สหรัฐเร่งเกมเซมิคอนดักเตอร์ ‘เพโลซี’คุยประธานทีเอสเอ็มซีของไต้หวัน

สหรัฐเร่งเกมเซมิคอนดักเตอร์   ‘เพโลซี’คุยประธานทีเอสเอ็มซีของไต้หวัน

แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐออกจากไต้หวันไปแล้ว แต่การเยือนของเธอทำให้โลกจับตามองบทบาทของไต้หวันในซัพพลายเชนโลกอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง (ทีเอสเอ็มซี) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่สุดของโลก

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานว่า การเยือนสะเทือนโลกที่สร้างความแค้นเคืองให้รัฐบาลปักกิ่ง เพโลซีพบกับมาร์ค หลิว ประธานทีเอสเอ็มซี ส่งสัญญาณถึงความสำคัญของเซมิคอนดักเตอร์ต่อความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ และบทบาทของบริษัทในการผลิตชิปทันสมัยที่สุด

เซมิคอนดักเตอร์ ที่ใช้ในทุกสิ่งตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึงรถยนต์และตู้เย็น กลายเป็นส่วนสำคัญในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐช่วงไม่กี่ปีหลัง เมื่อเร็วๆ นี้ การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์กระตุ้นให้สหรัฐพยายามไล่ตามเอเชียให้ทัน และรักษาภาวะการนำเหนือจีนในอุตสาหกรรมนี้

“สถานะทางการทูตที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขของไต้หวันยังคงเป็นที่มาของความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์อันเข้มข้น แม้แต่การเยือนของเพโลซียิ่งตอกย้ำความสำคัญของไต้หวันต่อทั้งสองประเทศเหตุผลที่เห็นได้ชัดเจนคือความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของไต้หวันในฐานะผู้ผลิตชิป และในซัพพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์โลก” รีมา ภัตตะชาร์ยา หัวหน้าฝ่ายวิจัยเอเชียบริษัทเวอริสก์ เมเปิลครอฟต์ กล่าวกับรายการ “Street Signs Europe” ทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี เมื่อวันพุธ (3 ส.ค.)

การไปไต้หวันของเปโลซีและพบกับประธานทีเอสเอ็มซีแสดงให้เห็นว่า สหรัฐไม่สามารถทำสิ่งนี้คนเดียวได้ จำเป็นต้องได้ความร่วมมือจากบริษัทเอเชียที่ครอบงำชิปทันสมัยนี้อยู่

บทบาทสำคัญของทีเอสเอ็มซี

ทีเอสเอ็มซีเป็นบริษัทรับจ้างผลิต นั่นหมายความว่าผลิตชิปที่บริษัทอื่นออกแบบมา ลูกค้าของทีเอสเอ็มซีมีมากมายตั้งแต่แอ๊ปเปิ้ลไปจนถึงอินวิเดีย บางแห่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่สุดของโลก

เมื่อสหรัฐล้าหลังด้านการผลิตชิปช่วง 15 ปีที่ผ่านมาบริษัทอย่างทีเอสเอ็มซีและซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ในเกาหลีใต้ ก็เดินหน้าด้วยเทคนิคผลิตชิปล้ำยุค แม้บริษัทเอเชียยังคงพึ่งพาเครื่องมือและเทคโนโลยีจากสหรัฐ ยุโรป และที่อื่นๆ โดยเฉพาะทีเอสเอ็มซี แต่ก็ยังสามารถก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทผลิตชิปอันดับหนึ่งของโลกได้

ข้อมูลจากเคาน์เตอร์พอยท์รีเสิร์ชระบุว่า ทีเอสเอ็มซีคิดเป็น 54% ในตลาดรับจ้างผลิตชิปโลก ไต้หวันคิดเป็นราวสองในสามของตลาดนี้ เมื่อพิจารณาการผลิตของทีเอสเอ็มซีควบคู่กับบริษัทอื่นๆ เช่น ยูเอ็นซีและแวนการ์ด ยิ่งตอกย้ำความสำคัญของไต้หวันในตลาดเซมิคอนดักเตอร์โลก

เมื่อรวมซัมซุงซึ่งครองสัดส่วน 15% ในตลาดรับจ้างผลิตชิปโลก เท่ากับว่าเอเชียครอบงำการผลิตชิปอย่างแท้จริง นั่นคือเหตุว่าทำไมเพโลซีจึงต้องไปพบประธานทีเอสเอ็มซี

