รัฐสภาไทยร่วมกับ UNDP จัดกิจกรรม "วันรัฐสภาสากล”

รัฐสภาไทยร่วมกับ UNDP จัดกิจกรรม "วันรัฐสภาสากล”

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และรัฐสภาไทย ร่วมกันจัดกิจกรรม ในหัวข้อ “การมีส่วนร่วมของประชาชนในภารกิจของรัฐสภา” ณ รัฐสภาไทย เนื่องในวันรัฐสภาสากล 30 มิ.ย.

 วันที่ 30 มิ.ย. ของทุกปีเป็นวันรัฐสภาสากล ซึ่งเป็นวันที่รัฐสภาและสมาชิกรัฐสภาได้คำนึงถึงบทบาทหน้าที่และความมุ่งมั่นในการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมในภารกิจของรัฐสภา โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งหมายรวมถึง สตรีและเยาวชน นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสในการทบทวนบทบาทของรัฐสภาในการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เพื่อเฉลิมฉลองวันรัฐสภาสากลโดยความร่วมมือของสหภาพรัฐสภา (IPU) วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2565 นี้ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และรัฐสภาไทย ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ในหัวข้อ “การมีส่วนร่วมของประชาชนในภารกิจของรัฐสภา” ณ รัฐสภาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้เชี่ยวชาญของ UNDP ภาคประชาสังคม และกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ กลุ่ม LGBTI และกลุ่มชาติพันธุ์ ได้มาเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นพร้อมสร้างความตระหนักในการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อภารกิจของรัฐสภา ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและช่องทางการเข้าถึงของประชาชนทุกกลุ่มต่อภารกิจของของรัฐสภาไทย

คุณพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า: “วันที่ 30 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็นวันรัฐสภาสากล ตามข้อมติสมัชชาแห่งสหประชาชาติ ซึ่งจากการนำเสนอ Global Parliamentary Report ฉบับที่ 3 ของ IPU และ UNDP ภายใต้หัวข้อหลัก คือ “การมีส่วนร่วมของประชาชนในภารกิจของรัฐสภา” ผ่าน Webinar เมื่อวันที่ 30 และ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในความพยายามที่จะร่วมสร้างแนวทางให้กลไกของสถาบันนิติบัญญัติยืนหยัดเคียงข้างประชาชนมากยิ่งขึ้น โดยอาศัยเครื่องมือการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่มในการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นวิกฤติท้าทายของโลกในขณะนี้ เพื่อก้าวไปข้างหน้าภายหลังสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งได้ก่อให้เกิดความรุนแรงของวิกฤติในด้านต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และความไม่มั่นคงทางอาหาร ตลอดจนวิกฤติต่อความเชื่อมั่นในธรรมาภิบาลทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2573 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเป้าหมายที่ 16  ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันที่เข้มแข็ง”

คุณเรอโน เมแยร์ ผู้แทน UNDP ประจำประเทศไทย กล่าวว่า:

“ความมุ่งมั่นของเราในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่มจะยังคงมีการดำเนินและขยายบริบทต่อไป ซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชนในภารกิจของรัฐสภานั้นเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการบรรลุ SDGs พร้อมการสร้างกลไกที่โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ในนานาประเทศ ซึ่งหมายรวมถึงภาคเอกชน CSO และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ”

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา UNDP ร่วมกับ IPU ได้เปิดตัว Third Global Paliamentary Report ซึ่งรายงานนี้จะนำเสนอภาพของการมีส่วนร่วมและการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนในภารกิจของรัฐสภา โดยรัฐสภาตระหนักดีว่าตนมีบทบาทสำคัญในการจัดการกับความท้าทายของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย การกำหนดนโยบาย และกระบวนการกำกับดูแลที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต

การเข้ามามีส่วนร่วมจะทำให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจในส่วนของเนื้อหาในเรื่องนั้น ๆ ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการการตัดสินใจอีกด้วย รัฐสภาไทยมีช่องทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการต่าง ๆ เช่น กลไกของคณะกรรมาธิการ การรับเรื่องราวร้องทุกข์ การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันมีระบบ e-initiative คือการนำ Digital Technology เข้ามาตรวจสอบรายชื่อและคุณสมบัติของประชาชนผู้มีสิทธิเสนอร่างกฎหมายโดยเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภายนอก ทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็วทันท่วงทีและยืนยันความถูกต้องได้ถึงร้อยละ 100 พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านระบบรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ ตามมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญ”

คุณ Charles Chauvel, UNDP Global Lead on Inclusive Processes and Institutions กล่าว

“การมีส่วนร่วมของประชาชนในภารกิจของรัฐสภานั้นถือเป็นข้อกำหนดพื้นฐาน มิใช่ทางเลือก และไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ร่วมกันสำหรับรัฐสภา สมาชิกรัฐสภาและการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังช่วยให้รัฐสภาสามารถเข้าถึงข้อมูลและแนวคิดในวงกว้างและเชิงลึกที่จำเป็นสำหรับการเป็นผู้แทนประชาชน การออกกฎหมาย การกำหนดนโยบายสาธารณะ และการกำกับดูแลเพื่อให้เป็นไปตามความคาดหวังและปณิธานของชุมชน”

คุณณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานคณะ กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าว “รัฐสภาไทยและ UNDP จะร่วมกันส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติต่างๆ ได้แก่ ความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิการมีส่วนร่วมสาธารณะ ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจในการมุ่งมั่นเดินหน้าไปสู่วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน”

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนรัฐสภาไทยในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมิติต่าง ๆ เช่น ความเท่าเทียมทางเพศและการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้มั่นใจว่าแนวคิดการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จะรวมอยู่ในการทำงานของรัฐสภาไทยและการดำเนินงานตามวาระการพัฒนา 2030 ในประเทศไทย