ภาคธุรกิจวอนผู้ว่าฯ ใหม่เปิดกว้าง - ฟื้นสถานะฮ่องกง

ภาคธุรกิจวอนผู้ว่าฯ ใหม่เปิดกว้าง - ฟื้นสถานะฮ่องกง

ผู้บริหารภาคธุรกิจในฮ่องกงต้องการให้ผู้ว่าฯ คนใหม่ ยกเลิกกักตัวโควิด ส่งเสริมหลักนิติธรรม และความโปร่งใสเพื่อฟื้นคืนความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ ก่อนฮ่องกงตกที่นั่งลำบาก

ผู้บริหารภาคธุรกิจแปดรายเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า จอห์น ลี อดีตผู้บัญชาการฝ่ายความมั่นคงที่จะรับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงในวันศุกร์ (1 ก.ค.) นี้ จำต้องฟื้นคืนสถานะศูนย์กลางการเงินโลกของฮ่องกง หลังปิดพรมแดนมาตั้งแต่ปี 2563 นักเดินทางต่างชาติต้องถูกกักตัว และตรวจโควิด-19 อย่างเข้มงวด เช่น บังคับกักตัวในโรงแรมหนึ่งสัปดาห์ และการตรวจอุจจาระทารกหาโควิด-19 ล้วนแต่ทำลายความสามารถในการแข่งขันของฮ่องกง

สจ๊วต เบลีย์ ประธานสมาคมอุตสาหกรรมนิทรรศการ และการประชุมฮ่องกง ที่เสียหายจากข้อจำกัดคุมโควิด กล่าวว่า ในอดีตฮ่องกงเคยเป็นที่หนึ่งที่ผู้บริหารมองหามากที่สุด แต่ตอนนี้ต้องตกที่นั่งลำบากเนื่องจากขาดการเชื่อมต่อกับต่างประเทศ เขาเสนอว่า ขั้นแรกฮ่องกงต้องกลับมาเปิดให้เดินทางเข้าได้โดยไม่ต้องกักตัว

“เราเกือบจะเป็นที่สุดท้ายของโลกที่ยังบังคับให้นักเดินทางต้องกักตัวเมื่อมาถึง ต้องเปลี่ยนโดยเร็วที่สุด จากนั้นต้องทำประชาสัมพันธ์ครั้งใหญ่ให้ผู้คนมาฮ่องกง”

ส่วนชีวิตกลางคืนที่เคยคึกคักกลับเงียบเหงา บาร์ดังหลายแห่งที่คนแน่นช่วงสุดสัปดาห์ตอนนี้ร้างไร้ผู้คน ช่วงครึ่งแรกของปีนี้มีคนย้ายออกจากฮ่องกงแล้วกว่า 134,000 คน เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ตัวเลขอยู่ที่ 1,813 คนเท่านั้น

ข้อมูลระบุว่า ปี 2564 ผู้อาศัยที่ย้ายออกจากฮ่องกงถอนเงินออกไป 9.014 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง เพิ่มขึ้น 52% จากปีก่อนหน้าสำหรับไตรมาสแรกของปีนี้ การถอนเงินจากบัญชี MPF หรือบัญชีเงินฝากที่รัฐบาลบังคับฝากถอนเป็นเงินสดได้เมื่อย้ายออกจากฮ่องกง มีมูลค่า 2.014 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง เพิ่มขึ้นจาก 1.931 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกงจากปีก่อนหน้า

ฮ่องกงพยายามใช้แนวทางโควิดเป็นศูนย์อย่างมีพลวัตแบบเดียวกับจีน แต่ที่แตกต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่คือฮ่องกงที่มีประชากรกว่า 7 ล้านคน ต้องพึ่งพาการเดินทาง และธุรกิจต่างชาติสูงมาก

คนเก่ง บริษัท และการประชุมต่างย้ายไปหาที่อื่นอย่างสิงคโปร์ และดูไบมากขึ้น หลังจากฮ่องกงปั่นป่วนมานานกว่าสามปีเริ่มตั้งแต่การประท้วงต่อต้านรัฐบาลในปี 2562

สัญญาณที่บ่งบอกว่าฮ่องกงแปลกแยกจากโลกมากขึ้นทุกทีคือ เจน เฟรเซอร์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ซิตี้กรุ๊ป และเจมี ไดมอน ซีอีโอ เจ.พี.มอร์แกน ทั้งคู่ไปสิงคโปร์เมื่อสองเดือนที่ผ่านมา เป็นการเยี่ยมเยือนลูกค้า และเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ปกติจะต้องมาฮ่องกงด้วย

เบอร์นาร์ด ชาน ที่ปรึกษารัฐบาล สมาชิกสภาบริหารฮ่องกง และผู้ช่วยประธานสภาประชาชนแห่งชาติจีน กล่าวว่า ผู้ว่าฯ ลี ต้องจัดการกับความต้องการของประชาคมโลก และคนในท้องถิ่นที่ต้องการให้เปิดไปมาหาสู่กับจีนแผ่นดินใหญ่เป็นอันดับแรก

“รัฐบาลไม่สามารถมองข้ามจีนไปหาตลาดต่างประเทศได้เลย ผมคิดว่าถ้าเราส่งสารแบบนั้นคนในท้องถิ่นจะไม่พอใจ การจัดการความต้องการของทั้งสอง ฝ่ายจริงๆ แล้วเป็นความท้าทายของรัฐบาลใหม่อย่างมาก”

ชาน กล่าวด้วยว่า แม้หลายบริษัทจะย้ายสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกไปจากฮ่องกง แต่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับจีนเป็นส่วนใหญ่ยังคงโปรดปรานฮ่องกง แต่เมืองนี้ก็ต้องปรับปรุงความน่าอยู่เพื่อดึงดูดคนเก่งด้วย

“มันไม่ใช่แค่เรื่องการทำธุรกิจ แต่คุณต้องเอาครอบครัวมาอยู่ด้วย การศึกษา โรงเรียน ถ้าเราพัฒนาสิ่งเหล่านี้ไปเรื่อยๆ เราก็แข่งกับสิงคโปร์ ดูไบได้ แต่ต้องใช้เวลาเพราะรอบนี้เราหยุดฮ่องกงเอาไว้”

ผู้บริหารบางคนยังคงมองในแง่ดีถึงอนาคตฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางการเงิน และยังเชื่อว่าเป็นสปริงบอร์ดเข้าหาจีนแผ่นดินใหญ่

เค่อ เจิ้งหลี่ ประธานร่วมประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิกฟิก สมาคมการจัดการการลงทุนทางเลือก ย้ำว่า หลักนิติธรรม และระบบกฎหมายโปร่งใสจำเป็นอย่างยิ่งในการดึงคนเก่งกลับมา

“รัฐบาลใหม่ต้องโฟกัสที่ปัจจัยสำคัญขับเคลื่อนความได้เปรียบด้านการแข่งขันของฮ่องกงต่อคู่แข่งที่กำลังมาแรงในช่วงที่ผู้คนกำลังย้ายออก” หลี่กล่าว

สจ๊วต อัลด์ครอฟต์ ที่ปรึกษาการจัดการกองทุน ผู้อยู่ในฮ่องกงมานาน 37 ปีกล่าวว่า กำหนดเวลาเปิดพรมแดนสู่โลกภายนอกและทำการตลาดใหม่เพื่อปลุกภาพลักษณ์ฮ่องกงนั้นสำคัญมาก

ส่วนแซลลี หว่อง ซีอีโอสมาคมกองทุนการจัดการฮ่องกง กล่าวว่า ผู้ว่าฯ คนใหม่ต้องหยุดการไหลออกของคนเก่ง “ยิ่งเราเปิดช้า เท่ากับเราเมินคนเก่ง ผลก็คือ เราทำลายความสามารถในการแข่งขันของเราเอง” หว่องกล่าว

 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์