ศาลสั่งจำคุกอดีตเสมียนค่ายนาซีวัย 97 ปี ข้อหาสมรู้ร่วมคิดฆ่าคน 10,505 ศพ

ศาลสั่งจำคุกอดีตเสมียนค่ายนาซีวัย 97 ปี ข้อหาสมรู้ร่วมคิดฆ่าคน 10,505 ศพ

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า อดีตเลขาที่ทำงานให้กับผู้บัญชาการค่ายกักกันกองทัพนาซี วัย 97 ปี ถูกตัดสินมีความผิดข้อหาสมรู้ร่วมคิดฆาตรกรรมประชาชนกว่า 10,505 คน

'อิมการ์ด เฟอร์ชเนอร์' วัย 97 ปี เคยเป็นพนักงานพิมพ์ดีดเมื่อตอนยังเป็นวัยรุ่นอายุ 18-19 ปี ที่ค่ายกักกันสตุตโฮฟ โดยทำงานอยู่ที่นั่นตั้งแต่ปี 2486-2488 ​และเคยขึ้นศาลเยาวชนพิเศษมาก่อน

เฟอร์ชเนอร์ หนึ่งในผู้หญิงจำนวนน้อยที่ถูกพิจารณาคดีฆาตรกรรมของนาซีในรอบสิบปี มีโทษจำคุก 2 ปี แม้เธอเป็นเพียงคนงานธรรมดา แต่ผู้พิพากษาเห็นว่าเธอรู้อยู่แก่ใจว่าอะไรเกิดขึ้นที่ค่ายกักกันบ้าง

ซึ่งค่ายสตุตโฮฟมีประชาชนเสียชีวิตอย่างโหดร้ายถึง 65,000 คน รวมทั้งชาวยิว  ผู้ที่ไม่ใช่ชาวยิว และทหารโซเวียตที่ถูกจับ

ทั้งนี้ การสอบสวนคดีเริ่มต้นในเยอรมนีเมื่อปี 2554 หลังมีการลงโทษ 'จอห์น เดมจันจุก' อดีตทหารค่ายกักกันนาซี ซึ่งการเป็นทหาร ถือเป็นหลักฐานที่เพียงพอให้รับโทษแล้ว นั่นหมายความว่า คนงานทั่วไปอย่างเฟอร์ชเนอร์ควรถูกพิจารณาด้วย เนื่องจากเธอทำงานในค่ายโดยตรง

อย่างไรก็ตาม 'พอล เวอร์เนอร์ ฮอปป์' ผู้บัญชาการค่ายสตุตโฮฟติดคุกเมื่อปี 2498 ข้อหาสมรู้ร่วมคิดฆาตรกรรมคนในค่ายกักกัน หลังจากนั้น 5 ปี ฮอปป์ถูกปล่อยตัวออกมา

และเมื่อการสอบสวนเริ่มต้นในเดือน ก.ย. 2564 เฟอร์ชเนอร์หนีออกจากบ้าน และสุดท้ายตำรวจพบเธอบนถนนในเมืองแฮมเบิร์ก

ศาลต้องใช้เวลากว่า 40 วันเพื่อให้เธอเปิดปากพูด และเธอพูดเพียงว่า “ฉันขอโทษต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ฉันเสียใจที่อยู่ในค่ายสตุตโฮฟในช่วงนั้น ฉันพูดได้แค่นี้”

ด้านทนายความฝ่ายจำเลย โต้แย้งศาลว่าเธอควรพ้นผิด เนื่องจากมีความเคลือบแคลงเกี่ยวกับสิ่งที่เธอรู้ในค่าย

ส่วน 'สเตฟาน เฮิร์ดเลอร์' นักประวัติศาสตร์ ได้ติดตามผู้พิพากษาทั้งสองคนในการเยี่ยมค่ายกักกัน และพบว่าการที่เฟอร์ชเนอร์ทำงานเป็นเสมียนในออฟฟิศของฮอปป์ เธอต้องเห็นเหตุการณ์เลวร้ายในค่ายจากในห้องออฟฟิศได้ เนื่องจากเฮิร์ดเลอร์ อธิบายว่า สำนักงานของฮอปป์คือศูนย์รวมอำนาจทุกอย่างของค่ายสตุตโฮฟ

แต่ 'โจเซฟ โซโลโมโนวิก' พยานของคดีนี้ เคยถูกจับอยู่ในค่ายดังกล่าว ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 6 ขวบและได้เห็นพ่อตนเองถูกยิงจนเสียชีวิตในค่าย เผยกับนักข่าวที่ศาลว่า “เธอไม่ได้มีความผิดโดยตรง แม้ว่าเธอนั่งอยู่ในออฟฟิศและมีหน้าที่แสตมป์ใบมรณบัตรของพ่อผม”

ส่วน 'แมนเฟรด โกลด์เบิร์ก' ผู้รอดชีวิตอีกราย ไม่พึงพอใจที่เฟอร์ชเนอร์รับโทษจำคุกเพียง 2 ปี "โจรขโมยของในร้านค้าติดคุก 2 ปี แล้วคนที่เกี่ยวข้องกับคดีฆาตรกรรมประชาชนกว่า 10,000 ชีวิต มีโทษจำคุกเท่ากันได้อย่างไร" โกลด์เบิร์กกล่าว

ทั้งนี้ การพิจารณาคดีของเฟอร์ชเนอร์ อาจเป็นคดีสุดท้ายในเยอรมนีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมในยุคนาซี แม้มีอีกสองสามคดีความที่กำลังสอบสวนอยู่