ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค เห็นร่วม VS ต่างในสถานการณ์ภูมิภาคอย่างไร

ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค เห็นร่วม VS ต่างในสถานการณ์ภูมิภาคอย่างไร

"เอเปค" ถูกท้าทายด้วยสถานการณ์ระดับภูมิภาค เศรษฐกิจผันผวนทั่วโลก และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยในการหารือระดับผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจก็มีส่วนที่สนับสนุนกันและกัน ไม่น้อย

นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค อย่างไม่เป็นทางการในช่วงเช้าวันนี้ (18 พ.ย.) เป็นเวลา 2 ชั่วโมงกว่าๆ ที่เน้นในเรื่องการเติบโตที่สมดุล ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม และมี 20 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียงกัน 

“คำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ แทบร้อยเปอร์เซ็นต์ นำเสนอแนวคิด BCG ให้กับเขตเศรษฐกิจ เน้นว่าเป็นแนวทางส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืน พูดทุกเรื่องในการนำความหลากหลายทางชีวภาพ การดำเนินเศรษฐกิจหมุนเวียน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว โดยครั้งนี้เป็นการนำ 3 แนวคิดมาสัมพันธ์กันครั้งแรกของเอเปค ดังนั้นการค้า การลงทุนจะเปลี่ยนโฉมหน้าด้วย BCG” นายเชิดชาย กล่าว และเสริมว่า นายกฯ หวังว่าในช่วงปิดการประชุมผู้นำเอเปค วันพรุ่งนี้ จะร่วมกันประกาศเอกสาร Bangkok Goals on BCG Economy ที่จะสร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของเอเปค เกิดขึ้นในปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพ 

นายเชิดชาย กล่าวด้วยว่า ผู้นำได้กล่าวแตะหัวข้อที่เน้นสถานการณ์สำคัญๆ ทางเศรษฐกิจของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์รัสเซีย-ยูเครน เงินเฟ้อที่สูงขึ้น เศรษฐกิจเสื่อมถอย ผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต โดยผู้นำแทบทุกคนเห็นตรงกันว่าเป็นผลกระทบจริงจากสถานการณ์ยูเครน ตลอดจนสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาใหญ่ของทุกเขตเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ผู้นำเขตเศรษฐกิจเห็นพ้องกันว่า การฟื้นฟูหลังโควิด-19 ต้องมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมการมีส่วนร่วม ที่เน้นกลุ่มธุรกิจเอ็มเอสเอ็มอี และเอสเอ็มอีต้องมีบทบาทมากขึ้น รวมทั้งชุมชนท้องถิ่นด้วย 

"ผู้นำหลายท่านให้ความสำคัญกับการใช้ดิจิทัลเป็นพื้นฐานการเติบโตที่ทุกคนมีส่วนร่วม ทำอย่างไรให้มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ทุกคนมีเครื่องมือใช้งานดิจิทัล ซึ่งที่ประชุมได้เรียกร้องให้เสริมต่อเติมทักษะด้านเทคโนโลยี อัพสกิล รีสกิลให้กับทุกคนในเขตเศรษฐกิจ" อธิบดีเชิดชาย ระบุ และกล่าวว่า ผู้นำทุกคนต่างชื่นชมแนวทาง BCG โดยเฉพาะการวางแนวทางปฏิบัติของเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ จะมีส่วนเพิ่มขีดความสามารถ ส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคนิคร่วมกัน 

อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวด้วยว่า ผู้นำยังได้พูดถึงความมั่นคงทางพลังงาน การทำการเกษตรรูปแบบใหม่ที่แก้ไขปัญหาสภาพอากาศ ผมได้ยินผู้นำบางท่านพูดถึงการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งในการแก้ไขปัญหาขยะทะเล บางท่านพูดถึงการสนับสนุนให้กระบวนการกรีนไฟแนนซ์ เพื่อส่งเสริมไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว

เมื่อสื่อจีนถามว่าคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับแนวคิดเอเชีย-แปซิฟิก ที่เปิดกว้างมากขึ้น และครอบคลุมทุกภาคส่วน ( greater openness and inclusiveness) เพื่อความก้าวหน้า และมั่งคั่งไปด้วยกัน อันเป็นแนวคิดวิสัยทัศน์ที่ท่านประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีนได้นำเสนอไว้

อธิบดี เชิดชาย ตอบว่า อันที่จริงท่านไม่สามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับทัศนะของบรรดาท่านผู้นำที่แลกเปลี่ยนและนำเสนอกันในวงประชุม แต่ก็รู้สึกได้ว่าแนวคิดดังกล่าว รวมทั้งข้อเสนอของบรรดาผู้นำที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในที่ประชุม ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทุกเขตเศรษฐกิจ รวมทั้งตัวอธิบดีเองก็เห็นด้วยเกี่ยวกับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน การครอบคลุมทุกภาคส่วนให้ได้รับประโยชน์ แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว และการฟื้นฟูเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หลังยุคโควิด

เมื่อถามว่าการพยายามคลี่คลายปัญหาความคิดเห็นที่ยังแตกต่างกันอยู่ จะเห็นได้ว่ามีความคืบหน้าเกิดขึ้นในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บรรดาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคต่างพยายามทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดทุกวัน เพื่อแยกแยะ และคลี่คลายสิ่งที่ยังคิดเห็นต่างกันออกมา และเมื่อมองในเชิงการทูตจะเห็นถึงพัฒนาการล่าสุด เช่น ในการประชุมทวิภาคีระหว่างประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และประธานาธิบดี โจ ไบเดน ในการประชุมนอกรอบ G20 ที่เกาะบาหลี เป็นต้น

และเมื่อย้อนกลับมาดูความคืบหน้าของเอเปค ก็ยังมองเห็นพัฒนาการในเชิงบวกซึ่งเป็นการมองมุมบวกอย่างระมัดระวังว่า ตอนนี้เอเปคก้าวมาบนแนวทางที่ถูกต้องแล้วในภาพรวม ถามว่าอะไรยังเป็นความท้าทายของเราที่รออยู่ตรงหน้า และเราจะร่วมกันก้าวผ่านอุปสรรคความท้าทายนี้ไปได้อย่างไร ไม่ว่าร่างแถลงการณ์ร่วมของผู้นำเอเปคจะออกมาอย่างไร ด้วย “สปิริตของการประชุมเอเปค” ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จึงเชื่อว่าเอเปคจะสามารถสร้างความก้าวหน้าได้ต่อไปไม่ว่าจะในห้องประชุม หรือนอกห้องประชุมก็ตาม “ผมเชื่อว่าเรามาถูกทางแล้วในแง่การขับเคลื่อนเอเปคไปสู่สิ่งที่เราหวังจะให้เป็น และสิ่งที่เอเปคสมควรจะเป็น”

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์