เทียบฟอร์ม2คู่ชิงเก้าอี้นายกฯอังกฤษ

เทียบฟอร์ม2คู่ชิงเก้าอี้นายกฯอังกฤษ

สองตัวเต็งที่คาดว่ามีโอกาสเข้ามานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษแทน “บอริส จอห์นสัน” มากที่สุด ชูนโยบายคนเข้าเมือง โดยรับปากว่าจะต่อสู้กับปัญหาผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย สนับสนุนมาตรการส่งผู้ลักลอบเข้าเมืองไปยังประเทศรวันดา และวิจารณ์จีนอย่างแรง

"ลิซ ทรัสส์" รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ และ“ริชี ซูนัค”อดีตรัฐมนตรีการคลัง กำลังแข่งขันกันอย่างขับเคี่ยวเพื่อนั่งเก้าอี้นายกฯ คนใหม่ หลังจากการประกาศลาออกของนายกรัฐมนตรีจอห์นสัน เมื่อต้นเดือนนี้ สืบเนื่องจากข่าวอื้อฉาวหลายเรื่อง

ที่ผ่านมา ตัวเต็งทั้งสองคนต่างตอบโต้กันเรื่องการใช้มาตรการลดภาษีในขณะที่ประชาชนกำลังเผชิญภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า และการประท้วงหยุดงาน

เมื่อวันเสาร์(23ก.ค.) ซูนัค ยอมรับว่าเขาเป็นมวยรอง หลังจากที่ผลสำรวจคะแนนนิยมบ่งชี้ว่า ทรัสส์ มีคะแนนนำโด่งในหมู่สมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งจะลงคะแนนเสียงก่อนวันที่ 5 ก.ย. เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ แทนจอห์นสัน

วันอาทิตย์(24ก.ค.) ผู้สมัครทั้งสองคนต่างกล่าวถึงแผนสนับสนุนมาตรการส่งตัวผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายไปยังรวันดา แม้ว่าเมื่อเดือนที่แล้ว ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (European Court of Human Rights )หรือ อีซีเอชอาร์มีคำสั่งสกัดเที่ยวบินสำหรับผู้ลักลอบเข้าเมืองเที่ยวแรกที่จะเดินทางไปรวันดา

ทรัสส์ ระบุว่า เธอต้องการเห็น “นโยบายรวันดา” เดินหน้าต่อไป ตลอดจนสอบถามไปยังประเทศอื่นที่ต้องการทำข้อตกลงความร่วมมือในลักษณะเดียวกับรวันดาด้วย รวมถึงการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ป้องกันตามแนวพรมแดนของอังกฤษอีก 20% และเพิ่มความเข้มแข็งของกฎหมายสิทธิพลเมืองของอังกฤษ

ส่วนซูนัค  กล่าวผ่านสื่อชั้นนำอย่างเดอะซันว่า นโยบายควบคุมคนเข้าเมืองจะเป็น 1 ใน 5 นโยบายฉุกเฉิน และหากเขาได้เป็นนายกฯ ปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขภายใน 100 วันแรกที่เขาเข้ารับตำแหน่ง พร้อมยืนยันว่าหากประเทศไหนไม่ให้ความร่วมมือในการตัดการปัญหาผู้ลักลอบเข้าเมือง เขาจะทบทวนความสัมพันธ์กับประเทศนั้นทั้งในเรื่องความช่วยเหลือ การค้าและการออกวีซ่า ทันที

สำหรับประเด็นจีน  ล่าสุด ทรัสส์ บอกว่า เธอจะดำเนินการกับบริษัทเทคโนโลยีของจีนอย่าง ติ๊กต่อก หากเธอชนะการเลือกตั้ง

ทรัสส์ กล่าวเมื่อถูกถามในการโต้วาทีทางสถานีโทรทัศน์ของบีบีซีว่า เธอจะคุมเข้มบริษัทเทคโนโลยีของจีนหรือไม่ว่า  “เราควรจะดำเนินการกับบริษัทประเภทนั้น” 

คำพูดของทรัสส์ฟังดูไม่ค่อยรุนแรงเท่ากับคู่แข่งอย่าง ซูนัคที่ชูนโยบายแข็งกร้าวกับจีนในฐานะเป็นศัตรูหมายเลข 1 ทั้งยังบอกว่าจะ ปิดสถาบันขงจื๊อในสหราชอาณาจักรทั้งหมดที่มีอยู่ 30 แห่ง หากได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี  เพื่อป้องกันการใช้ “soft-power” เผยแผ่อิทธิพลจีนผ่านโครงการวัฒนธรรมและภาษา

นอกจากนี้ ซูนัค ยังให้คำมั่นว่าจะขับไล่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ออกจากมหาวิทยาลัยของอังกฤษ โดยบังคับให้สถานศึกษาระดับอุดมศึกษา เปิดเผยเงินทุนจากต่างประเทศที่มีมูลค่ามากกว่า 50,000 ปอนด์ , ทบทวนความเป็นร่วมมือด้านการวิจัย, ใช้หน่วยข่าวกรองในประเทศ (MI5) ต่อต้านการจารกรรมของจีน และจะเรียกร้องให้กลุ่ม G7 แสดงบทบาทเป็นเหมือนองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(นาโต้)ทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากจีน รวมทั้งในโลกไซเบอร์ และจะคว่ำบาตรจีนในกรณีที่ไม่เล่นตามกฎกติกาสากล รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ที่จะขัดขวางไม่ให้จีนเข้าซื้อสินทรัพย์ที่สำคัญของอังกฤษ โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีที่มีความอ่อนไหวในทางยุทธศาสตร์

“ จีนขโมยเทคโนโลยีของเราและแทรกซึมมหาวิทยาลัยของเรา ขณะเดียวกันก็สนับสนุนวลาดิมีร์ ปูติน ในต่างประเทศ ด้วยการซื้อน้ำมันของรัสเซียตลอดจนพยายามกลั่นแกล้งเพื่อนบ้านรวมทั้งไต้หวัน”ซูนัค กล่าว

ซูนัค ยังโจมตีนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) หรือบีอาร์ไอ ว่า ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาติดกับดักหนี้มหาศาล

คำพูดของซูนัคครั้งนี้ เป็นการปรับท่าทีหลังจากถูก “ทรัสส์”โจมตีว่า “อ่อน” ทั้งในประเด็นจีนและรัสเซีย

ส่วน“เดลี เมล” สื่อประเภทแท็บลอยด์ที่เชียร์ทรัสส์มาตลอด มองว่าการได้รับคะแนนสนับสนุนจากพรรคอนุรักษ์นิยมของซูนัคเป็นการรับรองที่ไม่มีใครต้องการ ทั้งยังเป็นการดิ้นเฮือกสุดท้ายเพื่อแย่งคะแนนเสียงในระดับรากหญ้าจากทรัสส์ ที่มีคะแนนมากถึง 200,000 คะแนน