ประวัติศาสตร์บาดแผล! ประชาชนต้าน‘วิลเลียม’ใช้ฐานันดร ‘เจ้าชายแห่งเวลส์’

ประวัติศาสตร์บาดแผล!  ประชาชนต้าน‘วิลเลียม’ใช้ฐานันดร ‘เจ้าชายแห่งเวลส์’

เจ้าชายวิลเลียมอาจไม่ได้ทำพิธีสถาปนาเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ที่ปราสาทแคร์นาร์วอนในเวลส์อย่างที่พระบิดาเคยทำ เนื่องจากเสียงต่อต้านของชาวเวลส์ต่อฐานันดรศักดิ์นี้มีมากขึ้นเรื่่อยๆ

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ของอังกฤษทำให้ความรู้สึกชาตินิยมในสหราชอาณาจักรเพิ่มมากขึ้นรวมถึงในเวลส์ เกิดเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกบรรดาศักดิ์ “เจ้าชายแห่งเวลส์” ที่เก่าแก่หลายร้อยปี ประชาชนเกือบ 25,000 คนเข้าชื่อกันโดยให้เหตุผลว่า “ดูถูกเวลส์และเป็นสัญลักษณ์การกดขี่ในประวัติศาสตร์”

ความแตกแยก

มาเรีย ซาร์แนคกีวัย 66 ปี นายกเทศมนตรีเมืองชายฝั่งตอนเหนือของเวลส์ ผู้เคยเห็นพิธีสถาปนาเจ้าฟ้าชายชาร์ลส ณ ปราสาทแคร์นาร์วอน ขณะที่ตัวเธออยู่ในวัย 11 ปี กล่าวว่า ประชาชนมีความเห็นแตกต่างกัน คนจำนวนมากไม่อยากให้เจ้าชายวิลเลียมเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ เพราะพวกเขาคิดว่าฐานันดรนี้ควรจะเป็นคนเวลส์

เช่นเดียวกับเกเรนต์ โทมัส เจ้าของแกลเลอรีภาพถ่ายที่แคร์นาร์วอน วัย 69 ปี กล่าวว่า ความคิดเห็นประชาชนแตกต่างกันมากเรื่องเจ้าชายวิลเลียมเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์

เมืองแคร์นาร์วอนภูมิใจว่าประชาชนพูดภาษาเวลส์ได้มากที่สุด ซึี่งสมเด็จพระเจ้าชาร์ลสที่ 3 ขณะดำรงพระยศเจ้าฟ้าชาย เคยทรงศึกษาในมหาวิทยาลัยที่นี่หนึ่งเทอมและพยายามเรียนรู้ภาษาเวลส์ก่อนเข้าพิธีสถาปนา

ขณะนี้ปราสาทแคร์นาร์วอนเป็นมรดกโลกของยูเนสโก สนามหญ้าของปราสาทเป็นที่วิ่งเล่นของเด็กๆ แต่ประวัติศาสตร์นองเลือดระหว่างอังกฤษกับเวลส์ไม่เคยถูกลืม

เริ่มแรกฐานันดรศักดิ์เจ้าชายแห่งเวลส์เป็นของเจ้าชายท้องถิ่น องค์สุดท้ายคือเจ้าชายลิเวลิน เอพ กรัฟฟัด (Llywelyn ap Gruffudd) ทรงถูกสังหารใน ค.ศ.1282 ระหว่างกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 1 ของอังกฤษทรงพิชิตเวลส์ พระเศียรเจ้าชายถูกนำไปไว้ที่หอคอยลอนดอน

เพื่อกำราบเวลส์ กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 1 ทรงเร่งสร้างปราสาทแคร์นาร์วอน สถานที่ประสูติของรัชทายาท ว่าที่กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 2 ในปี 1284

ฐานันดรศักดิ์ยั่วยุ

จากนั้นพระองค์พระราชทานฐานันดรเจ้าชายแห่งเวลส์ให้องค์รัชทายาทในปี 1301 และกษัตริย์อังกฤษสานต่อธรรมเนียมนี้

