สัมผัส‘เสื้อปักยูเครน’ ตัวตนแห่งความแกร่ง

สัมผัส‘เสื้อปักยูเครน’  ตัวตนแห่งความแกร่ง

การรุกรานยูเครนของรัสเซียยังไม่จบสิ้น การสู้รบแนวหน้ายังดำเนินไปแต่สำหรับชาวยูเครนต่างถิ่นอย่างในกรุงเทพฯ การแสดงออกโดยใช้ศิลปวัฒนธรรมถือเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่พลเรือนทำได้

หลังจากหลายวันก่อน Tetiana Cherevan ศิลปินหญิงชาวยูเครนนำหนึ่งในผลงานศิลปะชุด“Berehyni”มาอวดโฉมบนกำแพงตึกกิจกรรมนิสิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาแล้ว สัปดาห์ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทยจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง Vyshyvanka Day ที่สวนลุมพินี ภายใต้บรรยากาศอบอุ่น

โอเล็กซานเดอร์ ไลซัค อุปทูตยูเครนประจำประเทศไทย เล่าถึงความสำคัญของกิจกรรมนี้ว่า ทุกวันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค.ชาวยูเครนถือเป็น Vyshyvanka (วิชิวันคา) Day วันเฉลิมฉลองศิลปะการปักผ้าของยูเครน เสื้อปักพื้นบ้านที่เรียกว่า วิชิวันคา มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายร้อยปี ชาวยูเครนสวมใส่เสื้อผ้าชนิดนี้ในวาระพิเศษมากๆ อีกนัยหนึ่งวิชิวันคาจึงเปรียบเสมือนอัตลักษณ์ของชาวยูเครน รวมถึงเสรีภาพของประชาชน สะท้อนถึงความสามารถของชาวยูเครนในการนิยามตนเอง เป็นความภาคภูมิใจของประเทศ 

“เด็กๆ อายุตั้งแต่ห้าขวบก็ปักผ้ากันแล้ว เป็นขนบธรรมเนียมลึกๆ ของประชาชน ใช้เสื้อปักแสดงถึงความเป็นพลเมืองยูเครน” อุปทูตกล่าวพร้อมเสริมว่า ผ้าที่นำมาปักก็ต้องเตรียมเป็นพิเศษในหน้าร้อน นำมาตากบนริมฝั่งแม่น้ำใช้แสงแดดช่วยให้ผ้าขาวขึ้นเพราะสมัยก่อนยังไม่มีสารเคมีฟอกขาว จากนั้นนำผ้ามาปักเพื่อสวมใส่จนกลายเป็นชุดประจำชาติ นิตยสารแฟชั่นโวค ประกาศให้เสื้อปักยูเครนเป็นเทรนด์แฟชั่นประจำปี 2016 ธนบัตรยูเครนมูลค่า 20  ฮรีฟเนีย มีรูปนักเขียนสวมชุดผ้าปักประจำชาติ ชี้ให้เห็นว่าเสื้อผ้าปักแบบนี้หยั่งรากลึกลงในวัฒนธรรมยูเครน

วันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค. ปีนี้ตรงกับวันที่ 19 ที่ยูเครนมีการเฉลิมฉลองเหมือนเช่นเดิม ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ใช้โอกาสนี้ปลุกขวัญประชาชน “นี่คือเครื่องรางอันศักดิ์สิทธิ์ของเราในสงครามครั้งนี้ สุขสันต์วันวิชิวันคา แด่ยูเครน” 

และหากใครจำเจ้าเพทรอน สุนัขดมกลิ่นระเบิดพันธุ์แจ็ค รัสเซล เทอร์เรียร์ ที่กลายเป็นสัญลักษณ์การต้านทานของชาวยูเครนได้ ปีนี้มีภาพเพทรอนสวมเสื้อปักยูเครนด้วย 

 สำหรับอุปทูตไลซัค ในฐานะยูเครนเป็นประเทศรุ่มรวยวัฒนธรรม  เสื้อปักเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น  เขาเชื่อว่าวัฒนธรรมอันหลากหลายของยูเครนจะใช้ต่อสู้กับประเทศมหาอำนาจได้ 

“วัฒนธรรมคืออำนาจครับ นี่คือเจตนารมณ์ที่ชาวยูเครนต้องการแสดงให้โลกเห็นว่า พวกเราไม่ต้องการสู้รบ ตอนนี้เราจำเป็นต้องปกป้องดินแดน" 

 อุปทูตไลซัคยังเล่าถึงการสนับสนุนของคนไทยที่มีให้ยูเครนทั้งในรูปของการบริจาคเงิน ให้กำลังใจผ่านสื่อ มาให้กำลังใจที่สถานทูต ส่งข้อความมาหา 

"คนไทยให้กำลังใจมากๆ เลยครับ  โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ผมเชื่อมั่นในพวกเขาเพราะคนรุ่นใหม่คืออนาคต ขอบคุณมากครับ พวกเราซาบซึ้งมาก" 

เมื่อถามว่าอยากให้คนไทยทำอะไรเพิ่มเติมให้กับยูเครน อุปทูตขอให้สนับสนุนกันต่อไป ติดตามสถานการณ์ในยูเครนแล้วพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ รวมทั้งคุยกับรัฐบาลไทยจัดหาการสนับสนุนเพิ่มเติมให้ยูเครน 

แน่นอนว่าความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน แต่ละคนต่างมีมุมมองแตกต่างกันออกไป สำหรับคนไทยที่ให้กำลังใจยูเครนคงต้องจับตามองว่า ชุมชนชาวยูเครนในประเทศไทยจะจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมใดออกมาอีก การเข้ามีส่วนร่วมนอกเหนือจากเป็นการให้กำลังใจประเทศที่ถูกรุกรานแล้ว อีกนัยหนึ่งยังเป็นการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรม ช่วยให้พลเมืองโลกเข้าใจกันมากขึ้น ป้องกันความรุนแรงไม่ให้เกิดขึ้นอีก