พายุไต้ฝุ่น‘จีน - สหรัฐ’จากปมไต้หวันเหนือความคาดหมายประชุมอาเซียน

พายุไต้ฝุ่น‘จีน - สหรัฐ’จากปมไต้หวันเหนือความคาดหมายประชุมอาเซียน

รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนพยายามหาแนวทางการทูตหยุดพายุความขัดแย้งที่ก่อตัวในช่องแคบไต้หวัน หลังจากที่เที่ยวบินพิเศษของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐได้ลงแตะเกาะไต้หวัน สร้างความโกรธเกรี้ยวให้รัฐบาลจีน

การเยือนไต้หวันของเพโลซีกลายเป็นประเด็นใหญ่และเกิดขึ้นเหนือความคาดหมายในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่55 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงพนมเปญในครั้งนี้ ที่เดิมมุ่งมั่นจะจัดการวิกฤตินองเลือดในเมียนมา 

แต่ดูเหมือนว่า ความสนใจของสื่อและประชาคมโลกจะไปโฟกัสที่ “หวัง อี้” มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน และ “แอนโทนี บลิงเคน” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐแทน โดยทั้งสองได้บินไปถึงเมืองหลวงของกัมพูชาแล้ว  และที่แน่ๆทั้งสองจะเจอหน้ากันในการประชุมอาเซียน ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก (ARF) ในวันศุกร์ (5 ส.ค.)

คุง โพก รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศกัมพูชากล่าวว่า การประชุมอาเซียนในครั้งนี้ที่มีกัมพูชาเป็นเจ้าภาพจะพยายามให้กระแสน้ำที่เชี่ยวกรากในช่องแคบไต้หวัน “สงบลง” ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง และบานปลายไปเป็นสถานการณ์ระดับภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในหลายๆประเทศที่กำลังฟื้นตัว หลังเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 

เมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา (2 ส.ค.) กระทรวงการต่างประเทศจีนได้ออกแถลงการณ์ให้คำมั่นว่า จีนจะใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมด เพื่อปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของจีนอย่างเด็ดเดี่ยว เพื่อสนองต่อการตัดสินใจของเพโลซีเยือนเกาะไต้หวัน โดยผลลัพธ์ต้องตกอยู่กับสหรัฐและกลุ่มกองกำลัง “เอกราชไต้หวัน

ในบรรดาสมาชิก10 ประเทศอาเซียน เห็นได้ชัดเจนว่า เมียนมากับลาว มีความสนิทใกล้ชิดและเกรงใจรัฐบาลปักกิ่ง แถมยังไม่กล้าแสดงความเห็นตรงกันข้ามที่อาจสร้างความขุนเขืองใจให้จีน ทางกลับกันก็ไม่มีประเทศใดเลยในอาเซียนให้การรับรองไต้หวันอย่างเป็นทางการ 

จีนเป็นหนึ่งในประเทศผู้ให้กู้รายใหญ่ที่สุดกับประเทศกำลังพัฒนาผ่านโครงการข้อริเริ่มสายแทบและเส้นทาง เพื่อขยายการค้าด้วยการก่อสร้างท่าเรือ ทางรถไฟ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ทั่วเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลางไปยังยุโรป

เมื่อวันพฤหัสบดี (4 ส.ค.) “หวัง” กล่าวในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีนที่เน้นถ้อยคำเพื่อกระชับสัมพันธ์จีนกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่าพวกเราต้องรักษา “โอเอซิสกลางทะเลทราย” ซึ่งเปรียบกับปกป้องความสงบ เมื่อต้องเผชิญกับความวุ่นวายในสถานการณ์ความมั่นคงระหว่างประเทศ

หวังให้สัมภาษณ์สื่อในระหว่างการประชุมอาเซียนว่า สหรัฐไม่ควรเพ้อฝันถึงการขัดขวางการรวมชาติของจีน โดยไต้หวันถือเป็นส่วนหนึ่งของจีน การรวมชาติอย่างสมบูรณ์ของจีนเป็นกระแสธารแห่งยุคสมัย และสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงในประวัติศาสตร์ จีนจะไม่ปล่อยให้มีที่ว่างสำหรับกองกำลัง “เอกราชไต้หวัน” และการแทรกแซงจากภายนอก

ไม่ว่าสหรัฐ จะสนับสนุนหรือสมคบคิดกับกองกำลัง “เอกราชไต้หวัน” อย่างไร สิ่งเหล่านั้นจะสูญเปล่าทั้งหมด และสหรัฐรังแต่จะทิ้งร่องรอยอันน่ารังเกียจของการแทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ โดยประเด็นไต้หวันเกิดขึ้นยามจีนอ่อนแอ และวุ่นวาย และจะจบลงด้วยการฟื้นฟูชาติอย่างแน่นอน

ขณะที่ “บลิงเคน” ได้ทวีตข้อความก่อนเดินไปกรุงพนมเปญเพื่อเข้าร่วมการประชุมอาเซียน-สหรัฐ ระบุว่า เขาเข้าร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม G7 เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นร่วมกัน ในการรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันและอื่น ๆ

ท่าทีสหรัฐล่าสุดทำให้หลายฝ่ายหวังอยากเห็นการพูดคุยแบบเคลียร์ใจตรงไปตรงมาระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐและจีนในระหว่างการประชุมอาเซียน เพราะความสัมพันธ์สองประเทศที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ไม่ควรติดหล่มกับการตัดสินใจของเพโลซี ซึ่งขนาดนักวิชาการสหรัฐต่างก็พูดเสียงเดียวกันว่าเป็น “ความเสี่ยงที่ไม่จำเป็น” ขนาดกองทัพสหรัฐเองก็ยังเชื่อว่า การเหยียบเกาะไต้หวันตอนนี้ไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก

ในระหว่างประชุมอาเซียน หวังพยายามเลี่ยงเจอสหรัฐและประเทศพันธมิตร ซึ่งการที่ประเทศกลุ่ม G7 ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลจีนคุกคามไต้หวัน ทำให้จีนประกาศว่า หวังยกเลิกการประชุมร่วมกับญี่ปุ่นนอกรอบการประชุมอาเซียน ท่ามกลางสถานการณ์ในช่องแคบที่คุกรุ่น โดยจีนส่งเครื่องบินรบ 27 ลำป่วนน่านฟ้าในเขตป้องกันภัยทางอากาศ ขณะที่ไต้หวันส่งเครื่องบินเจ็ทสกัด

รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ออกแถลงการณ์ร่วมระบุว่า อาเซียนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความผันผวนไม่แน่นอนระหว่างประเทศและในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพัฒนาการล่าสุดในพื้นที่ ที่อยู่ติดกับอาเซียน ซึ่งอาจทำให้ภูมิภาคเกิดความไม่มั่นคง และอาจนำไปสู่การคำนวณที่ผิดพลาด จนเกิดการเผชิญหน้าที่รุนแรง และความขัดแย้งเป็นวงกว้าง รวมถึงนำไปสู่ผลที่คาดเดาไม่ได้ในหมู่ชาติมหาอำนาจ

อย่างไรก็ตาม จนถึงเวลานี้ยังไม่ชัดเจนว่า อาเซียนจะทำอะไรเพื่อบรรเทาวิกฤติความสัมพันธ์ของสองมหาอำนาจสหรัฐและจีน ไปได้มากกว่าการแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนต่อสถานการณ์ช่องแคบไต้หวัน เพราะก็ไม่มีอะไรการันตีว่าจะมีเหตุการณ์ผุดขึ้นมาก่อกวนสันติสุขอีกในอนาคต