“ตามประวัติศาสตร์ นี่คือฐานันดรศักดิ์ยั่วยุ” โทมัสกล่าว แกลเลอรีของเขามีธงแดงสองผืนของขบวนการแยกเอกราชเวลส์แขวนอยู่ภายนอก

การตัดสินพระทัยของควีนเอลิซาเบธทำพิธีสถาปนาเจ้าฟ้าชายชาร์ลส ณ ปราสาทแคร์นาร์วอนในปี 1969 เป็นประเด็นถกเถียงกันในเวลานั้น

ท่ามกลางความรู้สึกชาตินิยมเพิ่มมากขึ้น ผู้ประท้วงชาวเวลส์รวมตัวกันบนถนนนอกปราสาทก่อนถึงพิธี ถึงขนาดเกิดระเบิดหลายครั้งด้วย

ในทีวีซีรีส์เรื่อง “เดอะ คราวน์” เมื่อไม่นานมานี้มีฉากพิธีสถาปนา ควีนทรงสวมรัดเกล้าบนเศียรเจ้าฟ้าชายชาร์ลสที่ทรงนั่งคุกเข่าบนแท่นหิน จากนั้นเจ้าชายทรงสาบานตนว่า จะเป็น “ผู้ภักดีแห่งชีวิตและกิ่งก้านสาขาของพระองค์”

นับจากนั้นเวลส์ได้เสรีภาพทางการเมืองมากขึ้นจากรัฐบาลลอนดอน และเหินห่างมากขึ้นจากราชวงศ์ที่ดูเหมือนผูกพันกับสกอตแลนด์มากกว่า

ประเทศเอกราช

“โดยส่วนตัว ฉันคิดว่าเราควรมีเจ้าชายชาวเวลส์ เราควรเป็นประเทศเอกราชด้วย” เรียนนอน อีวานส์ บาริสตา วัย 23 ปี ในแคร์นาร์วอนให้ความเห็น

กษัตริย์ชาร์ลสทรงมีหมายกำหนดการเสด็จคาร์ดิฟฟ์ในวันศุกร์ (16 ก.ย.) หลังเสด็จเอดินบะระและเบลฟาสต์มาแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นว่าอนาคตสหราชอาณาจักรอยู่ในพระทัย แต่พระองค์ทรงถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสถาปนาเจ้าชายวิลเลียมเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์โดยไม่ปรึกษาชาวเวลส์รวมถึงนายกรัฐมนตรีเวลส์

เซลวิน โจนส์ พนักงานร้านหนังสือแห่งหนึ่ง กล่าวว่า การจัดพิธีสถาปนาในแคร์นาร์วอนจะทำให้สังคมไม่พอใจมากกว่าเมื่อปี 1969 เพราะการตัดสินใจเกี่ยวกับเจ้าชายวิลเลียม “ถูกกำหนดโดยกษัตริย์องค์ใหม่”

รายงานข่าวเผยว่า พิธีสถาปนาเจ้าชายวิลเลียมในคาร์ดิฟฟ์ปีหน้าอาจลดขนาดลง

สำหรับชาวบ้านกล่าวว่าพวกเขา “เคารพ” เจ้าชายวิลเลียมและชายาเคท ผู้เคยอยู่ในแองเกิลซีส์ แค่ข้ามน้ำจากปราสาท ขณะที่เจ้าชายวิลเลียมทรงเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ค้นหาและกู้ภัยของกองทัพอากาศ แต่นั่นไม่ได้หมายถึงการสนับสนุน และการสวรรคตของควีนอาจเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

 ส่วนซาร์แนคกี ที่พี่ชายผู้ล่วงลับเคยเป็นบัตเลอร์ให้ควีนนานถึง 10 ปี และยกย่องบูชาพระองค์เชื่อว่า พิธีสถาปนาเจ้าชายแห่งเวลส์ ณ ปราสาทแคร์นาร์วอนที่เธอเคยถ่ายรูปไว้สมัยเป็นเด็กจะไม่มีวันเกิดขึ้นอีก

 “ฉันคิดว่าตอนนี้ถึงเวลายุติได้แล้ว” เธอกล่าวทิ้งท้าย