ปี 65 ‘จีน-รัสเซีย’ เมินดอลลาร์ แห่ซื้อทองสูงสุดรอบ 55 ปี

ปี 65 ‘จีน-รัสเซีย’ เมินดอลลาร์ แห่ซื้อทองสูงสุดรอบ 55 ปี

นักวิเคราะห์เผย จีนและรัสเซียสะสมทองคำปริมาณมหาศาลในปี 2565 สะท้อนถึงความไม่มั่นใจในภูมิรัฐศาสตร์และต้องการสร้างความหลากหลายให้ทุนสำรองนอกเหนือจากสกุลเงินดอลลาร์

เว็บไซต์ไฟแนนเชียลไทม์ส รายงานว่า ปี 2565 ธนาคารกลางประเทศต่างๆ เร่งตุนทองคำมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2511 นักวิเคราะห์ชี้จีนและรัสเซียเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ บ่งชี้ว่าบางชาติต้องการสร้างความหลากหลายให้กับทุนสำรองของตนนอกเหนือจากเงินดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลจากสภาทองคำโลกชี้ว่า ความต้องการทองคำในปี 2565 มากกว่าปีใดๆ ในรอบ 55 ปี การประมาณการณ์เดือนที่แล้วยังสูงกว่าตัวเลขทางการจากธนาคารกลาง จุดชนวนความสงสัยในแวดวงทองคำว่าผู้ซื้อคือใครและอะไรคือแรงจูงใจของพวกเขา

แอเดรียน แอช หัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดค้าทองคำ BullionVault กล่าวว่า การที่ธนาคารกลางแห่ซื้อทองคำชี้ให้เห็นเบื้องหลังทางภูมิรัฐศาสตร์เกิดความ “ไม่ไว้วาง สงสัย และไม่แน่นอน” หลังสหรัฐและพันธมิตรอายัดทุนสำรองสกุลดอลลาร์ของรัสเซีย

ครั้งสุดท้ายที่ระดับการซื้อสูงสุดกลายเป็นจุดเปลี่ยนของระบบการเงินโลกเกิดขึ้นในปี 2511 เมื่อธนาคารกลางยุโรปซื้อทองคำปริมาณมหาศาลจากสหรัฐทำให้ราคาพุ่งสูง กองทุนสำรองทองคำลอนดอนล่ม เร่งการล่มสลายของระบบเบรตตันวูดส์ที่ผูกดอลลาร์ไว้กับทองคำ 

เดือนก่อนสภาทองคำโลกประเมินว่า สถาบันการเงินอย่างเป็นทางการทั่วโลกซื้อทองคำ 673 ตัน เฉพาะไตรมาสสามไตรมาสเดียวธนาคารกลางซื้อไปเกือบ 400 ตันสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มบันทึกข้อมูลรายไตรมาสในปี 2543

การประมาณการณ์แบบระมัดระวังของสภาทองคำโลกเกินกว่ารายงานที่มีต่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และรายงานของธนาคารกลางแต่ละประเทศซึ่งอยูที่ 333 ตันในช่วงเก้าเดือนนับถึงเดือน ก.ย. จากข้อมูลทางการ ในไตรมาสสาม

  • ตุรกีซื้อทองคำมากที่สุด 31 ตัน ทำให้ทองคำคิดเป็นราว 29% ของทุนสำรองทั้งหมด
  • อุซเบกิสถาน 36 ตัน
  • ในเดือน ก.ค.เป็นเดือนที่กาตาร์ซื้อทองคำมากที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ พ.ศ.2511

ความแตกต่างระหว่างการประเมินของสภาทองคำโลกกับตัวเลขทางการของไอเอ็มเอฟบางส่วนอธิบายได้ว่า หน่วยงานรัฐบาลอื่นๆ นอกเหนือจากธนาคารกลางในรัสเซีย จีน และประเทศอื่นๆ สามารถซื้อและถือครองทองคำโดยไม่ได้รายงานว่าเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ

ไม่กี่วันก่อนธนาคารประชาชนจีน (พีบีโอซี) รายงานว่า ในเดือน พ.ย. ธนาคารถือทองคำเพิ่มขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2562 เพิ่มขึ้น 32 ตัน มูลค่าราว 1.8 พันล้านดอลลาร์ แต่แวดวงทองคำกล่าวว่า จีนซื้อมากกว่านั้นแน่ๆ

มาร์ก บริสโทว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแบร์ริกโกลด์ เหมืองทองคำใหญ่สุดอันดับสองของโลก เผยว่า จากที่ได้คุยกับแหล่งข่าวจำนวนหนึ่ง จีนซื้อทองคำสูงถึงราว 200 ตัน

นิกกี ชีลส์ นักกลยุทธ์ทองคำ บริษัทค้าขายทองคำ MKS PAMP กล่าวว่า ถ้าพีบีโอซีซื้อแค่ 32 ตัน ราคาทองคำสูงสุดจะลดลงราว 75 ดอลลาร์ในเดือน พ.ย.

