"เฟด" ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% รอบ 2 ติดต่อกัน สกัด "เงินเฟ้อ" พุ่งไม่หยุด

"เฟด" ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% รอบ 2 ติดต่อกัน สกัด "เงินเฟ้อ" พุ่งไม่หยุด

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ครั้งที่ 2 ติดต่อกันจากเดือนที่แล้ว หวังต่อสู้ "เงินเฟ้อ" ที่พุ่งต่อเนื่องในประเทศ

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 2.25%-2.50% ในการประชุมเมื่อวันพุธ (27 ก.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น หลังเข้าสู่ปี 2565 ด้วยอัตราดอกเบี้ย 0% โดยมุ่งเป้าไปที่การต่อสู้ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่องในประเทศขณะนี้

นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด แถลงว่า เอฟโอเอ็มซียังคงยืนยันหนักแน่นที่จะดึงตัวเลขเงินเฟ้อแตะเป้าหมาย 2% ให้ได้ และคาดว่า การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องที่ดำเนินอยู่ขณะนี้ถือว่า "เหมาะสมแล้ว" แต่อาจจะชะลอความถี่ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต

"ตัวชี้วัดเกี่ยวกับการจับจ่ายของผู้บริโภคและภาคการผลิตเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้อ่อนกำลังลง" แถลงการณ์ของเอฟโอเอ็มซี ระบุ "อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูงขึ้น สะท้อนถึงความไม่สมดุลระหว่างอุปทานกับอุปสงค์ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น และแรงกดดันด้านราคาที่ขยายกว้างขึ้น"

ทั้งนี้ เฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน หลังปรับขึ้นอัตราเดียวกัน สู่ระดับ 1.5%-1.75% ในการประชุมช่วงกลางเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐยังอยู่ในระดับสูง และนับเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 4 ของเฟดในช่วง 5 เดือนหลัง

บรรดานักเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ครั้งนี้ ถือเป็นวงจรการคุมเข้มทางการเงินครั้งรุนแรงที่สุดของเฟด นับตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 80 ช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อ (Stagflation) สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. เอสแอนด์พี โกลบอล รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 47.5 ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือน จากระดับ 52.3 ในเดือน มิ.ย.

ดัชนี PMI อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว โดยเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2563 โดยถูกกดดันจากภาวะหดตัวในภาคบริการ ขณะที่ภาคการผลิตปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2563

ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น อยู่ที่ 52.3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 24 เดือน จากระดับ 52.7 ในเดือน มิ.ย. และดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น อยู่ที่ 47.0 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือน จากระดับ 52.7 ในเดือน มิ.ย.

ก่อนหน้านี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2565 และ 2566 โดยเตือนว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย ท่ามกลางความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่รุนแรงกว่าคาด รวมทั้งผลกระทบจากการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน

ทั้งนี้ รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ของไอเอ็มเอฟเผยคาดการณ์เศรษฐกิจโลกว่า จะขยายตัว 3.2% ในปี 2565 ก่อนที่จะชะลอตัวสู่ 2.9% ในปี 2566 โดยปรับลดลง 0.4% และ 0.7% ตามลำดับจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนเม.ย.