‘คามาลา แฮร์ริส’ ย้ำ ไม่มีพันธมิตรใดในโลกดีต่อเอเชีย-แปซิฟิก เท่าสหรัฐ

‘คามาลา แฮร์ริส’ ย้ำ ไม่มีพันธมิตรใดในโลกดีต่อเอเชีย-แปซิฟิก เท่าสหรัฐ

นางคามาลา แฮร์ริส ได้กล่าวปาฐกถาในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปควันนี้ เน้นย้ำว่าสหรัฐคือ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงทั้งการลดโลกร้อน และสร้างความตระหนักถึงการใช้พลังงานสะอาด ทั้งยังเป็นพันธมิตรที่ดี คอยมอบโอกาสต่างๆ ให้กับภูมิภาคนี้เสมอมา

แฮร์ริส กล่าวว่า สหรัฐมีความสนใจในการสนับสนุนภูมิภาคที่เสรี และเปิดกว้าง มีความเชื่อมโยง มั่งคั่ง และมั่นคง ตั้งแต่โจ ไบเดน ขึ้นเป็นประธานาธิบดี รวมถึงแฮร์ริส เข้ามาเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐ และพันธมิตรในภูมิภาคนี้มีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง รัฐบาลไบเดนได้เข้ารวมกลุ่มกับองค์การต่างๆ ปฏิบัติตามบรรทัดฐาน และกฎระเบียบสากล และดำเนินงานสำคัญหลายอย่างเพื่อภูมิภาคนี้

"จุดยืนของสหรัฐค่อนข้างชัดเจน สหรัฐมีพันธสัญญาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนกับอินโด-แปซิฟิก และจะคงอยู่อย่างยาวนาน ไม่ใช่แค่หลายปีแต่เป็นเวลาหลายสิบปี หรือหลายชั่วอายุคน และคงไม่มีพันธมิตรใดที่ดีที่สุดสำหรับภูมิภาคนี้แล้วนอกจากสหรัฐ" แฮร์ริส กล่าว 

ภายใต้การปกครองของไบเดน สหรัฐมีส่วนร่วมในภูมิภาคนี้มากกว่าแต่ก่อน มีความเป็นผู้นำด้านพลังงาน และที่ผ่านมาสหรัฐ ได้ขยายความร่วมมือกับอาเซียน เช่น บริจาควัคซีน 256 ล้านโดส ช่วยรักษาชีวิตประชาชน ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไป และฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 

สหรัฐพร้อมรับช่วงต่อเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีหน้า มีแนวทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจใหม่แบบระยะยาวอยู่หลายประการ  หนึ่งในนั้นคือ ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐ และหวังว่าเหล่าสมาชิกเอเปคจะเห็นด้วยกับข้อตกลงการค้าเสรี และเป็นธรรม เพื่อสร้างความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน หนุนพลังงานสะอาด และต่อต้านการทุจริต นอกจากนี้ สหรัฐ และญี่ปุ่นได้บรรลุข้อตกลงการค้าดิจิทัล ครอบคลุมการดำเนินธุรกิจดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งช่วยส่งเสริมการค้า และการลงทุนจากสหรัฐ รวมถึงมุ่งมั่นส่งเสริมความร่วมมือของสหรัฐ และภาคเอกชนในภูมิภาคนี้ 

‘คามาลา แฮร์ริส’ ย้ำ ไม่มีพันธมิตรใดในโลกดีต่อเอเชีย-แปซิฟิก เท่าสหรัฐ

ในฐานะสมาชิก G7 หรือกลุ่มประเทศมหาอำนาจโลก สหรัฐได้ระดมทุน 600 ล้านดอลลาร์ เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาโลก สร้างมาตรฐานระดับสูง มีความโปร่งใส เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้ระดมทุนเพื่อโครงการต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก เช่น โครงการพลังงานสะอาด เครือข่ายโทรคมนาคม รวมทั้งกำลังระดมทุน 2,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับโครงการพลังงานอัจฉริยะในอาเซียนด้วย

แน่นอนว่ารัฐบาลไม่สามารถดำเนินงานได้ฝ่ายเดียว รัฐ และเอกชนต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และสหรัฐยืนหยัดต่อต้านการบิดเบือนทางตลาด การแข่งขันทางการค้าที่ไม่ยุติธรรม และเชื่อว่าเศรษฐกิจจะเติบโตเต็มศักยภาพได้ หากทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่

และด้วยปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง สหรัฐดำเนินการ และเป็นผู้นำที่ตอบสนองต่อโลกร้อน รัฐบาลได้ลงทุนไปกับโครงการด้านสภาพอากาศ 370 ล้านดอลลาร์ เช่น ลงทุนในยานพาหนะไฟฟ้า โซลาร์ และพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งจะช่วยให้สหรัฐบรรลุแผนลดก๊าซคาร์บอนให้ได้ 50% ภายในปี 2593 และลงทุนกว่าหมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยให้สังคมปรับตัวกับโลกร้อน สหรัฐจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาด สู่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่

นอกจากนี้ ประเทศคู่ค้าสหรัฐในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก จะได้ประโยชน์จากกฎหมายว่าด้วยชิป และวิทยาศาสตร์ และกฎหมายว่าด้วยการลดเงินเฟ้อ ที่มีส่วนช่วยลดราคาพลังงานทั่วโลก ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ จะส่งผลดีต่อทั้งภูมิภาค ซึ่งสหรัฐได้ลงทุนในภูมิภาคนี้กว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี และยึดมั่นเพิ่มการลงทุน หนุนการเคลื่อนย้ายทุนอย่างเสรี รวมถึงแลกเปลี่ยนสินค้า และบริการระหว่างภูมิภาคนี้ พร้อมเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ สร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม และยั่งยืน

“ในระหว่างที่ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน เขตเศรษฐกิจ และธุรกิจในภูมิภาคนี้ จะพบว่ามีสหรัฐพร้อมมอบโอกาสดีๆ ให้ภูมิภาคนี้เติบโตเสมอ ทั้งยังเป็นผู้เคารพกฎระเบียบต่างๆ และเป็นประเทศที่ช่วยสร้างความมั่งคั่งอย่างทั่วถึง” แฮร์ริส ย้ำ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์