การพบกันของ "สี จิ้นผิง" และ "โจ ไบเดน" ณ G20 ผู้นำทั้งสองกำลังสื่ออะไรแก่โลก?

การพบกันของ "สี จิ้นผิง" และ "โจ ไบเดน" ณ G20 ผู้นำทั้งสองกำลังสื่ออะไรแก่โลก?

การพบกันของ "สี จิ้นผิง" และ "โจ ไบเดน" แบบเจอตัวจริงๆ นับตั้งแต่ไบเดนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาช่วงโควิด-19 ระบาด ที่การประชุม G20 เราได้เห็นการแสดงจุดยืนของ สี จิ้นผิง ดังเช่นที่เคยแสดงจุดยืนมาก่อนหน้านี้และหลายต่อหลายครั้ง คือ "พร้อมเจรจากับสหรัฐอเมริกา"

ในช่วงโควิด-19 "สี จิ้นผิง" ก็มีทั้งการสื่อสารกับ "โจ ไบเดน" ในรูปแบบต่างๆ ผ่านจดหมาย ประชุมผ่านโทรศัพท์ และผ่านวิดีโอคอล ทุกครั้งก็ย้ำประเด็นการเจรจา และพร้อมร่วมมือ เราจึงได้เห็นการที่ สี จิ้นผิง และโจ ไบเดน เจรจากันกว่า 3 ชั่วโมง ที่บาหลี เพื่อเตรียมประชุม G20 ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 สี จิ้นผิง กล่าวกับ ไบเดน "ไม่ว่าจะคุยกันแบบจดหมาย โทรศัพท์ หรือวิดีโอคอล ก็ไม่เหมือนการเจอกันแบบเจอตัวแบบนี้" ซึ่งสื่อจีนก็นำเอาประเด็นนี้ไปนำเสนอ

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ประโยคเด็ดที่ สี จิ้นผิง กล่าวกับประธานาธิบดีไบเดน "ให้ประวัติศาสตร์เป็นกระจกที่สะท้อนนำทางไปยังอนาคต" ตรงนี้ถ้าวิเคราะห์ตามตรง เป็นการแฝงนัยยะ 2 เรื่อง ดังนี้

ย้ำเตือนเรื่องในอดีต

อย่างประเด็นไต้หวัน เมื่อ "แนนซี เพโลซี" ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เยือนไต้หวัน ท่ามกลางการคัดค้านจากจีน ทางจีนก็พยายามเรียกร้องว่า เมื่อครั้งจีนสหรัฐฟื้นฟูการทูต สหรัฐยอมรับในหลักจีนเดียว และยังมีประเด็นที่จีนยืนยันตลอดเรื่องมติของสหประชาชาติที่จีนได้ฟื้นฟูที่นั่งอันชอบธรรมในสหประชาชาติอีกครั้ง เป็นการยอมรับว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นตัวแทนจีนเดียว 

ในการประชุมแบบเจอหน้ากันที่อินโดนีเซียรอบนี้ สี จิ้นผิง ก็เน้นย้ำประเด็นไต้หวันต่อ โจ ไบเดน และย้ำอีกครั้งถึง "แถลงการณ์ร่วม 3 ฉบับของจีนอเมริกา" ที่เคยทำในอดีต ในประวัติศาสตร์

บทความที่เกี่ยวข้อง


 

ย้ำให้คำนึงถึง "การกระทำในปัจจุบันจะกลายเป็นอดีตที่ส่งผลต่ออนาคต"

สิ่งที่ สี จิ้นผิง พูดออกมา จากมุมมองของอ้ายจงมองว่า ยังเป็นการสื่อถึง "การสร้างปัจจุบัน ที่จะนำพาไปสู่อนาคต" คือหากตอนนี้จีนกับอเมริกาหันมาร่วมมือกัน ก็จะเกิดสิ่งที่ดีต่ออนาคตต่อโลก สี จิ้นผิง ย้ำทุกครั้งกับ โจ ไบเดน ในการสนทนา และก็ย้ำในทุกเวทีนานาชาติที่สี จิ้นผิง และเจ้าหน้าที่ระดับผู้นำคนอื่นๆ ของจีนได้ไปร่วม เพราะตอนนี้จีนชูเรื่อง GDI (Global Development Initiative) และพยายามชูแนวคิดต่อต้านการแยกฝั่งแยกฝ่าย หรือ Decoupling 

เรื่องที่เป็นข้อวิจารณ์กันระหว่างสองประเทศ และประเทศอื่นๆ วิจารณ์จีน อย่างสิทธิมนุษยชน ความเป็นประชาธิปไตย อิสระของประชาชน เมื่อเจอโจ ไบเดน ทาง สี จิ้นผิงก็ย้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยสื่อให้เห็นว่า สี จิ้นผิง ใช้เวที G20 ใช้การพบกันของเขาและโจ ไบเดน ตอบโต้และแสดงจุดยืนในสิ่งที่อเมริกาและโลกคลางแคลงใจ

ถ้าถามว่า สี จิ้นผิง ต้องการสื่ออะไรในการเจรจากับโจ ไบเดน ในการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ครั้งที่ 17 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ที่มีทั้งภาพการยิ้มแย้ม การจับมือ การพูดคุยของผู้นำสองประเทศใหญ่ของโลก ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยังคงมีอยู่ในหลายประเด็นก่อนหน้านี้

สี จิ้นผิง ได้แสดงจุดยืนและตอบโต้สิ่งที่อเมริการวมถึงหลายประเทศวิจารณ์และสงสัยในจีน อย่างประเด็นไต้หวัน สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ส่วนอเมริกาเองก็เช่นกัน ต่างฝ่ายต่างรู้ว่าทั่วโลกจับตามอง โดย ไบเดน เองแสดงให้เห็นค่อนข้างชัดว่า เจรจาได้ อเมริกาและจีนเป็นสองประเทศใหญ่ที่ต้องมีการร่วมมือกัน ไม่มีความต้องการก่อสงครามเย็นครั้งใหม่ ซึ่งมันก็ไม่ได้ต่างจากการคุยกันแบบไม่ได้พบเจอกันจริงๆ อย่างที่เคยเกิดขึ้นช่วงก่อนหน้านี้ แต่ครั้งนี้ก็ชัดเจน และได้แสดงท่าทีผ่านสีหน้าท่าทาง ให้เห็นว่า "ทั้งสองมีท่าทีอ่อนลง เจรจากันได้ พร้อมคุยและร่วมมือ"

ทำไมท่าทีโจ ไบเดน และอเมริกา ดูอ่อนลง? การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ มีผลหรือไม่ต่อท่าทีที่เกิดขึ้น?

ต้องยอมรับว่า "การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ พฤศจิกายน 2565" ส่งผลต่อการตัดสินใจดำเนินท่าทีต่อ สี จิ้นผิง และจีน ของ โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา

ในความคิดเห็นส่วนตัวของอ้ายจง แม้ว่าทางพรรคเดโมแครต (Democrat) จะพลิกโผครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาและส่งผลแน่ๆ ต่อการแต่งตั้งประธานศาลในอนาคต โดยเป็นต่อทางรีพับลิกัน (Republican) เพื่อเลือกคนที่ทางเดโมแครตอยากได้ 

ทว่าไม่ได้หมายความว่า การทำงานของ "โจ ไบเดน" จะไม่มีแรงกดดัน และปูทางสู่ประธานาธิบดีวาระที่ 2 ได้ หากเขาตัดสินใจที่จะลงสมัครอีกครั้งหนึ่งจริงๆ (เขาเผยว่า จะตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะลงหรือไม่ลง ต้นปีหน้า 2566) เพราะความนิยมที่ตกลงต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว ผลจากภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในอเมริกา แม้ช่วงโค้งสุดท้าย ไบเดน งัดไม้ตายเรื่องป้องกันภัยคุกคามประชาธิปไตยของอเมริกา ซึ่งก็ถือว่าได้ผลอยู่เหมือนกัน ดูจากการพลิกโผของการครองเสียงข้างมากวุฒิสภา แต่เขาก็ยอมรับผ่านการให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า ปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจอเมริกาในตอนนี้ คือสิ่งที่อเมริกันชนกังขาในเขา ซึ่งส่งผลต่อความนิยมของทั้งเขาและพรรคเดโมแครต

ดังนั้น ท่าทีผ่อนปรนและแสดงจุดยืนร่วมมือกับจีนของ โจ ไบเดน ที่เราได้เห็น จึงสามารถวิเคราะห์ได้ว่า มีส่วนเชื่อมโยงกับปัญหาภายในสหรัฐฯ อย่างยิ่งปัญหาเศรษฐกิจ โดนปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ และจีน ผูกกับเศรษฐกิจและการค้าด้วย  

อย่างตอนสมัย ทรัมป์ ที่ชูประเด็นนี้ด้วยการตั้งกำแพงการค้ากับจีน แต่ก็เห็นได้ว่า หลายคนก็ไม่เอาด้วย เพราะในความเป็นจริงค่อนข้างกระทบต่อเศรษฐกิจจริงๆ

ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าอเมริกันชนหลายคนจะไม่อยากให้ประเทศเสียดุล อยากให้ประเทศกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง และจะยึดมั่นในเรื่องประชาธิปไตย โดยที่ผ่านมา โจ ไบเดน ก็ชูเรื่องการพยายามฟื้นฟูประชาธิปไตย เผยแพร่ประชาธิปไตยสู่โลก แต่ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศยังแย่ "การลดท่าทีแข็งกร้าวต่อจีน และเปิดทางเจรจามากขึ้น จึงน่าจะดีต่ออเมริกามากกว่า ในสถานการณ์ขณะนี้"

ผู้เขียน: ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่