอียูครึ่งหนึ่งเศรษฐกิจจะถดถอย สี่ในห้าของนักเศรษฐศาสตร์ 37 คนที่ไฟแนนเชียลไทม์สเคยสำรวจความคิดเห็นในเดือน ธ.ค. คาดการณ์ว่า อีซีบีจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยภายในหกเดือนแรกของปี 2566 สองในสามคาดการณ์ว่าอีซีบีจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2567 เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจซบเซา

โดยเฉลี่ยนักเศรษฐศาสตร์คาดว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของอีซีบีจะสูงสุดเกือบ 3% ต่ำกว่าระดับที่นักลงทุนคาดการณ์

โพลอีกชุดหนึ่งของไฟแนนเชียลไทม์ส สำรวจจากนักเศรษฐศาสตร์ในสหราชอาณาจักรชั้นนำกว่า 100 คน กล่าวว่า อังกฤษจะต้องเจอภาวะถดถอยเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งและฟื้นตัวอ่อนแรงสุดในกลุ่มจี7 ในปี2566

ทั้งนี้ ธนาคารกลางทั่วโลกขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงเพื่อรับมือเงินเฟ้อที่พุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายสิบปีในหลายๆ ประเทศ เนื่องจากราคาพลังงานและอาหารพุ่งสูงผลพวงจากรัสเซียรุกรานยูเครน และการล็อกดาวน์โควิด-19 สิ้นสุดหนุนความต้องการสินค้าและบริการ

อีซีบีเริ่มขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าธนาคารกลางตะวันตกหลายประเทศ แต่นับจากฤดูร้อนปีก่อนอีซีบีกระชับนโยบายในอัตราที่ไม่เคยมีมาก่อน ขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก -0.5% มาอยู่ที่ 2% ในหกเดือน

“อีซีบียอมรับช้าเกินไปว่า เงินเฟ้อไม่ใช่เรื่องชั่วคราว แต่ตอนนี้กำลังเร่งสปีด อย่างไรก็ตาม ผมยังกลัวว่า อีซีบียังควบคุมไม่มากพอเพราะปัญหานี้อาจเกิดขึ้นในอิตาลี” เจสเปอร์ แรงวิด อาจารย์ด้านการเงิน วิทยาลัยธุรกิจโคเปนเฮเกนให้ความเห็น

อีซีบีมีกำหนดเริ่มลดการถือครองพันธบัตร 5 ล้านล้านยูโรลงเดือนละ 1.5 หมื่นล้านยูโร โดยออกพันธบัตรใหม่แทนพันธบัตรครบอายุเพียงบางส่วนเท่านั้น ยิ่งเพิ่มแรงกดดันขาขึ้นให้กับอัตราดอกเบี้ยอิตาลี

ลูโดวิค ซูบรัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์บริษัทประกันภัยเยอรมนี "อลิอันซ์ กล่าวว่า ยูโรโซนเสี่ยงซ้ำรอยตลาดพันธบัตรล่มเหมือนเมื่อปี 2555 "เนื่องจากสถานะทางการคลังของประเทศต่างๆ กันถ้าอีซีบีไม่พยุง"

ด้านคณะรัฐมนตรีอิตาลีวิจารณ์อีซีบีที่ใช้นโยบายการเงินตึงตัวเชิงรุก กุยโด โครเซตโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมทวีตข้อความว่า นโยบายอีซีบีไร้เหตุผล ด้านรองนายกรัฐมนตรีแมตทีโอ ซัลวินี กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยจะเผาผลาญเงินออมของอิตาลีหลายพันล้าน