“สี จิ้นผิง” ว่าที่ปธน.จีนสมัยที่3 กับความท้าทายสถานการณ์ร้อน - ศก.โลก

“สี จิ้นผิง” ว่าที่ปธน.จีนสมัยที่3 กับความท้าทายสถานการณ์ร้อน - ศก.โลก

"การประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน" มีขึ้นขณะที่ "ปธน.สี จิ้นผิง" ยึดมั่นนโยบายซีโร่โควิด และเวลาเดียวกัน "ปธน.วลาดิมีร์ ปูติน" มีส่วนยื้อยุดจีนให้มีความสัมพันธ์แปลกแยกจากชาติตะวันตะวันตก

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะขึ้นเวทีเปิดการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ในวันอาทิตย์นี้ (16 ต.ค.) ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ คาดบรรดาผู้นำระดับสูงของพรรคจะมอบให้สี ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีน เป็นสมัยที่ 3 ตอกย้ำนักปกครองทรงอำนาจที่สุด นับตั้งแต่เหมา เจ๋อตุง ซึ่งนักการทูต และนักเศรษฐศาสตร์ประสานเสียงบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า “ปธน.สีพร้อมรวมศูนย์อำนาจของเขาไว้”

การประชุมครั้งนี้ยาวนานหนึ่งสัปดาห์ มีผู้เข้าร่วม 2,300 คน ส่วนใหญ่เป็นการประชุมลับ ที่มหาศาลาประชาชน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ใจกลางกรุงปักกิ่ง ซึ่งมีการรักษาความปลอดภัยและมาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างเข้มงวด 

อย่างไรก็ตาม มีเพียงไม่กี่คนคาดการณ์ทิศทางนโยบายของสี หลังรับตำแหน่งปธน.จีนต่อเป็นสมัยที่ 3 ซึ่งยังคงให้ความสำคัญกับนโยบายความมั่นคง การพึ่งพาประเทศตนเอง รัฐเข้าควบคุมเศรษฐกิจประเทศ การทูตที่เปิดเผยท่าทีชัดเจนมากขึ้น และการสร้างแรงกดดันไต้หวัน

การประชุมนี้ จะจบลงด้วยการเปิดตัวคณะกรรมการประจำกรมการเมือง (Politburo Standing Committee : PSC) ชุดต่อไป จะประกอบด้วย 7 คน ซึ่งในการรักษาตำแหน่งประธานาธิบดีจีนสมัยที่ 3 โดย ชาร์ลส์ พาร์ตัน นักการทูตชาวอังกฤษ คาดว่า ยังไม่มีการระบุตัวบุคคลที่จะสืบทอดอำนาจต่อจากสี วัย 69 ปี นี่เป็นตัวบ่งชี้ว่าเขาจะอยู่อำนาจนี้ต่อไป 

ผู้เกาะติดการเมืองจีนจะรู้ดีว่า 7 คนในรายชื่อ PSC ใครจะเป็นผู้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจีนคนต่อไป ซึ่งดูแลงานที่รับผิดชอบด้านบริหารจัดการประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก หลังหลี่ เค่อเฉียงก้าวลงจากตำแหน่งในเดือนมีนาคมปีหน้า 

การประชุมดังกล่าว มีขึ้นทุกๆ 5 ปี ซึ่งมาร์ค วิลเลียมส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ดูแลภูมิภาคเอเชียของ Capital Economics ชี้ว่า เมื่อถอดรหัสในสุนทรพจน์ของปธน.สี เมื่อปี 2560 จะเห็นแผนเป้าหมายที่สูงขึ้น ในการเปลี่ยนจีนให้กลายเป็นมหาอำนาจชั้นนำของโลกภายในปี 2593 โดยเขากล่าวถึง “การปฏิรูป” 70 ครั้งในการปราศรัยที่กินเวลาเกือบ 3 ชั่วโมงครึ่ง

นับตั้งแต่นั้นมา สถานการณ์ก็เปลี่ยนไปอย่างมาก เศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด-19 ส่งทอดทำให้เกิดวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ การไม่พอใจรัฐควบคุมธุรกิจและการใช้เทคโนโลยี โดยอ้างนโยบาย “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของคนในประเทศ” นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับชาติตะวันตกได้เสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว

นักลงทุนและประชาชนจีนผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า บนความหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญ หลังจากที่จีนเริ่มวางรากฐานเพื่อหันหลังให้กับซีโร่โควิด และดูเหมือนจะผิดหวังมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากในสัปดาห์นี้ รัฐบาลปักกิ่งยังยืนยันถึงความมุ่งมั่นในนโยบายดังกล่าว 

นักวิเคราะห์กล่าวอีกว่า สมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทันทีหรือฉับพลัน ในนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มว่าจะเติบโตประมาณ 3% ในปีนี้ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายอย่างเป็นทางการ อยู่ที่ประมาณ 5.5%

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ของโนมูระมองว่า ในระหว่างนี้จนถึงมีนาคม 2566 คาดว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายสำคัญๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีต่อยุทธศาสตร์ซีโร่โควิด และการเข้าควบคุมธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน