เส้นทางรถไฟ “ลาว-จีน” เสริมมั่งคั่ง ศก.อีสาน

เส้นทางรถไฟ “ลาว-จีน” เสริมมั่งคั่ง ศก.อีสาน

ในวันนี้ภาคเอกชนไทยและลาวมีความกระตือรือร้นต้องการทำการค้าร่วมกัน หลังจากที่ทั้งสองผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับมาเปิดประเทศเต็มรูปแบบ และเปิดด่านการค้าชายแดนอีกครั้งที่จะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาค

เชิดชาย ใช้ไววิทย์” อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า  แนวทางการเชื่อมโยงการค้าระดับประเทศและอนุภูมิภาค เชื่อว่าภาคเอกชนทั้งไทยและลาวมีวิสัยทัศน์ที่คล้ายคลึงกัน ในเรื่องความมุ่งมั่นใช้ศักยภาพโครงสร้างพื้นฐาน และเขตพิเศษของสองประเทศเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน สามารถแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.การค้าเหนือเส้นชายแดนไทยขึ้นไป เส้นทางรถไฟลาว-จีนจะเป็นโอกาสให้กับเอกชนไทยได้ส่งสินค้าไปยังจีน และไกลไปถึงยุโรป  2.การค้าใต้เส้นชายแดนไทยลงมา ประเทศไทยจะเป็นปากประตูไปท่าเรือให้กับลาวและทางตอนใต้ของจีน เพื่อออกสู่ทะเล 

หากแต่ตอนนี้การเชื่อมโยงระบบรถไฟระหว่างลาวและไทยยังไม่เจอกัน เชิดชายมองว่า มีปัจจัย 3 ด้านให้ต้องคำนึงถึง ได้แก่ 1. เราจำเป็นต้องเร่งพัฒนาโครงการขนส่งทางรางให้บรรจบกับรถไฟลาวที่มีอยู่กับจีน เพื่อสร้างการเชื่อมต่อที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งในอนาคตหากเส้นทางรถไฟลาว-จีน ได้เชื่อมกับระบบรางของไทย จะช่วยเปิดประตูการค้าในหลายเรื่อง ไม่ว่าราคาอสังหาริมทรัพย์จะสูงขึ้น โอกาสการลงทุนใหม่ๆ และในระยะถัดไป เมื่อจีนยกเลิกนโยบายซีโร่โควิดจะสร้างความหวังเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยว

 

เส้นทางรถไฟ “ลาว-จีน” เสริมมั่งคั่ง ศก.อีสาน

 

2.การลงทุนที่จะเกิดขึ้น แทบแยกไม่ออกกับกิจกรรมการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้ว ที่สำคัญเมื่อมีคอนเน็คทิวิตี ทำให้วิธีคิดของนักลงทุนไทยในลาวข้ามไปยังอีกจุดหนึ่งแล้ว เดิมมองแต่การลงทุนด้านพลังงานหรือการสร้างเขื่อน มาสู่ความพยายามสร้างอุตสาหกรรมให้อยู่รายรอบเส้นทางรถไฟลาว-จีนพาดผ่าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่และประชาชนได้ประโยชน์จริงๆ จึงจะเห็นว่า ตอนนี้มีการพูดถึงท่าเรือบก (Dry Port) และศูนย์โลจิสติกส์กระจายสินค้าเพิ่มมากขึ้น 

และ 3.เราไม่อาจมองข้ามในแง่ปัจจัยสำคัญที่มีต่อการลงทุน เป็นเรื่องค่าเงินผันผวนและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งหน่วยงานที่สนับสนุนการกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนก็คงคำนึงเรื่องนี้และใช้ประกอบการตัดสินใจด้วย 

" Pain point ของการทำการค้า ซึ่งจะขับเคลื่อนธุรกิจได้ต้องมีเงินทุน แต่ขณะนี้ค่าเงินยังไม่เสถียรและเงินดอลลาร์ยังสำคัญมากๆ ต่อการค้าระหว่างประเทศ" เชิดชายระบุและเสริมว่า กรณีสกุลเงินท้องถิ่นมีความผันผวนมาก อาจเป็นโจทย์สำคัญต่อการพิจารณาลงทุนก็ได้ 

สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 การค้าระหว่างไทย-ลาว ไม่ได้จมลง แต่กลับสูงขึ้น นี่เป็นสัญญาณดีที่ช่วยกระตุ้นให้เอกชนสองประเทศหันมาสนใจทำธุรกิจร่วมกัน เพราะพื้นฐานการค้ามีความแข็งแกร่งและเอื้อเฟื้อระหว่างกัน ถ้าพิจารณาตัวเลขการค้าพบว่ากลับมาอยู่ในระดับที่สูงกว่าก่อนวิกฤติโควิด-19  

 

เส้นทางรถไฟ “ลาว-จีน” เสริมมั่งคั่ง ศก.อีสาน

ในปี2564 นักธุรกิจไทยลงทุนในลาวเพิ่มขึ้น 437 ล้านดอลลาร์ กระเด้งขึ้นจากปี 2563 เกือบสามเท่า ซึ่งทำให้ยอดรวมการลงทุนปัจจุบันดีดตัวขึ้นไปถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ ถือได้ว่าเป็นอันดับท็อปเทนของการลงทุนในลาว เมื่อเปรียบเทียบระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ไทยไปลงทุนในลาวปรับเพิ่มเกือบ 6 เท่า ขณะที่ภาพรวมการลงทุนไทยในต่างประเทศประมาณ 4 เท่า สะท้อนภาพความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ลาว อย่างมีนัยสำคัญ

"ไทยมีส่วนต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลาว ขณะเดียวกันเศรษฐกิจลาวจะเป็นกระดูกสันหลังที่สำคัญมากๆ ต่อการเจริญเติบโตทางภาคอีสานของประเทศไทย" เชิดชายระบุว่า ขณะนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของภาคอีสานเติบโตไม่ถึง 10% ของจีดีพีทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นการสร้างงานสร้างรายได้ และการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยอย่างยั่งยืน จะเป็นประเด็นสำคัญมากๆ ซึ่งเป็นต้องมองภาพคู่ขนานกันไป และไม่ควรมองว่าไทยเข้าไปลงทุนสร้างความเจริญให้กับลาวอย่างเดียว แต่เศรษฐกิจลาวที่เติบโตยิ่งๆขึ้น จะเป็นบูมเมอแรงสร้างการพัฒนาให้กับภาคอีสานได้เดินหน้าอย่างมีทิศทางมากขึ้น

 

เส้นทางรถไฟ “ลาว-จีน” เสริมมั่งคั่ง ศก.อีสาน

"จันทอน สิดทิไซ" รองประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว และประธานบริษัทเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค มองยุทธศาสตร์เส้นทางรถไฟลาว-จีนว่า จะช่วยเชื่อมโยงจีนเข้ากับอนุภูมิภาคและอาเซียน โดยยกให้ไทยเป็น Hub หรือศูนย์กลาง และลาวเป็น Link กระชับเชื่อมเข้าด้วยกัน เมื่อความเป็นศูนย์กลางและการเชื่อมโยงมาบรรจบกันก็จะสร้างพลังทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล 

ปัจจุบัน รัฐบาลลาวทำความตกลงกับคุนหมิงของจีน ไปจนถึงรัฐบาลคาซัคสถาน ในเรื่องการส่งสินค้าระหว่างประเทศไม่ว่าจะตั้งต้นที่สถานีท่านาแล้งไปไกลจนถึงยุโรปก็จะผ่านพิธีการศุลกากรที่ให้บริการจบในที่แห่งเดียว (one stop service) นอกจากนี้ ยังสามารถยื่นตรวจสอบมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ในลาวได้หลายแห่งเพราะระบบเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน

เมื่อขนส่งสินค้าผ่านเข้าไปยังลาว ก็ไม่ต้องไปเคลียร์ในแต่ละจุดเหมือนเคย เพราะรัฐบาลลาวได้ปฏิรูปกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมากขึ้น นี่จะเป็นอีกช่องทางให้ไทยได้ส่งผลไม้ไปยังจีน โดยที่ไม่ต้องติดค้างอยู่ที่ด่านเป็นเวลานานก็เป็นได้