ทั้งนี้ ราคาทองคำ เดือน พ.ย. สูงถึง 1,787 ดอลลาร์ต่ออนซ์ หลังจากนั้นขึ้นมายืนเหนือ 1,800 ดอลลาร์

สำหรับรัสเซีย การถูกคว่ำบาตรสร้างปัญหาใหญ่หลวงต่ออุตสาหกรรมเหมืองทองคำของตนซึ่งใหญ่สุดในโลกรองจากจีน ในการขายทองคำให้ต่างประเทศ แต่ละปีรัสเซียผลิตทองคำราว 300 ตัน แต่ขายในประเทศเพียง 50 ตันเท่านั้น

ในเวลาเดียวกันรัฐบาลตะวันตกอายัดทุนสำรองเงินตราต่างประเทศรัสเซีย 3 แสนล้านดอลลาร์ผ่านการคว่ำบาตร ที่ชีลส์กล่าวว่า ทำให้หลายชาติที่ไม่ใช่ตะวันตกตั้งคำถาม “เราควรเกี่ยวข้องกับดอลลาร์มากมายอีกหรือ ในเมื่อสหรัฐและรัฐบาลชาติตะวันตกจะยึดเมื่อใดก็ได้”

การซื้อทองคำของรัสเซียซ้ำรอยแอฟริกาใต้ในช่วงที่รัฐบาลแบ่งแยกสีผิวถูกคว่ำบาตร จึงสนับสนุนอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศด้วยการซื้อทองคำมาใช้ในสกุลเงินท้องถิ่น

จิโอวานนี สเตาโนโว นักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์จากยูบีเอส ระบุ “ด้วยการส่งออกที่จำกัด ก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผลสำหรับธนาคารกลางรัสเซีย”

ธนาคารกลางรัสเซีย (ซีบีอาร์) หยุดรายงานจำนวนทองคำสำรองรายเดือนทันทีหลังเริ่มสงคราม และไม่ยอมรับคำกล่าวที่ว่า ซีบีอาร์กำลังซื้อทองคำ

“ทองคำและเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของเรามีเพียงพอ เราไม่ได้มีหน้าที่เจาะจงให้ตุนทองคำหรือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ” เอลวิรา นาบิอุลลินา ผู้ว่าการซีบีอาร์กล่าวเมื่อกลางเดือน ธ.ค.

กระนั้น ซีบีอาร์วางกลยุทธ์มานานแล้วเรื่องการเสริมทองคำสำรอง ปี 2549 ธนาคารแถลงว่า ต้องการถือทองคำเพิ่มขึ้น 20-25% เดือน ก.พ.2565 ครั้งสุดท้ายที่ซีบีอาร์เผยแพร่ข้อมูล ทองคำคิดเป็น 20.9%

ข้อมูลจากจูเลียส แบร์ ไพรเวทแบงกิงรายใหญ่จากสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่าการถือครองพันธบัตรสหรัฐของซีบีอาร์ลดลงเหลือเพียง 2 พันล้านดอลลาร์จากกว่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2555 พร้อมกันนั้นได้เพิ่มทองคำสำรองอีกกว่า 1,350 ตันมูลค่าเกือบ 8 หมื่นล้านดอลลาร์ในราคาปัจจุบัน

คาร์สเทน เมนเก หัวหน้าฝ่ายวิจัยเจนใหม่ของจูเลียส แบร์ มองว่า การซื้อทองคำของรัสเซียและจีนบ่งชี้ว่า ประเทศต่างๆ ลังเลกับการพึ่งพาดอลลาร์มากขึ้น

“สารที่ธนาคารกลางกำลังสื่อออกมาด้วยการเพิ่มทองคำเป็นทุนสำรองคือการบอกว่า พวกเขาไม่ต้องการพึ่งดอลลาร์สหรัฐเป็นสินทรัพย์สำรองหลัก” เมนเกกล่าว

บางคนในอุตสาหกรรมเก็งกันว่า รัฐบาลตะวันออกกลางกำลังใช้รายได้จากการส่งออกน้ำมันมาซื้อทองคำ ส่วนใหญ่ผ่านกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ

อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะเป็นเครื่องทดสอบว่า การซื้อทองคำของธนาคารกลางเป็นการอาศัยจังหวะที่ราคาร่วงหรือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง