ย่ำหิมะ บุกคูหาเลือกตั้ง ‘ประธานาธิบดีคาซัคสถาน’

ย่ำหิมะ บุกคูหาเลือกตั้ง ‘ประธานาธิบดีคาซัคสถาน’

ปี 2565 ถือเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของคาซัคสถาน เมื่อประธานาธิบดีคาสซิม โจมาร์ท โตกาเยฟ ผลักดันสร้าง “คาซัคสถานใหม่” ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วเปิดให้ประชาชนลงมติ รัฐธรรมนูญใหม่เปลี่ยนจากการปกครองที่ให้อำนาจประธานาธิบดีมากมาเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับสภา

การเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 20 พ.ย.ถือเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่ทางการกล่าวว่า สำคัญมากต่ออนาคตของประเทศ สำคัญแค่ไหนสังเกตได้จากรัฐบาลคาซัคสถานเชิญสื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์นานาชาติจำนวนมากเข้าร่วมเป็นสักขีพยานว่าการเลือกตั้งครั้งนี้โปร่งใส ได้มาตรฐานนานาชาติ ถูกต้องตามกระบวนการประชาธิปไตย และต้องการให้โลกได้เห็นกับตาว่า ชาวคาซัคสถานตัดสินใจอนาคตของตนเองอย่างไร

ทริปสื่อนานาชาติเดินทางร่วมทำข่าวและสังเกตการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีระหว่างวันที่ 18-21 พ.ย. ประกอบด้วยสื่อมวลชนหลากหลายแขนงจาก 46 ประเทศทั่วโลก แม้ช่วงเวลาเพียงไม่กี่วันไม่อาจบอกความเป็นไปในประเทศได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลที่ต้องการบอกเล่าถึงกระบวนการปฏิรูปการเมืองสู่การสร้าง “คาซัคสถานใหม่”

บนเส้นทางการปฏิรูป

วันแรกของโครงการเปิดฉากด้วยการให้ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาล เริ่มต้นจาก โรมัน วาสสิเลนโก (Roman Vassilenko) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศคาซัคสถาน กล่าวกับคณะสื่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์คาซัคสถานยุคใหม่ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 16 มี.ค. ประธานาธิบดีคัสซิม โจมาร์ต โตกาเยฟ เสนอปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ที่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญถึงหนึ่งในสาม และเพื่อให้มีความน่าเชื่อถือตามกระบวนการประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขต้องนำมาให้ประชาชนลงประชามติ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ผลปรากฏว่า ประชาชนลงคะแนนเสียงสนับสนุนอย่างล้นหลาม และเมื่อไม่กี่วันก่อนประธานาธิบดีโตกาเยฟเพิ่งลงนามกฎหมายสำคัญ 6 ฉบับตามที่ได้ลงประชามติ เพื่อทำให้ระบบการเมืองเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ปรับปรุงระบบตรวจสอบและถ่วงดุลของอำนาจ

รมช.ต่างประเทศย้ำถึงสาระสำคัญของการปฏิรูป เช่น กระจายอำนาจประธานาธิบดีให้รัฐสภา ตั้งศาลรัฐธรรมนูญเริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค.2566 ปรับปรุงกระบวนการจดทะเบียนพรรคให้ง่ายขึ้น เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครอง ปกป้องสิทธิมนุษยชน ภายใต้วัตถุประสงค์กระจายอำนาจ เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับหลักนิติธรรมและโอกาสที่เท่าเทียมกันของพลเมืองทุกคน

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เป็นเอกราชในปี 2534 คาซัคสถานจัดการเลือกตั้งมาแล้ว 6 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 11,953,465 คน พลเมืองคาซัคสถานในต่างประเทศกว่า 12,000 คน ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตที่ 68 หน่วยใน 53 ประเทศ คณะกรรมการการเลือกตั้งรับรองผู้สังเกตการณ์กว่า 614 คน และผู้สื่อข่าวต่างประเทศ 254 คนทำข่าวเลือกตั้งประธานาธิบดี องค์กรระหว่างประเทศ 10 องค์กรร่วมสังเกตการณ์ อาทิ สถาบันประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (โอเอสซีอี), คณะกรรมการบริหารเครือรัฐเอกราช (ซีไอเอส), องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้, สมัชชารัฐสภาแห่งองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (ซีเอสทีโอ), องค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี), องค์การรัฐเติร์ก, สมัชชารัฐสภารัฐเติร์ก,กรอบการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย, สถาบันเติร์กระหว่างประเทศ, ตัวแทนจากต่างประเทศและสำนักงานการทูต

ย้ำความสำคัญศาลรัฐธรรมนูญ

Byrganym Aitimova รองประธานสภาที่ปรึกษาวุฒิสภาและสมาชิกจำนวนหนึ่งแสดงความเชื่อมั่นต่อผู้สื่อข่าวต่างชาติว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ใช้มาตรการที่จำเป็นทุกอย่างเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสากล สิ่งที่ ส.ว.ย้ำมากในการปฏิรูปการเมืองคือการก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่สร้างหลักประกันว่ากฎหมายต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พลเมืองทุกคน อัยการสูงสุด และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลหากมีการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ในภาพรวมศาลรัฐธรรมนูญรับรองหลักนิติธรรม สิทธิพลเมือง และช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อสถาบันของรัฐ

 เออร์ลาน คาริน ที่ปรึกษาแห่งรัฐ กล่าวว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องกันในการปฏิรูปให้เป็นจริง

“การเลือกตั้งครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเริ่มต้นการปฏิรูปอย่างที่กล่าวมา พลิกฟื้นสถาบันต่างๆ และส่งเสริมระบบการเมืองอย่างมีคุณภาพ”

สิ่งที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงย้ำบ่อยครั้งถึงจุดเด่นข้อหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั่นคือ การจำกัดวาระประธานาธิบดีเหลือเพียงวาระเดียว 7 ปี โดยช่วงเวลาดังกล่าวถือว่านานพอทำการปฏิรูปได้อย่างต่อเนื่อง

ถึงเวลาฝ่าหิมะ ใช้สิทธิเลือกตั้ง

ย่ำหิมะ บุกคูหาเลือกตั้ง ‘ประธานาธิบดีคาซัคสถาน’

หลังจากรับฟังข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงและพบปะกับผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีหรือตัวแทนผู้สมัครทั้ง 6 คนช่วงสองวันก่อนหน้า วันที่ 20 พ.ย.ถึงเวลาทีมผู้สื่อข่าวนานาชาติเข้าเยี่ยมชมหน่วยเลือกตั้ง เริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติในกรุงอัสตานา ณ เวลา 9.00 น. เปิดหน่วยแล้วสองชั่วโมง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทยอยเดินทางมาลงคะแนนท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บของคนต่างภูมิภาค แต่สำหรับคนท้องถิ่นอุณหภูมิระดับ -14 องศาเซลเซียสถือว่าสบายๆ

“มาใช้สิทธิวันนี้ไม่มีปัญหาอะไรค่ะ อากาศแบบนี้ถือว่าดี เรามาลงคะแนนเพื่ออนาคต เพื่อลูกหลานและเพื่อประเทศ เชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม ประชาชนมาลงคะแนนโดยเสรี” ไอมาน โมซาคาเจฟ นักธุรกิจหญิงกล่าวกับกรุงเทพธุรกิจ เช่นเดียวกับบาทีลา อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มองว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีคราวนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงในทางบวก เธอมาใช้สิทธิเพื่ออนาคตของลูกหลาน

“เราเชื่อมั่นในตัวประธานาธิบดี เชื่อว่าทุกอย่างจะต้องดีในอนาคต”

จากเมืองหลวงขยับสู่รอบนอกที่หน่วยเลือกตั้งในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ณ หมู่บ้าน Karaotket ภูมิภาคอัคโมลา ห่างจากใจกลางกรุงอัสตานาราว 10 กิโลเมตรเศษ บรรยากาศที่หน่วยเลือกตั้งเปิดเพลงครื้นเครง ประชาชนทยอยมาใช้สิทธิคึกคักกว่าหน่วยแรก Askar Ospanov ประธานกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง กล่าวว่า ประชาชนออกมาตัดสินใจเพื่ออนาคต ราว 11.00 น. มีผู้มาใช้สิทธิแล้วราว 30%

“ประเทศคาซัคสถานมีวิสัยทัศน์ชัดเจน ประชาชนโหวตเพื่ออนาคตอันสดใส” ประธานหน่วยกล่าว

