“ไทย-ลาว” หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ตั้งเป้าการค้ากว่า 2 แสนล้านบาท

“ไทย-ลาว” หุ้นส่วนยุทธศาสตร์  ตั้งเป้าการค้ากว่า 2 แสนล้านบาท

ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งไทยและลาวต่างอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัส และประกาศปิดด่านชายแดนชั่วคราว แต่มูลค่าการค้าระหว่างไทย-ลาว กลับเพิ่มสูงขึ้นกว่า 20% สะท้อนให้เห็นการพึ่งพาทางเศรษฐกิจที่ไม่อาจขาดกันได้

ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีลาวเยือนประเทศไทย เมื่อวันที่ 1-2 มิ.ย.ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐและภาคเอกชนไทยกับลาวได้จัดงาน “Thai-Lao Business Talk” และ “Business Networking” หวังเชื่อมความร่วมมือทางธุรกิจตามนโยบายสองประเทศ

พันคำ วิพาวัน” นายกรัฐมนตรีลาว กล่าวว่า การเยือนไทยครั้งนี้เป็นครั้งแรก มีเป้าหมายยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ลาว - ไทย ซึ่งไม่เพียงมุ่งขยายความร่วมมือภาครัฐของสองประเทศ แต่เปิดโอกาสให้กับนักธุรกิจได้ขยายการค้าร่วมกันและครอบคลุมให้มากขึ้นกว่าเดิม 

นายกรัฐมนตรีพันคำ กล่าวว่า "ความสัมพันธ์ทางการทูตลาว-ไทย ดำเนินมานานกว่า 70 ปี มีความผูกพันทางวัฒนธรรม ประเพณี และภาษาที่คล้ายคลึงกัน ถือว่าขาดกันไม่ได้เพราะแผ่นดินติดกัน นับแต่อดีตเราพึ่งพาอาศัยในฐานะ บ้านแก้วเมืองดอง มุ่งเชื่อมสัมพันธ์ตามสุภาษิตลาว “ไปนู่นกินปลา มานี่กินข้าว” จวบจนปัจจุบันรัฐบาลลาวให้ความสำคัญกับไทยอย่างมาก ไม่เพียงประเทศเพื่อนบ้านที่ดีเท่านั้น แต่ไทยยังสำคัญที่สุดต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของลาว "

"ไทยเป็นคู่ค้าอับดับหนึ่งของลาว และเป็นต่างชาติที่เข้าไปลงทุนเป็นอันดับสองในลาว รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือที่เชื่อมโยงอนุภูมิภาคและอาเซียน" นายกฯลาว กล่าว 

 

“ไทย-ลาว” หุ้นส่วนยุทธศาสตร์  ตั้งเป้าการค้ากว่า 2 แสนล้านบาท

พร้อมเสริมว่า ขณะนี้ สถานการณ์ภูมิภาคส่งผลให้เศรษฐกิจผกผันและสร้างผลกระทบมากมายในภูมิภาค รวมถึงไทยและลาว ดังนั้นความร่วมมือทวิภาคีที่แน่นแฟ้นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง นำไปสู่การสร้างผลประโยชน์และการพัฒนาร่วมกันของสองประเทศ ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นได้ ถ้าภาคเอกชนไม่เข้ามามีส่วนร่วม 

นายกฯพันคำ เสนอแนะให้มีความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนลาวและไทยใน 3 เรื่อง คือ 

1.ถึงแม้ว่าลาวได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 รวมถึงสถานการณ์ภูมิภาคที่ไม่ปกติ มีส่วนทำให้เศรษฐกิจลาวขยายตัวช้า แต่ลาวยังมีช่องทางนำเสนอเพื่อสร้างผลประโยชน์ร่วมกันได้ และการปฏิรูปกฎหมายคุ้มครองการลงทุนให้รัดกุม ก็เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยความสะดวกกับนักลงทุนต่างชาติ 

 

“ไทย-ลาว” หุ้นส่วนยุทธศาสตร์  ตั้งเป้าการค้ากว่า 2 แสนล้านบาท

“ขณะนี้ลาวได้ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ดีกว่าเดิมมากขึ้น เช่น การมีรถไฟลาว-จีน เพื่อเชื่อมต่อเศรษฐกิจ ระบบการขนส่ง บริการและการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งภาคเอกชนไทยจะส่งสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ไกลถึงยุโรปก็ย่อมทำได้” นายกฯพันคำ กล่าว 

2.รัฐบาลลาวชูนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวแบบยั่งยืน ซึ่งระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 9 (ค.ศ.2021 - 2025) จึงเสนอให้ภาคเอกชน 2 ประเทศได้แลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อวางแผนการลงทุนร่วมกัน แสดงถึงความเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ เช่น ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร กสิกรรมสะอาด และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรที่ยั่งยืน

 

“ไทย-ลาว” หุ้นส่วนยุทธศาสตร์  ตั้งเป้าการค้ากว่า 2 แสนล้านบาท

3.ในยุค 4.0 ที่เทคโนโลยีมีบทบาทการดำเนินธุรกิจ รัฐบาลลาวสนับสนุนการลงทุนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เชื่อมโครงข่ายโลจิสติกส์เพื่อสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี โดยลาวหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การพบปะของภาคเอกชนในครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19

"ช่วงเวลานี้เหมาะมากที่จะยกระดับความร่วมมือทวิภาคี ถอดบทเรียนในอดีตเพื่อสร้างปัจจุบันให้ดีที่สุด และเสริมสร้างอนาคตร่วมกัน เพื่อลูกหลานและความสมบูรณ์พูนสุขลาว-ไทย" นายกฯพันคำกล่าว พร้อมย้ำว่า ลาวเป็นประเทศที่ใกล้ชิด แม้ระดับการพัฒนาจะแตกต่าง เพราะการคิดต่างเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้  แต่ขออย่าเกลียดชัง หรือบิดเบือนที่จะสร้างความแบ่งแยก ทำลายความสามัคคี 2 ประเทศ

ดอน ปรมัตถ์วินัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า งานบิสสิเนสทอล์กสะท้อนถึง “มิตรภาพ หุ้นส่วน และความไว้เนื้อเชื่อใจ” ระหว่างไทยกับลาว ที่มีความมั่นคงและแนบแน่นในทุกระดับ โดยเฉพาะระหว่าง ภาคธุรกิจเอกชน และสะท้อนให้เห็นถึงการพึ่งพาเกื้อหนุนกันระหว่างทั้งสองประเทศใน ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว และสนับสนุน ช่วยเหลือและส่งเสริมกันทั้งในยามเฟื่องฟูและยามวิกฤต

ดังเช่นที่ปรากฏในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ว่าทั้งสองฝ่ายได้พยายามอย่างเต็มที่ในการลดผลกระทบจากมาตรการ ด้านสาธารณสุขต่อระบบห่วงโซ่อุปทานให้น้อยที่สุด 

 

“ไทย-ลาว” หุ้นส่วนยุทธศาสตร์  ตั้งเป้าการค้ากว่า 2 แสนล้านบาท

   จนปัจจุบัน แม้ว่าวิกฤติโควิดจะยังไม่ผ่านไป แต่มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับลาวในปี 2564 กลับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์มีมูลค่าสูงถึง 7,260 ล้านดอลลาร์

   ดอน มองว่า การเยือนของนายกฯพันคำเป็นสิ่งยืนยันความมุ่งมั่นในการมุ่งสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสองประเทศอย่างเข้มแข็ง ในยุคหลังโควิด-19 และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของลาวที่จะเป็นประเทศศูนย์กลางการเชื่อมโยงทางบกของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

   ขณะที่รายงานของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า การค้าไทยและลาวมีปริมาณ 197,429  ล้านบาท ซึ่งเป็นการค้าชายแดน 96.15% ขณะที่ช่วง5เดือนของปี2564 (ม.ค.-พ.ค.) ปริมาณการค้าเพิ่มขึ้น 23.6% สะท้อนการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19

 

“ไทย-ลาว” หุ้นส่วนยุทธศาสตร์  ตั้งเป้าการค้ากว่า 2 แสนล้านบาท

   รองนายกฯดอน กล่าวว่า ภายหลังกิจกรรมนี้จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจจำนวน 2 ฉบับ ระหว่างสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ หรือ TIFFA ของไทย กับสมาคม Lao International Truckers and Freight Forwarders Association และเซ็นต์ MOU ระหว่าง Vientiane Logistics Park กับสองบริษัทไทยคือ บริษัท ทิฟฟ่ า โลจิสติกส์เซ็นเตอร์ และบริษัทสตาร์ สิทธิ โซลูชั่น

รองนายกฯดอนหวังว่า การลงนามวันนี้จะเป็นแรงกระตุ้นให้มีการเร่งพัฒนาความเชื่อมโยง ระหว่างกันในทุกมิติ เพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทานให้เข้มแข็งและยืดหยุ่นและระบบนิเวศในการประกอบธุรกิจที่ “เติมเต็ม ต่อเนื่อง และเชื่อมโยง”ได้อย่างแท้จริง