ซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ “อู ยองอู ทนายอัจฉริยะ” จุดชนวนถกเถียง ออทิสติก เกาหลีใต้

ซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ “อู ยองอู ทนายอัจฉริยะ” จุดชนวนถกเถียง ออทิสติก เกาหลีใต้

ซีรีส์เกาหลีของเน็ตฟลิกซ์ เรื่องราวทนายออทิสติกศักยภาพสูงกำลังกลายเป็นที่ถกเถียงในเกาหลีใต้ ขณะที่หลายคนในกลุ่มนี้กล่าวว่า พวกตนยังถูกมองข้าม

“อูยองอู ทนายอัจฉริยะ” ซีรีส์ดังว่าด้วยทนายความสาวผู้มีความหลากหลายทางระบบประสาท กลายเป็นซีรีส์ภาษาต่างประเทศที่มีผู้ชมมากที่สุดของเน็ตฟลิกซ์นานกว่าหนึ่งเดือน ตามรอย “Squid Game” แม้แต่บีทีเอส วงเคป็อบชื่อดังก็ยังเป็นแฟนซีรีส์เรื่องนี้ สมาชิกวงโพสต์คลิปการแสดงท่าทักทายระหว่างทนายอูกับเพื่อนสนิท เป็นที่ฮือฮาทั่วโซเชียลมีเดีย

อย่างไรก็ตาม ซีรีส์ 16 ตอนว่าด้วยทนายมือใหม่ที่สภาพของเธอเอื้อให้โดดเด่นในงานกฎหมายแต่ก็เข้าสังคมยากเรื่องนี้กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงในเกาหลีใต้ถึงภาวะออทิสติก

“อู ยองอู” นางเอกเป็นทนายความสุดอัจฉริยะ ไอคิวระดับ 164 แต่ก็แสดงนิสัยผู้มีภาวะออทิสติก พูดคำหรือประโยคซ้ำๆ บ่อยครั้งที่พูดนอกเรื่อง

พัก อึนบิน ดาราสาว วัย 29 ปี ผู้รับบททนายอู ยองอู ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลามกล่าวว่า ตอนแรกเธอลังเลที่จะรับบทนี้ ด้วยทราบดีว่าเรื่องราวมีพลังส่งผลต่อการรับรู้เกี่ยวกับผู้มีภาวะออทิสติกในเกาหลีใต้และที่อื่นๆ

“ฉันรู้สึกว่า ฉันมีความรับผิดชอบทางศีลธรรมในฐานะนักแสดง ฉันรู้ดีว่าเรื่องนี้ต้องส่งผลกับคนเป็นออทิสติกและครอบครัวของพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นักแสดงสาวกล่าวและว่า เธอเคยถามว่าสามารถถอนตัวจากตัวละครที่ซับซ้อนนี้ได้หรือไม่

“เป็นครั้งแรกเลยค่ะที่ฉันคิดไม่ออกว่าจะทำอะไร ในแง่ของวิธีการแสดงออกตอนอ่านบท”

‘ถูกลบเลือน’ในเกาหลีใต้

แต่ในเกาหลีใต้ บางครอบครัวที่มีสมาชิกออทิสติกกล่าวว่า ซีรีส์นี้เป็นเรื่องเพ้อฝันล้วนๆ บุคลิกของอู ยองอูไม่มีจริง

ลี ดองจู แม่ของลูกออทิสติก เผยกับสถานีโทรทัศน์เกาหลีใต้ว่า สำหรับหลายๆ คน การทำได้แบบทนายอู เปรียบเสมือน “เด็กคว้าเหรียญโอลิมปิกแข่งจักรยานโดยยังเดินไม่ได้ด้วยซ้ำ”

แต่คิม อุยจอง อาจารย์ด้านจิตเวชจากมหาวิทยาลัยสตรีอีวฮา โรงพยาบาลมอกดอง กล่าวว่า ขณะที่ตัวละครอูชัดเจนว่า “เป็นบุคลิกที่แต่งขึ้นเพื่อสร้างอารมณ์ให้ได้มากที่สุด” แต่แท้จริงแล้วเรื่องราวของเธอมีความจริงมากกว่าที่ชาวเกาหลีใต้หลายคนตระหนัก คนในกลุ่มออทิสติกราวหนึ่งในสามมีสติปัญญาในระดับค่าเฉลี่ยหรือสูงกว่าค่าเฉลี่ย และอาจไม่สามารถสังเกตได้ถึงบุคลิกออทิสติก หรือแม้แต่ตระหนักได้ว่าพวกเขามีอาการ

นี่คือเคสของลี ดาบิน ที่มีอาการแต่ไม่ได้เคยรับการวินิจฉัยมาก่อนเพิ่งมาทราบภายหลัง

“ผู้คนไม่รับรู้อาการออทิสติกอ่อนๆ เลยแม้แต่น้อย ฉันรู้สึกว่ากำลังถูกลบเลือน” เจ้าตัวเล่าและบอกถึงนิสัยหลายอย่างที่มีเหมือนทนายอูตั้งแต่รับรู้รสชาติได้ไวไปจนถึงล้ำเลิศทางวิชาการ แต่ก็ต้องเจ็บปวดกับการถูกกลั่นแกล้งรังแก เมื่อโตมาลีรู้ว่าเธอแตกต่างแต่ก็โทษตนเองที่ไม่สามารถเข้ากับคนอื่นได้

ความเข้าใจจำกัด

“การรับรู้หรือความเข้าใจของสาธารณชนต่อกลุ่มบุคคลออทิสติกที่มีศักยภาพสูงในเกาหลีใต้ยังจำกัดมาก” คิม ฮีจิน อาจารย์ด้านจิตเวชโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยชุงอังกล่าวกับเอเอฟพี คนทั่วไปมองออทิสติก เป็น “ภาวะที่เกี่ยวข้องกับความบกพร่องทางสติปัญญาอย่างรุนแรง” ผลจากความล้มเหลวในการวินิจฉัยที่กว้างขึ้นและให้การสนับสนุนแต่เนิ่นๆ

การเข้าช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มต้นสามารถช่วยคนที่มีอาการ “ไม่ต้องกล่าวโทษตนเองเมื่อเจอความท้าทายอันเนื่องมาจากออทิสติก เช่น หาเพื่อนและคงมิตรภาพได้ยาก”

สำหรับลี ดาบิน ถ้ารู้ว่าเป็นอะไรเสียแต่เนิ่นๆ อาจช่วยให้เธอไม่ต้องเสียใจและเจ็บปวดอย่างมหาศาล ครั้นได้รับการวินิจฉันเธอสามารถกลับมาเรียนหนังสือใหม่ได้ ด้วยเป้าหมายสูงสุดคือเป็นแพทย์

และที่เหมือนกับตัวละครทนายอู ผู้พยายามเดทและฝันอยากใช้ชีวิตอิสระเต็มที่ซึ่งโดนใจผู้ชม ลีกล่าวว่าเธอเองก็อยากใช้ชีวิตแบบควบคุมการกระทำและผลที่ตามมาได้ และเชื่อมต่อกับคนอื่น

“ฉันอยากหาเงินได้มากพอดูแลตัวเอง มีที่มีทางของตัวเอง ที่ได้ใช้ชีวิตกับใครสักคนที่ฉันรัก”