ย่ำหิมะ บุกคูหาเลือกตั้ง ‘ประธานาธิบดีคาซัคสถาน’

ความเชื่อมั่นจากนานาชาติ

ช่วงบ่ายวันเลือกตั้ง คณะสื่อมวลชนเข้ารับฟังการบรรยายสรุปจากผู้สังเกตการณ์นานาชาติส่วนใหญ่พูดไปในทำนองเดียวกันว่า ตั้งแต่เช้าทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาลงคะแนนโดยเสรีไม่มีแรงกดดัน ผู้สังเกตการณ์พบปะพูดคุยกับประชาชนอย่างกว้างขวาง ประชาชนมีส่วนร่วมแข็งขัน ถือเป็นการเลือกตั้งที่มีมาตรฐานสูง

วันที่ 21 พ.ย. หลังคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลเบื้องต้น ประชาชนออกมาใช้สิทธิ 8,300,046 คน คิดเป็น 69.44% ประธานาธิบดีโตกาเยฟชนะเลือกตั้งไปด้วยคะแนนเสียง 81.31% ผู้สมัครคนอื่นๆ อีก 5 คน ได้คะแนนระหว่าง 2.1%-3.4% ลงคะแนนไม่ประสงค์เลือกผู้ใด 5.8% คณะสื่อมวลชนนานาชาติต้องรับฟังการบรรยายสรุปจากผู้สังเกตการณ์นานาชาติอีกครั้ง ข้อมูลไม่ได้แตกต่างจากที่บรรยายวันวาน คีย์เวิร์ดสำคัญที่ได้จากชาวคาซัคคือ “เราลงคะแนนเพื่ออนาคตของคาซัคสถาน” “นี่คือการโหวตเพื่อความหวัง” “การโหวตเป็นหน้าที่” “เราตัดสินใจแล้ว”

ย่ำหิมะ บุกคูหาเลือกตั้ง ‘ประธานาธิบดีคาซัคสถาน’

อย่างไรก็ตาม คณะผู้สังเกตการณ์นานาชาติมีข้อเสนอแนะว่า ควรขยายเวลาหาเสียงจากหนึ่งเดือนเป็นสามเดือนเพื่อให้ผู้สมัครมีเวลาสื่อสารกับว่าที่ผู้ลงคะแนนได้มากขึ้น ทำให้มีพรรคการเมืองหลากหลายเพื่อเพิ่มโอกาสให้กับกิจกรรมรากหญ้า เพิ่มพื้นที่สื่อให้กับผู้สมัครทุกคน ขยายโอกาสให้สังคม สื่อ และกลุ่มคลังสมองได้วิเคราะห์ปัญหาและทำโพลในประเด็นที่ส่งผลต่อความคิดเห็นสาธารณะ

“กล่าวโดยสรุป เราสังเกตว่าการเลือกตั้งเสรีเป็นส่วนใหญ่ สะท้อนถึงอีกหนึ่งก้าวสู่ประชาธิปไตยในคาซัคสถาน” แถลงการณ์ระบุ

ย่ำหิมะ บุกคูหาเลือกตั้ง ‘ประธานาธิบดีคาซัคสถาน’

(ประธานาธิบดีคาสซิม โจมาร์ท โตกาเยฟ)

ถึงวันนี้การเลือกตั้งประธานาธิบดีคาซัคสถานเสร็จสิ้นลง ปีหน้าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา มองจากสายตาคนไทยการเมืองบ้านเขาอาจเป็นเรื่องไกลตัว แต่สิ่งที่สังเกตได้คือคาซัคสถานที่อยู่ในกระบวนการปฏิรูปการเมืองมาตั้งแต่ปี 2562 ได้เร่งมือปฏิรูปการเมืองให้รวดเร็วยิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนที่เรียกร้องสังคมเป็นธรรม เท่ากับว่าอย่างน้อยๆ รัฐบาลก็รู้สึกรู้สา และเมื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงแล้วรัฐบาลก็อยากบอกให้ประชาคมโลกทราบว่า “ประเทศนี้กำลังเดินหน้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยที่โปร่งใสและเป็นธรรมสำหรับทุกคน”  แต่ผู้ที่จะให้คำตอบถึงผลพวงของการปฏิรูปนี้ได้ดีที่สุดคือประชาชนชาวคาซัคสถาน