หวั่นไต้หวันถูกรุกราน

จีนมองไต้หวันที่ปกครองตนเองในระบอบประชาธิปไตยว่าเป็นมณฑลทรยศ ที่จำเป็นต้องถูกรวมเข้ากับแผ่นดินใหญ่อีกครั้ง รัฐบาลปักกิ่งพร่ำบอกเพโลซีมาหลายสัปดาห์ไม่ให้มาไต้หวัน ระหว่างที่เธอเยือนจีนเพิ่มความตึงเครียดด้วยการซ้อมรบ จนเกิดความกังวลว่าการรุกรานไต้หวันของจีนไม่ว่าในรูปแบบใดๆ อาจส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อโครงสร้างอำนาจของตลาดชิปโลก ปักกิ่งจะได้ควบคุมเทคโนโลยีที่ตนไม่เคยมีมาก่อน ยิ่งไปกว่านั้นมีความกังวลว่า การรุกรานอาจปิดกั้นซัพพลายชิปทันสมัยจากส่วนอื่นๆ ของโลก

“ที่เป็นไปได้มากที่สุดคือจีนอาจยึดทีเอสเอ็มซีมาเป็นของรัฐแล้วเริ่มบูรณาการบริษัทและเทคโนโลยีของบริษัทเข้าสู่อุตสาหกรรมของจีน” อภิชูร์ ประกาศ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษา “ศูนย์เพื่อนวัตกรรมแห่งอนาคต” กล่าวกับซีเอ็นบีซี แต่หลิวจากทีเอสเอ็มซีกล่าวกับซีเอ็นเอ็นว่า การรุกรานไต้หวันจะทำให้ทีเอสเอ็มซีไม่สามารถปฏิบัติการได้

“ไม่มีใครสามารถใช้กำลังควบคุมทีเอสเอ็มซีได้” ประธานบริษัทย้ำ

สิ่งที่สหรัฐกำลังทำ

สหรัฐกำลังผลักดันปรับฐานการผลิตใหม่ อินเทลภายใต้ซีอีโอ “แพท เกลซิงเกอร์” พยายามเสริมธุรกิจรับจ้างผลิตหลังจากตามหลังทีเอสเอ็มซีมาหลายปี แต่สหรัฐก็พยายามกล่อมบริษัทอื่นให้มาตั้งโรงงานบนแผ่นดินของตนด้วย

ขณะนี้ทีเอสเอ็มซีกำลังสร้างโรงงานผลิตมูลค่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ที่แอริโซนา เพื่อผลิตชิปก้าวหน้าสูง

สัปดาห์ก่อนสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐผ่านกฎหมายชิปและวิทยาศาสตร์ ซึ่งรวมถึงการให้เงินทุน 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์ส่งเสริมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐและยกระดับความสามารถในการแข่งขันกับจีน รวมถึงหาทางจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีของจีนด้วย

ปี 2563 รัฐบาลวอชิงตันออกกฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตต่างชาติใช้อุปกรณ์ผลิตชิปอเมริกันต้องได้รับใบอนุญาตก่อนขายเซมิคอนดักเตอร์ให้หัวเว่ย บริษัทอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ของจีน  ทีเอสเอ็มซีนั้นผลิตชิปโพรเซสเซอร์สมาร์ทโฟนของหัวเว่ย แต่หลังจากความเคลื่อนไหวนี้ของสหรัฐ ทีเอสเอ็มซีไม่สามารถผลิตชิปให้หัวเว่ยได้อีก ส่งผลให้ธุรกิจสมาร์ทโฟนยักษ์ใหญ่จีนรายนี้ต้องเจ็บหนัก

ในปีเดียวกัน “เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง อินเตอร์เนชันแนล คอร์ปอเรชัน” (เอสเอ็มไอซี) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่สุดของจีน ถูกสหรัฐขึ้นบัญชีดำห้ามส่งออกจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีสำคัญ

ความพยายามของจีน 

จีนเองก็สนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เน้นที่การพึี่งตนเอง ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีอเมริกัน

เอสเอ็มไอซีสำคัญต่อแผนการใหญ่ของจีน แต่การคว่ำบาตรตัดเครื่องมือสำคัญที่จีนต้องการนำมาสร้างชิปทันสมัยล่าสุดอย่างที่ทีเอสเอ็มซีทำ เอสเอ็มไอซียังคงตามหลังคู่แข่งอยู่หลายปี และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีนยังคงพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติอย่างมาก

ทีเอสเอ็มซีมีโรงงานผลิตชิปสองแห่งในจีน แต่ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ซับซ้อนน้อยกว่าไม่เหมือนโรงงานผลิตในแอริโซนา