หนังเล่าโลก: The Witches of the Orient 'ตำนานสาวนักตบแห่งเอเชีย'

หนังเล่าโลก: The Witches of the Orient  'ตำนานสาวนักตบแห่งเอเชีย'

สัปดาห์นี้คนไทยหลายคนใจจดใจจ่อกับโปรแกรม “วอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก 2022” ที่ทีมชาติไทยสร้างผลงานดีวันดีคืน แต่ถ้าเป็นเมื่อ 60 ปีก่อนทีมวอลเลย์บอลหญิงของญี่ปุ่นคือเจ้าตำนาน ดูได้จากภาพยนตร์เรื่อง The Witches of the Orient

The Witches of The Orient ภาพยนตร์สารคดีปี 2021 ผลงานการกำกับของ จูเลียง ฟาโรต์ (Julien Faraut) บอกเล่าเรื่องราว ทีมวอลเลย์บอลหญิง “นิชิโบะ ไคซุกะ” ที่ทุกคนเป็นสาวโรงงานทอผ้าใกล้โอซากา ใช้เวลาหลังเลิกงานซ้อมวอลเลย์บอลอย่างทุ่มเท งานโรงงานว่าหนักแล้วยังต้องมาเจอการซ้อมกีฬาที่หนักหนายิ่งกว่า นิชิโบะ ไคซุกะปลุกปั้นทีมมาตั้งแต่ปี 1953 ตระเวนแข่งขันในยุโรปตะวันออก ชนะรวด 22 เกมได้เป็นแชมป์โลกวอลเลย์บอลหญิงในปี 1962 พร้อมกับฉายา “แม่มดแห่งตะวันออก” The Witches of The Orient ซึ่งเป็นชื่อหนัง ตอนนั้นสมาชิกในทีมคิดว่าพอแค่นี้ ได้แชมป์โลกแล้วคือที่สุด ถึงเวลาเลิกเล่นได้แล้วเพราะเหนื่อยเต็มทีกับการฝึกซ้อมสุดโหด แต่การณ์กลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่พวกเธอคิด เพราะญี่ปุ่นต้องเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 1964   กีฬายูโดและวอลเลย์บอลถูกบรรจุไว้ในการแข่งขันเป็นครั้งแรก จึงเป็นไปไม่ได้ที่ทีมนิชิโบะ ไคซุกะ จะไม่ได้ทำหน้าที่อันทรงเกียรติ ทุกคนโฟกัสที่เหรียญทอง สร้างแรงกดดันให้กับสาวๆ แต่พวกเธอก็ทำได้จริงๆ นำทีมญี่ปุ่นเฉือนสหภาพโซเวียตคว้าเหรียญทองโอลิมปิกมาได้สำเร็จ

ชัยชนะของนิชิโบะ ไคซุกะ ทั้งในฐานะแชมป์โลกและแชมป์โอลิมปิก สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดมังงะ อนิเมะ และซีรีส์ตามมามากมาย ที่หลายคนจำได้ดีคือ “ยอดหญิงชิงโอลิมปิก” กับตัวละคร “จุง โคชิกะ” และลูกตบฟ้าผ่า ข้อมูลจากเพจ Documentary Club กล่าวว่า ยังมีมังงะอีกเรื่องที่โด่งดังในบ้านเราคือ Attack No.1 ที่ต่อมาเป็นอนิเมะเรื่องเดียวกัน ชื่อไทยคือ “ยอดหญิงสิงห์วอลเลย์” การเล่าเรื่อง The Witches of The Orient ผ่านปากคำของสมาชิกบางคนในทีม สลับกับอนิเมะ Attack No.1 ที่สอดคล้องกันไม่สะดุด รวมถึงภาพฟุตเทจการฝึกซ้อมและการแข่งขันของทีม 

ดูเผินๆ หนังเรื่องนี้เหมือนจะบอกเล่าเส้นทางการต่อสู้ของทีมนิชิโบะ ไคซุกะ แต่ถ้าดูจากฟุตเทจยังเห็นอีกภาพหนึ่งซ้อนขึ้นมา นั่นคือความพยายามของญี่ปุ่นในการกลับมาผงาดอีกครั้งหลังพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต เช่น อุตสาหกรรมการทอผ้า การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจ รถไฟชินคันเซ็นที่สร้างขึ้นเพื่อโอลิมปิก 1964 โดยเฉพาะบอกเล่าความยิ่งใหญ่ไปทั่วโลก และโอลิมปิกครั้งนี้มีการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมไปสหรัฐเป็นครั้งแรก ความสำเร็จของทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมนี้สะท้อนวิธีคิดของชาวญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีเป้าหมายพัฒนาประเทศด้วยการทำงานหนัก มีระเบียบวินัยที่เข้มแข็ง ซึ่งสาวๆ ทีมนิชิโบะ ไคซุกะ คือตัวอย่างของความพยายาม  ด้วยสถิติชนะรวด 258 นัด สร้างตำนานให้โลกจดจำ

ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกอีกครั้งในโตเกียว 2020 รัฐบาลหวังจะใช้โอลิมปิกครั้งนี้เป็นตัวดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศให้ได้ถึง 40 ล้านคน  แต่น่าเสียดายที่เจอพิษโควิด-19 จนต้องเลื่อนมาจัดการแข่งขันในปี 2021 ที่โควิดยังมีฤทธิ์ การแข่งขันต้องทำแบบควบคุมโควิดกันสุดๆ  กระนั้นสปิริตแห่งโอลิมปิกยังคงอยู่ ทั่วโลกให้กำลังใจญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพสำเร็จด้วยดี ถ้าได้ชมภาพยนตร์เรื่อง The Witches of The Orient ช่วงโตเกียวโอลิมปิกเชื่อแน่ว่าจะได้อารมณ์สุดๆ แต่เมื่อได้ชมช่วงนี้ก็ถือเสียว่า เป็นการชมเพื่อให้กำลังใจทีมวอลเลย์บอลสาวไทยก็แล้วกัน ไม่ว่าผลการแข่งขันออกมาจะเป็นอย่างไร คนไทยได้เห็นความพยายามของพวกเธอ เหมือนกับที่โลกได้เห็นความตั้งใจจริงของสาวๆ ทีมนิชิโบะ ไคซุกะ เมื่อ60 ปีก่อนมาแล้ว

(ภาพจากเพจ Documentary Club)