เกมการเมืองยุโรป เรื่องก๊าซธรรมชาติ | กันต์ เอี่ยมอินทรา

เกมการเมืองยุโรป เรื่องก๊าซธรรมชาติ | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ปัญหาขาดแคลนพลังงานอย่างหนัก และราคาก๊าซที่สูงขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ในยุโรปขณะนี้ มีทีท่ารุนแรงขึ้นจนส่อแววเป็นวิกฤติสร้างความขัดแย้งระดับภูมิภาค

เพราะภาวะสู้รบในยูเครน จนส่งผลให้เกิดการแบ่งค่ายทำสงครามทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในยุโรป การบอยคอตรัสเซียของยุโรปและการลดการส่งก๊าซของรัสเซียซึ่งหลายกระแสมองว่าเป็นการตอบโต้ยุโรปนั้นดูเหมือนจะส่งผลกระทบโดยตรงกับยุโรป

แน่นอนว่าเป็นการดีที่รัฐบาลจะช่วยประชาชนและธุรกิจในประเทศของตนเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตพลังงานไปได้แต่เมื่อยุโรปคือสหภาพที่มีการรวมตัวกันอย่างค่อนข้างแน่นแฟ้นทั้งในเชิงเศรษฐกิจและพรหมแดน กล่าวคือ ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคต่างใช้สกุลเงินเดียวกันคือยูโร

ดังนั้น เขตเศรษฐกิจของยุโรปจึงมีขนาดใหญ่มหาศาลผนวกรวมหลายประเทศเข้าไว้ด้วยกัน และข้อดีอย่างหนึ่งของการรวมกันคือการเคลื่อนย้ายสินค้าโดยปราศจากภาษี เช่นเดียวกันการโยกย้ายถิ่นฐานของประชากรในยุโรปที่ง่ายดายโดยไม่ต้องใช้วีซ่า

การที่รัฐบาลประเทศใดประเทศหนึ่งมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจในประเทศจนมากเกินไป ล้ำหน้าอีกหลายๆประเทศในเขตเศรษฐกิจเดียวกัน จึงอาจจะถูกมองว่าเป็นการส่งเสริมธุรกิจในประเทศตัวเองอย่างออกนอกหน้า และมีแนวโน้มเป็นนโยบายการอุดหนุนทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับคู่แข่งในต่างประเทศที่การช่วยเหลือไม่มากเท่า หรือไม่ได้รับเลยจากรัฐบาลของประเทศนั้นๆ

เยอรมนีถือได้ว่าเป็นประเทศพี่ใหญ่ของยุโรปที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป เป็นประเทศร่ำรวยที่มีเงินคงคลังมากกว่าอีกหลายประเทศ ทั้งจากการบริโภคในประเทศและการค้าการลงทุนในต่างประเทศ

รัฐบาลเยอรมันประกาศช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจขนาดกลางและย่อมโดยให้ประชาชนจ่ายค่าก๊าซในช่วงเดือนมี.ค.2566-เม.ย.2567 เพียง 80% ของปริมาณก๊าซที่เคยจ่ายเมื่อปีก่อนหน้า ณ ราคาก๊าซที่ 0.12 ยูโรต่อกิโลกรัม ซึ่งปัจจุบันราคาตลาดของก๊าซต่อกิโลในยุโรปนั้นสูงกว่านั้นมาก ตัวอย่างเช่น ราคาก๊าซที่คนสวีเดนจ่าย ณ ปัจจุบันนั้นวิ่งไปสูงถึง 0.1855 ยูโรต่อกิโลกรัม

ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ได้รับการช่วยเหลือที่มากกว่าและเริ่มต้นเร็วกว่า โดยจะจ่ายเพียง 0.07 ยูโรต่อกิโลกรัม และตั้งเพดานไว้ที่ 70% ของจำนวนที่เคยใช้ในปีก่อนหน้า และเริ่มมาตรการตั้งแต่ต้นปี 2566 และไปสิ้นสุดที่ เม.ย. ปี 2567 เลยทีเดียว หากมองตัวเลขดีๆจะพบว่า ราคาก๊าซที่ธุรกิจเยอรมันจ่ายนั้นถูกกว่าราคาที่ธุรกิจในประเทศอื่นๆจ่ายเกินกว่าครึ่ง

ดังนั้น กรณีการยกระดับความช่วยเหลือของรัฐบาลเยอรมนีต่อประชาชนและธุรกิจของเยอรมัน จึงสร้างความตึงเครียดในเวทีการเมืองระหว่างประเทศของชาติในยุโรป ตึงเครียดจนกระทั่งนำมาซึ่งเสียงวิจารณ์จากประเทศเพื่อนบ้านอย่างโปแลนด์และฝรั่งเศส เพราะต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าจะนำมาซึ่งต้นทุนสินค้าที่ถูกกว่า ราคาขายก็น่าจะถูกกว่า และดึงดูดผู้ซื้อได้มากกว่าตามหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน

นอกจากนี้ รัฐบาลเยอรมันยังจะช่วยประชาชนและธุรกิจในประเทศ โดยการจ่ายค่าก๊าซสำหรับเดือนธ.ค.นี้ ภายใต้งบประมาณที่รวมกับมาตรการข้างต้นแล้วกว่า 200,000 ล้านยูโร ถือเป็นงบประมาณที่สูงมากสำหรับการช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจในประเทศ สูงจนแทบจะไม่มีประเทศใดในยุโรปสามารถเทียบเทียมได้เลย

เกมการเมืองเรื่องของก๊าซธรรมชาติจึงยังเพียงแค่เริ่มต้น ขนาดฤดูหนาวที่ยังมาไม่ถึงยังดุเดือดเพียงนี้…